วันอังคาร ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / การเมือง
สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2568

สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2568

วันอังคาร ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 17.03 น.
Tag : การเมืองวันนี้ คณะรัฐมนตรี ครม แนวหน้าออนไลน์ มติคณะรัฐมนตรี
  •  

วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

เศรษฐกิจ-สังคม


1. เรื่อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 - 2570 และระยะ 5 ปีต่อไป

              คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

                1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 - 2570 และระยะ 5 ปีต่อไป (แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2)

                2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2

                3. ให้ ทส. ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่องแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ธันวาคม 2562 เรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เรื่องแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน ... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และวันที่ 27 เมษายน 2564 เรื่องคู่มือแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน ... ต่อคณะรัฐมนตรี

              สาระสำคัญของเรื่อง

              ทส. รายงานว่า

                1. ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - 2567 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการตามแผน จึงได้ดำเนินการถอดบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง โดยการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองฉบับที่ 2 รวมทั้งได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ (ทส.) เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง
ฉบับที่ 2

                2. ในคราวประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละออง ฉบับที่ 2 และมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

                3. แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2 ให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมมลพิษ
ทางอากาศจากแหล่งกำเนิด โดยใช้เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และการจัดการมลพิษข้ามแดน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

หัวข้อ

รายละเอียด

(1) วิสัยทัศน์

คุณภาพอากาศดี ด้วยการร่วมมือของทุกภาคส่วน

(2) เป้าหมาย

1) ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

2) พื้นที่เผาไหม้ (Burnt scar) ลดลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี

(3) กรอบแนวคิด

การบริหารจัดการคุณภาพอากาศมีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องสุขภาพของประชาชน
และรักษาคุณภาพอากาศของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และหมอกควันข้ามแดนโดยการบูรณาการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

                3.1 สถานการณ์และสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

                        3.1.1 พื้นที่ทั่วประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยรายปีฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2561 - 2567 อยู่ในช่วง
20 - 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 133.3 - 585.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป ซึ่งบัญญัติไว้ว่า มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

                        3.1.2 สาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองมาจากแหล่งกำเนิด ดังนี้

                                1) ในพื้นที่เมืองมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในยานพาหนะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น การสะสมของฝุ่นละอองในบริเวณตึกสูงเนื่องจากมีการระบายอากาศที่ต่ำ

                                2) ในพื้นที่ป่าเกิดจากการเผาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนที่มักจะเกิดเหตุการณ์ไฟป่าเนื่องจากประชาชนเผาป่าเพื่อการหาของป่า ล่าสัตว์ และขยายพื้นที่ทำกิน ฯลฯ

                                3) ในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก เช่น บริเวณภาคกลางที่สามารถเพาะปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปีทำให้เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่โดยเร็ว การเผาจึงเป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยและไม่ต้องลงทุน

                                4) หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากลมฤดูแล้งพัดพาหมอกควันและฝุ่นละอองข้ามแดน

                3.2 มาตรการและแนวทางการดำเนินงานแยกตามแหล่งกำเนิดหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองด้วยการพัฒนาเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบมาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้

                        3.2.1 มาตรการในพื้นที่เมือง ประกอบด้วย 3 ภาคส่วน เช่น

ตัวอย่างมาตรการ [ทั้งหมดดำเนินมาตรการในระยะแรก (พ.ศ. 2568 - 2570)

และระยะ 5 ปีต่อไป]

ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ

ภาคคมนาคม

(1) เร่งรัดการจัดหารถโดยสารมลพิษต่ำหรือรถโดยสารไฟฟ้ามาทดแทนรถโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นไปตามเป้าหมายและครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเขตเมืองโดยเร็ว

กระทรวงคมนาคม (คค.) ทส.

กรุงเทพมหานคร (กทม.)

(2) กำหนดให้มีพื้นที่ควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone) เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรและลดการสะสมของมลพิษทางอากาศในพื้นที่
อาจพิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้มีความแตกต่างตามขนาดและประเภทของยานพาหนะตามความเหมาะสม โดยมีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนหลักและขนส่งมวลชนรอง (Feeder System) ที่เพียงพอ

กทม. จังหวัด

องค์การปกครอง

ส่วนท้องถิ่น (อปท.)

คค.

 

(3) บังคับใช้มาตรการและกฎหมายควบคุมควันดำอย่างเข้มงวด ดังนี้

        1) รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่ง
ทางบกจะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
หากตรวจสภาพรถไม่ผ่านมีค่าควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะไม่สามารถต่อภาษีประจำปี ไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี
และไม่สามารถนำรถมาใช้งานบนถนนได้

        2) รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ที่ปล่อยควันดำเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และถูกคำสั่งนายทะเบียน “ห้ามใช้” ณ ด่านตรวจ
วัดควันดำริมถนนจะไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียนได้ จนกว่าเจ้าของรถ หรือผู้ประกอบการจะดำเนินการเสียค่าปรับและแก้ไขปรับปรุงรถ
ให้ผ่านการตรวจสภาพ ปล่อยค่าควันดำไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อลบเครื่องหมาย “ห้ามใช้”

        3) หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย หากตรวจพบยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน เจ้าของรถจะต้องแก้ไขปรับปรุงยานพาหนะมิให้ก่อให้เกิดมลพิษเกินมาตรฐาน และหากล่วงพ้นระยะเวลาที่กำหนด ให้สั่งระงับการใช้รถจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

        4) ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานและไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จะระงับการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี
จนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ปล่อยควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

คค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ตร.) ทส. กทม.

 

ภาคอุตสาหกรรม

(1) นำข้อมูลจากระบบการรายงานการระบายมลพิษอากาศผ่านระบบ Online ของโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้เพื่อการบริหารจัดการปัญหามลพิษอากาศ และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)

(2) กำหนดการบริหารจัดการการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายมลพิษทางอากาศสูง (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานผลิตน้ำตาลทราย เป็นต้น) ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต อาทิ การเหลื่อมเวลาการผลิตการลดกำลังการผลิต หรือลดจำนวนชั่วโมงการเดินระบบ หรือหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อลดปัญหาในช่วงวิกฤติฝุ่น

อก.

ภาคเมือง

(1) ส่งเสริมสนับสนุนให้นำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดมาใช้กับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง

กระทรวงพลังงาน (พน.)

(2) ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างประเภทต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างอาคาร การก่อสร้างถนนและทางพิเศษ และการก่อสร้างรถไฟฟ้า

กทม. จังหวัด อปท. คค.

                        3.2.2 มาตรการในพื้นที่ป่า มุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาการเผาในพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก
ทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังป้องกันการเกิดไฟ การจัดทำแนวกันไฟ
การบริหารจัดการเชื้อเพลิง กำหนดกฎ ระเบียบ กติกา การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า และสร้างความร่วมมือในการป้องกันรักษาป่า เช่น

ตัวอย่างมาตรการ [ทั้งหมดดำเนินมาตรการในระยะแรก
(พ.ศ. 2568 - 2570)

และระยะ 5 ปีต่อไป]

ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ

(1) จัดทำข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการปัญหาการเผาทั้งพื้นที่เสี่ยง ต่อการเกิดไฟ พื้นที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการเชื้อเพลิง พื้นที่ที่จะจัดสรรสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลชุมชนที่อยู่ในเขต พื้นที่ป่า พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่เลี้ยงสัตว์พื้นที่เก็บหาของป่า สถิติข้อมูลพื้นที่ไฟไหม้ พื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สาเหตุการเกิดไฟไหม้จำนวนจุดความร้อน ความพร้อมของจำนวนเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์

ทส. จังหวัด อปท.

 

(2) จัดทำแผนจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชนเพื่ออากาศสะอาด ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน และภาคเอกชนในการรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศป่า

ทส. กษ. จังหวัด อปท.

 

(3) ประกาศปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ทุกกรณี
(ยกเว้นเจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผู้ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ และผู้ได้รับผ่อนผันให้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่า) ในช่วงเวลา ที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเผาในพื้นที่ป่า

ทส. จังหวัด

 

(4) บริหารจัดการพื้นที่ป่าไฟไหม้ซ้ำซาก โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังไฟป่า
ที่มีเทคโนโลยีเหมาะสมและทันสมัย และครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบไฟป่าและตรวจจับผู้ก่อให้เกิดไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบตอบโต้สถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพ มีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ งบประมาณ รวมถึงกำลังพลสำหรับกับไฟในป่าอย่างเพียงพอ

กระทรวงกลาโหม

กระทรวงมหาดไทย ทส.

กองทัพบก กองทัพภาคที่ 3

อปท.

(5) ประกาศเชิญชวนและพิจารณาโครงการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในการป้องกันปัญหาไฟป่าตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ทส. สำนักงานคณะกรรมการ

ส่งเสริมการลงทุน (สกท.)

 

(6) กรณีฝ่าฝืนโดยบุกรุก/เผาป่า ให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย
ตามบทลงโทษสูงสุดและเปิดเผยข้อมูลการกระทำความผิดและโทษที่ได้รับ
แก่สาธารณชน โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความตระหนักและป้องปรามการกระทำผิด

ทส. ตร.

 

                        3.2.3 มาตรการในพื้นที่เกษตรกรรม มุ่งเน้นการบริหารจัดการปัญหาการเผาและแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมโดยต้องมีฐานข้อมูลในระดับพื้นที่ การป้องกันและแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การกำหนด พื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสม การปรับโครงสร้างการผลิต การจัดการแปลงและการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการเผา การจัดการวัสดุทางการเกษตร การพัฒนามาตรฐาน และการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา เช่น

ตัวอย่างมาตรการ [ทั้งหมดดำเนินมาตรการในระยะแรก (พ.ศ. 2568 - 2570)

และระยะ 5 ปีต่อไป]

ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ

(1) จัดทำแผนและดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตพืชที่เสี่ยงต่อการเผาโดยครอบคลุมอย่างน้อยสำหรับการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย เพื่อให้มีการเพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีระบบจัดการแปลงการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการเผา โดยมีแนวทางดำเนินการดังต่อไปนี้

        1) กำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชที่เสี่ยงต่อการเผา (Zoning) โดยใช้มาตรการเขตเกษตรเศรษฐกิจตามกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจการเกษตร

        2) จัดทำระบบและดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา

        3) จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตทางการเกษตร (Traceability) สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร

        4) ตลาดให้เช่า เช่าซื้อ หรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อ
การจัดการแปลงการเก็บเกี่ยวการจัดการเศษวัสดุการเกษตร

        5) จัดทำระบบการจัดการวัสดุการเกษตรที่ปลอดการเผา และ
การนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกร

        6) ส่งเสริมระบบตลาดสินค้าเกษตรที่ปลอดจากการเผา

          7) กำหนดแนวทาง รูปแบบการสนับสนุนของภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาระบบการเกษตรที่ปลอดการเผา

กษ. จังหวัด

 

(2) ขึ้นทะเบียนรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟ อาทิ พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่สูงในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ที่ต้องการกำจัดศัตรูพืช การจัดการวัสดุทางการเกษตรก่อนการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าว พื้นที่ปลูกข้าวโพด และพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อนำไปวางแผนการบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด

กษ. จังหวัด

 

(3) สร้างธุรกิจการจัดการเศษวัสดุการเกษตร โดยจัดให้มีระบบรวบรวมขนส่งและจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพและมีการรับซื้อด้วยราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมธุรกิจตลาดให้เช่า เช่าซื้อ หรือภาครัฐจัดบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร และสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จากการลงทุนเพื่อกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในโรงไฟฟ้าชีวมวล

กษ. ทส. สกท.

 

(4) จัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การเผาในพื้นที่เกษตรและนำมาใช้ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา

วิทยาศาสตร์ วิจัย

และนวัตกรรม (อว.) กษ.

(5) สนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรแบบไม่เผาหรือที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) เช่น สนับสนุนเครื่องจักรองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่เพาะปลูกช่องทางการตลาด

กษ. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)

 

                        3.2.4 มาตรการภาคมลพิษข้ามแดน มุ่งเน้นการใช้มาตรการการประสานความร่วมมือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจรจาระหว่างประเทศการพิจารณาควบคุมการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์และสินค้า และกำหนดความรับผิดของผู้ก่อซึ่งก่อให้เกิดหรือร่วมก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามแดน เช่น

ตัวอย่างมาตรการ [ทั้งหมดดำเนินมาตรการในระยะแรก (พ.ศ. 2568 - 2570)

และระยะ 5 ปีต่อไป]

ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ

(1) จัดทำข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกราชอาณาจักรที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนภายในราชอาณาจักร และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศภายในราชอาณาจักร และนำไปสู่การบริหาร จัดการปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดน

ทส. กษ. อก. อว. กห.

กองทัพบก กองทัพภาคที่ 3

 

(2) เสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบทวิภาคีอนุภูมิภาคอาเซียน และพหุภาคี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)

ทส. กห. กองทัพบก

กองทัพภาคที่ 3

(3) จัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์
แจ้งเตือนผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควันข้ามแดนและการกำหนดมาตรการ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง

ทส. กต. กห.

 

(4) จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการปฏิบัติการควบคุมและติดตามไฟป่าเพื่อพัฒนาทักษะ ด้านการใช้เทคโนโลยี

ทส. กต. กห. กองทัพบก

กองทัพภาคที่ 3

(5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน
อย่างรอบด้าน ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อสร้างหลักประกันว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรมทางการเกษตร และสินค้าอื่นใดในห่วงโซ่อุปทานของตนเองปราศจากการก่อให้เกิดหรือร่วมก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามแดน

กษ. ทส. อก. พณ.

 

                        3.2.5 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้การดำเนินการป้องกัน ลด ควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีสาเหตุจากแหล่งกำเนิดภาคต่าง ๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มีการสื่อสารและระบบแจ้งเตือน คุณภาพอากาศที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายทันต่อสถานการณ์ เพื่อการเฝ้าระวังภาวะมลพิษทางอากาศและผลกระทบจากมลพิษทางการอากาศต่อสุขภาพในช่วงวิกฤตรวมถึงการจัดให้มีระบบการปกป้องสุขภาพของประชาชน [ดำเนินมาตรการทั้งในระยะแรก (พ.ศ. 2568 - 2570) และระยะ 5 ปีต่อไป] เช่น

ตัวอย่างมาตรการ [ทั้งหมดดำเนินมาตรการในระยะแรก (พ.ศ. 2568 - 2570)

และระยะ 5 ปีต่อไป]

ตัวอย่างหน่วยงานรับผิดชอบ

(1) พัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบริหารจัดการคุณภาพอากาศที่มีการเฝ้าระวัง ติดตามและรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศแหล่งกำเนิด ข้อมูลอัตราป่วยกลุ่มโรค ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการ
การดำเนินงาน

ทส. อว. กระทรวงดิจิทัล

เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

(2) บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนภาคสื่อมวลชนในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ด้วยการสื่อสาร ที่ทันต่อสถานการณ์แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการให้ข้อมูลจากผู้มีอำนาจให้ข่าวและให้บริการข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหรือหน่วยงาน โดยมีกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชนอย่างครอบคลุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความตื่นตระหนกที่เกิดจากการรับรู้และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

 

ทส. มท. จังหวัด สธ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

กรมป้องกันและบรรเทา

สาธารณภัย

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคง

ภายในราชอาณาจักร

(3) เพิ่มบทบาทของเครือข่ายอาสาสมัครและจิตอาสาภาคประชาชน รวมถึงภาคเอกชน ในการช่วยประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนเหตุไฟไหม้
ในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร ตลอดจนร่วมมือกับท้องถิ่นในการดับไฟป่าและ
ไฟในพื้นที่เกษตรโดยมุ่งสร้างเครือข่ายจิตอาสาที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุน
การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน

ทส. มท. กษ.

 

(4) จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงยารักษาโรค ทีม/หน่วยปฏิบัติการดูแลประชาชน ยกระดับการจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมคลินิกมลพิษ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนให้สาธารณชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง

สธ. มท. อว.

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

กทม.

 

(5) พัฒนางานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการฝุ่นละออง PM2.5 และป้องกันสุขภาพของประชาชน อาทิ

        1) การศึกษาตรวจวัดการปล่อยมลพิษอากาศแบบ Real-time

        2) การพัฒนาฐานข้อมูลการระบายมลพิษ (Emission Inventory) จากข้อมูลตรวจวัดจริง

        3) การทำฝนเทียมในพื้นที่ป่าที่เกิดไฟไหม้จากธรรมชาติ

        4) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในบริเวณชุมชนหรือพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก

        5) การพัฒนาฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานร่วมกันในแต่ละประเทศ

        6) การจัดทำดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่เชื่อมโยงมิติทางด้านสุขภาพ (Air Quality Health Index : AQHI) สำหรับทั่วประเทศหรือเฉพาะเมืองใหญ่

        7) ระบบการตรวจติดตามให้ครบวงจรสามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ (PDCA)

        8) การผลิตวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดทำห้องปลอดฝุ่น

        9) งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติหรือแนวทางการปฏิบัติในเรื่องของ Work From Home

        10) การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนหลักและขนส่งมวลชนรอง (Feeder System)

        11) การจัดทำเกณฑ์การประกาศเขตภัยพิบัติด้านฝุ่นละออง

อว. สำนักงานคณะกรรมการ

ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย

และนวัตกรรม สธ.

 

                3.3 กลไกและแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง คือ มติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมด้วยการประสานความร่วมมือ
กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำมาตรการและแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง
ฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้กลไก 3 ระดับ ได้แก่

                        1) กลไกระดับชาติ : คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการ มอบหมาย ควบคุม กำกับ และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                        2) กลไกระดับกลุ่มจังหวัด/แบบข้ามเขต : วิธีการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีลักษณะเฉพาะของสภาพปัญหาความเฉพาะของระบบนิเวศ หรือกลุ่มเฉพาะด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องข้ามพื้นที่หรือข้ามจังหวัด

                        3) กลไกระดับพื้นที่ : ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ อำนวยการสั่งการ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

2. เรื่อง วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามข้อ 1 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทน อันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564

              คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2
(ด้านการต่างประเทศ การคมนาคม การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม) เสนอ ดังนี้

                เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

                1. เห็นชอบวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น ตามข้อ 1 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564

                2. ให้หน่วยงานของรัฐนำวิธีการคำนวณดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการกำหนดเงินค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสังคมต่อไป และให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

                สาระสำคัญของเรื่อง

              1. นายกรัฐมนตรีอนุมัติให้นำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ด้านการต่างประเทศ การคมนาคม การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี
(นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นประธานกรรมการ ตามที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ

                2. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ด้านการต่างประเทศ
การคมนาคม การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นประธานกรรมการ พิจารณาเรื่องดังกล่าวในคราวประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2568 มีประเด็นอภิปรายและมติ ดังนี้

                        (1) ประเด็นอภิปราย

                        โดยที่ปัจจุบันบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนดตามรูปแบบการใช้งานของที่ดิน เช่น ภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ภาษีที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม ฯลฯ สำหรับประเด็นวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนค่าทดแทนที่ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้น ตามข้อ 1 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ที่กำหนดให้ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่เรียกเก็บสำหรับที่ดินแปลงนั้นจากการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น มิให้นำราคาที่สูงขึ้นของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน นั้น เป็นหลักการตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ประกอบกับผู้แทนกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ในกรณีที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน สนามบิน เป็นต้น) อันเป็นเหตุให้ที่ดินที่ถูกตัดผ่านหรือที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ที่ดินส่วนที่เหลือได้รับประโยชน์ จะไม่มีการหักราคาที่สูงขึ้นออกจากเงินค่าทดแทนแต่อย่างใด

                        (2) มติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี

                        เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

              3. คค. เสนอ ว่า

                        3.1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มาตรา 22 วรรคห้า1 บัญญัติให้การดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนได้กระทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่ในแปลงเดียวกันนั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดจะหักเกินร้อยละห้าสิบของเงินค่าทดแทนมิได้ ถ้าทำให้ที่ดินในแปลงเดียวกันที่เหลืออยู่นั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือ อันมีราคาลดลงนั้น ในกรณีที่ที่ดินแปลงใดที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้กระทำอย่างใด ให้ที่ดินเปลี่ยนสภาพไปในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ให้เจ้าของดำเนินการแก้ไขปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากเจ้าของไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้เจ้าหน้าที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกจากค่าที่ดิน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการแก้ไขหรือปรับปรุงที่ดินนั้นประกอบด้วย การดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพแห่งที่ดิน ที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564 ข้อ 1 วรรคสอง กำหนดให้วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

                        3.2 คค. ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เพื่อพิจารณากำหนดเนื้อหาและรายละเอียดของวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้นตามข้อ 1 วรรคสองของกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากผลของการเวนคืนหรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564 โดยมุ่งหมายให้มีสาระสำคัญครอบคลุมและสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ร่วมกันต่อไป ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับการกำหนดวิธีการคำนวณดังกล่าวแล้ว

                        3.3 นอกจากนี้ วิธีการคำนวณประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นหลักเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการเวนคืนและจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสังคมต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการเวนคืนแต่ละหน่วยงานอาจจะต้องมีการปรับปรุงแนวทางหรือคู่มือการปฏิบัติงานเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทน ที่ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้น

                        3.4 วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น มีสาระสำคัญ ดังนี้

                                3.4.1 กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น ต้องมีลักษณะสภาพทำเลที่ตั้งดีขึ้น หรือใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรืออื่น ๆ อันทำให้ที่ดินนั้นมีราคาสูงขึ้นจากราคาที่กำหนด หากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ เช่น

                                        (1) ที่ดินก่อนถูกเวนคืนไม่ติดถนน หรือคลองชลประทาน แต่หลังจากการเวนคืนทำให้ที่ดินแปลงนั้นติดถนน หรือคลองชลประทาน

                                        (2) ที่ดินก่อนถูกเวนคืนติดถนนขนาดเล็ก แต่หลังจากเวนคืนทำให้ที่ดินแปลงนั้น ติดถนนขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

                                        (3) กรณีอื่น

                                3.4.2 กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ต้องมีลักษณะสภาพทำเลที่ตั้งด้อยลงหรือใช้ประโยชน์ได้ลดลง หรืออื่นๆ อันทำให้ที่ดินนั้นมีราคาลดลงจากราคา ที่กำหนด หากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ เช่น

                                        (1) ที่ดินถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางรถไฟหรือทางพิเศษหรือทางหลวงพิเศษที่ห้ามเชื่อมทาง            

                                        (2) ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่บริเวณที่รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับหรืออยู่บริเวณคอสะพานหรือทางขึ้นลงสะพาน

                                        (3) ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแยกออกเป็น 2 ส่วน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวไม่ได้รับประโยชน์จากการเวนคืน

                                        (4) ภายหลังการเวนคืนรูปแปลงของที่ดินเปลี่ยนแปลงจากสี่เหลี่ยมเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมคางหมู หลายเหลี่ยม หรือเสียรูปทรง

                                        (5) ที่ดินส่วนที่เหลือมีรูปแปลงแคบหรือมีความลึกลดลงหรือเนื้อที่ลดลงจนใช้ประโยชน์ได้จำกัดลง

                                        (6) ที่ดินเปลี่ยนสภาพจากที่ดินติดถนนสายหลักเป็นติดถนนสายรอง หรือถนนซอย หรือเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก หรือการเข้าออกไม่สะดวกดังเดิม

                                        (7) ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่บริเวณระยะมองเห็น (Sight Distance)

                                        (8) กรณีอื่น เช่น ก่อสร้างสาธารณูปการ หรือมีข้อจำกัดโดยกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่น ๆ

                                3.4.3 กำหนดให้ “ราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน” หมายถึง ผลต่างของราคาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงหนึ่งแปลงใด ระหว่างราคาที่ดิน ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนกับราคาหลังจากการเวนคืน ทั้งนี้ ให้คำนวณราคาที่ดินในวันที่ได้มีการกำหนดราคาเบื้องต้นในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน หรือในวันที่ได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนในกรณีที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนโดยไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน

                                3.4.4 กำหนดวิธีการคำนวณราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวรคืน ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

                                        (1) ราคาที่ดินก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนให้ถือเอาราคาที่คณะกรรมการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์
พ.ศ. 2562 กำหนดไว้

                                        (2) ราคาที่ดินหลังจากการเวนคืน ให้คำนวณโดยใช้แนวทางวิธีการตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ของที่ดินที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงหรือบริเวณเดียวกับที่ดินที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีรูปแปลง ลักษณะ หรือขนาดคล้ายคลึงกัน และมีทำเลที่ตั้งใกล้เคียง กับที่ดินที่ถูกเวนคืนหากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ ในกรณีที่ไม่มีที่ดินในลักษณะดังกล่าว ให้ใช้ที่ดินอื่นที่มีลักษณะ รูปแปลง ขนาดคล้ายคลึงกัน และมีสภาพทำเลใกล้เคียงกัน นำมาเปรียบเทียบปรับลดหรือเพิ่มราคาที่ดิน ตามแนวทางการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์หรือหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านประเมินทรัพย์สิน หรือตามแนวทาง ที่หน่วยงานของรัฐที่มีการเวนคืนในลักษณะเดียวกัน

                                3.4.5 กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงใดมีราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงนั้นด้วย

                                3.4.6 กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงใดมีราคาสูงขึ้นให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงนั้น แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดจะหักเกินร้อยละ 50 ของเงินค่าทดแทนที่ดินมิได้

                                3.4.7 ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่เรียกเก็บสำหรับที่ดินแปลงนั้นจากการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น มิให้นำราคาที่สูงขึ้นของที่ดิน ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน

                ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรุงเทพมหานคร เห็นชอบ รวมทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบด้วย โดยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมอบหมายให้ คค. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิธีการคำนวณประโยชน์ฯ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันจะช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินในอนาคต

___________________

1พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562

          มาตรา 22 บัญญัติให้ถ้าการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนได้กระทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่ในแปลงเดียวกันนั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดจะหักเกินร้อยละห้าสิบของเงินค่าทดแทนมิได้

ฯลฯ

          ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าทำให้ที่ดินในแปลงเดียวกันที่เหลืออยู่นั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือ อันมีราคาลดลงนั้น

          ในกรณีที่ที่ดินแปลงใดที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้กระทำอย่างใดให้ที่ดินเปลี่ยนสภาพไปในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ให้เจ้าของดำเนินการแก้ไขปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากเจ้าของไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้เจ้าหน้าที่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการออกจากค่าที่ดิน แต่ต้องไม่เกินราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่เวนคืนตามมาตรา 20 ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการแก้ไขหรือปรับปรุงที่ดินนั้นประกอบด้วย

3. เรื่อง การทบทวนแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ

                คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการทบทวนกรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เรื่อง แนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ) ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้รับความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุง โดยให้นำไปปฏิบัติในปีงบประมาณ
พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป

                1.เรื่องเดิม

                1.1  คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กันยายน 2564)

                        1.1.1 เห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้

                                1.1.1.1 กรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ
เพื่อเชื่อมโยงระบบการประเมิน “ส่วนราชการ” กับระบบการประเมิน “ผู้บริหาร” โดยมีรายละเอียดประกอบด้วย (1) กลุ่มเป้าหมาย (ผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน) (2) มิติการประเมิน 2 มิติ ได้แก่ มิติด้านผลสัมฤทธิ์ (Performance) ค่าน้ำหนักร้อยละ 70 และมิติด้านสมรรถนะ (Competency) ค่าน้ำหนักร้อยละ 30 (3) การกำหนดตัวชี้วัด (4) รอบการประเมิน และ (5) แบบประเมิน  ทั้งนี้ การประเมินหัวหน้าส่วนราชการในกำกับฝ่ายบริหารในมิติผลสัมฤทธิ์ มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้รวบรวมข้อมูล และในมิติด้านสมรรถนะ มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. นำแนวทางที่ได้จากการศึกษาองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเป็นกรอบในการประเมินสมรรถนะของข้าราชการพลเรือนสามัญให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนต่อไป

                                1.1.1.2 ให้นำกรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐไปใช้กับผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นข้าราชการประเภทอื่น ซึ่งอยู่ในกำกับของฝ่ายบริหารโดยอนุโลม และขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐอื่นที่ไม่อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหารนำกรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐไปใช้โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือระเบียบปกติของหน่วยงานนั้น ๆ

                                1.1.1.3 ร่างแบบประเมินผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ดำเนินการในรายละเอียดและประสานองค์กรกลางบริหารงานบุคคลให้ดำเนินการตามกรอบแนวทางการประเมิน ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป

                        1.1.2 ให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดประเด็นการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติมให้ชัดเจน ครอบคลุมถึงการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การมีวิสัยทัศน์ในการทำงานและการมีผลงานที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งให้พิจารณานำดัชนีชี้วัดสุขภาพองค์กรที่ปัจจุบันใช้อยู่ในภาคเอกชนมาปรับใช้ในการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐด้วย โดยอาจพิจารณากำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับบริบทในภาคราชการ เช่น ความรู้ความเข้าใจในยุทธศาสตร์ชาติแผนการปฏิรูปประเทศ

                1.2 คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ตุลาคม 2567) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่  4/2567 และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณ และรัฐวิสาหกิจ นำมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไปเป็นแนวทางในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐต่อไป และมอบหมายให้กรมบัญชีกลางและสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแนวทางประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณต่อไปตามที่คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐเสนอ

               2. สาระสำคัญของเรื่อง

                        สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า

                        2.1 ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กันยายน 2564) เห็นชอบกรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ (ตามข้อ 1.1) และให้นำมาใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป (ตั้งแต่รอบการประเมิน 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป) สำนักงาน ก.พ. จึงได้มีหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1024/ว1 ลงวันที่ 20 มกราคม 2565 แจ้งเวียนหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการผู้บริหารของส่วนราชการให้ส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติโดยกรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินดังกล่าวได้กำหนดรายละเอียดไว้สรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ

รายละเอียด

2.1.1 ผู้ประเมิน :

ผู้รับการประเมิน

นายกรัฐมนตรี : ส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าหรือส่วนราชการรูปแบบเฉพาะที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงหรือทบวงที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีเจ้าสังกัด : ส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า ส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าที่อยู่ในบังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี และจังหวัด

2.1.2 รอบการประเมิน

ปีละ 2 รอบ ตามปีงบประมาณ ดังนี้

รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 มีนาคม

รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน

3.1.3 องค์ประกอบ

การประเมิน

 

ประกอบด้วยการประเมิน 2 มิติ ได้แก่

(1) มิติด้านผลสัมฤทธิ์ (Performance) กำหนดค่าน้ำหนักร้อยละ 70 ประกอบด้วย 2 มิติย่อย ดังนี้

    (1.1) มิติด้านผลสัมฤทธิ์ ก. : การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (Agenda) และภารกิจประจำที่เป็นภารกิจหลักของส่วนราชการ (Function) โดยกำหนดจำนวนตัวชี้วัด 3 – 5 ตัวชี้วัด และกำหนดค่าน้ำหนักร้อยละ
40 – 70
ในส่วนนี้ผู้ประเมินไม่ต้องประเมิน เนื่องจากจะใช้ข้อมูลการประเมิน ส่วนราชการจากระบบการรายงานผลการประเมินส่วนราชการ (e-SAR) ของสำนักงาน ก.พ.ร.

    (1.2) มิติด้านผลสัมฤทธิ์ ข. : การดำเนินการในวาระเร่งด่วนหรือภารกิจ
ที่ถูกมอบหมายเป็นพิเศษเพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดระหว่างรอบการประเมิน (Urgency/assigned Tasks) โดยกำหนดจำนวนตัวชี้วัดไม่เกิน 1 ตัวชี้วัด และกำหนดค่าน้ำหนักไม่เกิน
ร้อยละ 30
ซึ่งผู้ประเมินจะตกลงตัวชี้วัดและค่าน้ำหนักร่วมกับผู้รับการประเมิน (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากไม่มีตัวชี้วัดในมิตินี้สามารถเกลี่ยค่าน้ำหนักไปยังตัวชี้วัดในมิติด้านผลสัมฤทธิ์ ก. ได้

(2) มิติด้านสมรรถนะ (Competency) กำหนดค่าน้ำหนักร้อยละ 30
       มิติด้านสมรรถนะ ค. : สมรรถนะที่จำเป็นของผู้บริหาร จำนวน
4 สมรรถนะได้แก่ 1) การสื่อสารและการสร้างความผูกพัน 2) การเรียนรู้และพัฒนา 3) การปฏิรูป/ปรับเปลี่ยนราชการสู่อนาคต และ 4) การรักษาวินัย คุณธรรม และจริยธรรม

                        2.2 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ตุลาคม 2567) รับทราบมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมอบหมายให้กรมบัญชีกลางและสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแนวทางประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ (ตามข้อ 1.2) สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้มีหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ด่วนที่สุด ที่ นร 1200/ว68 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ถึงหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า อธิบดีหรือเทียบเท่า และผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งการกำหนดตัวชี้วัด
“การเบิกจ่ายงบประมาณ” (ค่าน้ำหนักร้อยละ 10) ให้เป็นตัวชี้วัดบังคับในมิติด้านผลสัมฤทธิ์ ข. การดำเนินการในวาระเร่งด่วนหรือภารกิจที่ถูกมอบหมายเป็นพิเศษ (
Urgency/assigned Tasks) ในกรอบการประเมินผู้บริหารของส่วนราชการ

                        2.3  ในมิติด้านผลสัมฤทธิ์ ข. ตามกรอบแนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กันยายน 2564) เห็นชอบ และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการผู้บริหารของส่วนราชการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด (ตามข้อ 2.1) ได้มีการกำหนดจำนวนตัวชี้วัดไว้ไม่เกิน 1 ตัวชี้วัด และค่าน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 30 โดยผู้รับการประเมินและผู้ประเมินจะร่วมกันพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและค่าน้ำหนักให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงานในแต่ละรอบการประเมิน ดังนั้น การกำหนดให้มีตัวชี้วัด “การเบิกจ่ายงบประมาณ” เป็นตัวชี้วัดบังคับ (ค่าน้ำหนัก ร้อยละ 10) ในมิติการประเมิน ข. ดังกล่าว ทำให้ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินไม่สามารถตกลงร่วมกันเพื่อกำหนดตัวชี้วัดมิติผลสัมฤทธิ์ ข. ได้

                        2.4 สำนักงาน ก.พ. จึงเห็นควรให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เรื่อง แนวทางการประเมินผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทการปฏิบัติราชการในปัจจุบันต่อไป

4. เรื่อง ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายละเอียดรายการก่อสร้าง แก้ไขชื่อรายการ พื้นที่ใช้สอยรายการบริหารจัดการ ขอสนับสนุนงบประมาณวงเงินเพิ่มเติม ขออนุมัติขยายระยะเวลาและขออนุมัติเปลี่ยนแปลงสัดส่วนวงเงินโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (โครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข)

              คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เรื่อง
ขออนุมัติดำเนินโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม [โครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) สธ.] (โครงการฯ) ในประเด็นของแบบรูปรายละเอียดรายการก่อสร้าง ชื่อรายการ พื้นที่ใช้สอย รายการบริหารจัดการโครงการ กรอบวงเงินรวมโครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการ และสัดส่วนวงเงินโครงการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้

                1. เปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการ แก้ไขชื่อรายการ พื้นที่ใช้สอยและรายการบริหารจัดการ
สำนักงบประมาณ (สงป.) เห็นชอบด้วยแล้ว ดังนี้

รายการ

มติคณะรัฐมนตรีเดิม

(2 กรกฎาคม 2567)

ข้อเสนอครั้งนี้

(1.1.1) ค่าก่อสร้างและพื้นที่ใช้สอย

(1.1.1.1) โรงพยาบาลนครพิงค์ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

อาคารศูนย์โรคหัวใจ ซีซียู ไอซียู ผู้ป่วยใน

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) 12 ชั้น (โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว) จำนวน 1 หลัง

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

19,237 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 548.82 ล้านบาท

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

24,041 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 674.75 ล้านบาท

(1.1.1.2) โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

อาคารศูนย์มะเร็งและห้องพิเศษ 9 ชั้น

เป็นอาคาร คสล. 9 ชั้น จำนวน 1 หลัง

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

18,111 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 558.79 ล้านบาท

คงเดิม

(1.1.1.3) โรงพยาบาลมะการักษ์ ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

อาคารผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใน 300 เตียง

เป็นอาคาร คสล. 8 ชั้น (โครงสร้างต้าน

แผ่นดินไหว) จำนวน 1 หลัง

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

13,087 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 469.43 ล้านบาท

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

13,087 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 512.20 ล้านบาท

(1.1.1.4) โรงพยาบาลพระปกเกล้า ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

อาคารวินิจฉัยและรักษา เป็นอาคาร คสล.

8 ชั้น จำนวน 1 หลัง

 

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

20,336 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 614.93 ล้านบาท

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

22,592 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 800.42 ล้านบาท

(1.1.1.5) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ 18 ชั้น

เป็นอาคาร คสล. 18 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น

จำนวน 1 หลัง

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

102,327 ตารางเมตร

 กรอบวงเงิน 3,490.57 ล้านบาท

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

102,327 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 3,549.53 ล้านบาท

อาคารพักแพทย์และพยาบาล 18 ชั้น

เป็นอาคาร คสล. 18 ชั้น จำนวน 1 หลัง

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

21,020 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 400.59 ล้านบาท

พื้นที่ใช้สอยประมาณ

21,020 ตารางเมตร

กรอบวงเงิน 480.17 ล้านบาท

(1.1.2) ค่าครุภัณฑ์ภายใต้โครงการฯ

กรอบวงเงิน 1,709.99 ล้านบาท

คงเดิม

(1.1.3) ค่าบริหารจัดการโครงการฯ

กองบริหารการสาธารณสุข ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

กรอบวงเงิน 304.16 ล้านบาท

กรอบวงเงิน 328.36 ล้านบาท

โดยแยกเป็น 3 รายการ ดังนี้

 (1) ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาบริหารงานวงเงิน 127.33

ล้านบาท โดยขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเต็มจำนวน

(2) ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน วงเงิน 197.28

ล้านบาท

(3) ค่าว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี

จากภายนอก วงเงิน 3.75

ล้านบาท

(1.1.4) วงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดโครงการฯ

กรอบวงเงิน 327.31 ล้านบาท

กรอบวงเงิน 430.71 ล้านบาท

                2. ขออนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ สำหรับโครงการฯ จากเดิม วงเงิน 8,510.08 ล้านบาท เป็น วงเงินทั้งสิ้น 9,044.91 ล้านบาท

                3. ขออนุมัติเพิ่มระยะเวลาโครงการฯ จากเดิม พ.ศ. 2568 – 2572 เป็น พ.ศ. 2568 - 2573

                4. ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงสัดส่วนวงเงินโครงการฯ จากเดิม งบประมาณ รายจ่ายประจำปี ร้อยละ 20 และเงินนอกงบประมาณ (เงินกู้ระหว่างประเทศ) ร้อยละ 80 ทุกรายการ เป็น ขอให้กระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะโดยอัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณให้เป็นไปตามที่ กค. ทำความตกลง กับแหล่งเงินกู้ต่อไป

                สาระสำคัญของเรื่อง

              1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ ( 2 กรกฎาคม 2567 ) อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สป.สธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (โครงการฯ) ทั้ง 5 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้กรอบวงเงินรวม 8,510.08 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2572 โดยระหว่างการเตรียมดำเนินโครงการฯ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อสังเกตในประเด็นการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับรายการก่อสร้าง ทำให้ สป.สธ. ต้องดำเนินการแก้ไขการออกแบบสถาปัตยกรรมตามข้อเสนอแนะของ ADB และส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการก่อสร้างของบางโรงพยาบาล รวมถึงส่งผลให้วงเงินการดำเนินโครงการมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็น 9,044.91 ล้านบาท รวมทั้งต้องขยายระยะเวลาโครงการฯ เป็น พ.ศ. 2568 – 2573

              2. กระทรวงการคลัง (กค.) พิจารณาแล้วเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรี ส่วนกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการ โดย กค. มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น สธ. ควรเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินอื่นมาสมทบ และเห็นควรให้ สป.สธ. และโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง เตรียมความพร้อมในการดำเนินการและการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วน สงป. และ สศช. เห็นว่า วงเงินที่เพิ่มขึ้น สธ. (สป.สธ.) อาจพิจารณาปรับเกลี่ยจากเงินบำรุงหรือเงินรายได้ของโรงพยาบาลมาสมทบหรือร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ด้วย

5. เรื่อง แนวทางการผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา

              คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ เรื่อง แนวทางผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งประกอบด้วยการให้ความเห็นชอบในเรื่องดังต่อไปนี้

                1. แนวทางการผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ ได้แก่

                        1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร ตามมาตรา64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...

                        1.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...

                2. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง

              สาระสำคัญของเรื่อง

              1) โดยที่มาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีบัตรผ่านแดน (Border Pass)  อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลและในท้องที่ที่กำหนดได้ สำหรับจะใช้บังคับกับท้องที่ใด คนต่างด้าวสัญชาติใด เพื่อทำงานประเภทหรือลักษณะใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการออกประกาศกำหนดตามบทบัญญัติดังกล่าว) ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีการใช้บังคับมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถทำงานได้เฉพาะในท้องที่ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี (พื้นที่จังหวัดชายแดน) และท้องที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงกำหนดประเภทหรือลักษณะงาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน โดยสามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และพำนักในราชอาณาจักรได้ครั้งละ 30 วัน และก่อนครบระยะเวลาอนุญาตให้พำนักดังกล่าว คนต่างด้าวจะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับมาเข้ามา เพื่อให้ได้รับการประทับตราอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 30 วัน

              2) เรื่องที่กระทรวงแรงงานเสนอ เป็นการกำหนดแนวทางการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกรณีการเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล ในท้องที่บริเวณชายแดน ซึ่งจะเป็นประเภทงานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน โดยที่จะได้รับอนุญาตให้ทำงานเป็นระยะเวลา 3 เดือน และให้พำนักในราชอาณาจักรได้ครั้งละ 30 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการให้พำนักดังกล่าวแล้วแรงงานต่างด้าวจะต้องเดินทางกลับออกไปและเดินทางเข้าในราชอาณาจักรเพื่อดำเนินการให้ได้รับการประทับตราอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 30 วัน อีกครั้ง แต่โดยที่สถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา และได้มีมาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ส่งผลให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่อายุการทำงานหรือระยะเวลาการอนุญาตให้พำนักได้สิ้นสุดแล้ว
ซึ่งจะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อเดินทางกลับเข้ามาใหม่ ไม่สามารถเดินทางเข้า - ออกได้ ทำให้อยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต (Overstay) และมีสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่ไม่สามารถเดินทางเข้า - ออกบริเวณชายแดนได้ ไม่ให้อยู่ในสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จนส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

แนวทางผ่อนผันให้แรงงานสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา

กลุ่มเป้าหมาย

· คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ที่ใช้เอกสารประจำตัวบุคคลประเภทบัตรผ่านแดน (Border Pass) เป็นเอกสารแสดงตน ทั้งที่มีอายุหรือหมดอายุซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดน ที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด

การดำเนินการ

· ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลใช้บังคับ (วันที่
7 มิถุนายน 2568) หรือจนกว่ามาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างประเทศทั้งสองกลับสู่ภาวะปกติ และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวกรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด

· ให้คนต่างด้าวดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์พร้อมทั้งชำระค่ายื่นคำขอ จำนวน 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานจำนวน
225 บาท โดยจะได้รับอนุญาตทำงานครั้งละ 3 เดือน และหากประสงค์จะทำงานในราชอาณาจักรต่อไปให้ยื่นคำขออนุญาตทำงาน พร้อมทั้งเอกสารและหลักฐานตามที่กำหนด และชำระค่าธรรมเนียม

· ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอ ให้คนต่างด้าวไปดำเนินการ ดังนี้

        (1) ตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ

        (2) ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน สำหรับคนต่างด้าวซึ่งทำงานในกิจการหรือเป็นลูกจ้างที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เช่น คนรับใช้ในบ้าน ทำงานเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ซึ่งไม่ได้จ้างตลอดทั้งปี หรือทำงานเป็นครั้งคราว หรือตามฤดูกาล จะต้องทำประกันสุขภาพตามประกาศ สธ. ว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (ไม่สามารถทำประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชนได้)

· กำหนดให้ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกประกาศตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ เพื่อกำหนดประเภทงานและท้องที่การทำงาน ให้คนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างได้ตามประเภทงานและท้องที่ที่กำหนดในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีตามข้อ 1) และให้แรงงานต่างด้าวสามารถเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือเพิ่มนายจ้างได้ 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตทำงาน (เดิมไม่สามารถทำได้)

· ให้คนต่างด้าวไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองครั้งแรกภายในวันที่
30 กรกฎาคม 2568 และให้รายงานตัวทุก ๆ 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดครั้งก่อน โดยสามารถรายงานตัวก่อนได้ไม่เกิน 7 วัน

· การยกเว้นให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานเป็นอันสิ้นสุดเมื่อมาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างประเทศทั้งสองกลับสู่ภาวะปกติและให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้อีก 7 วัน เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศ

การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

· รง. ได้เสนอร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเรื่องนี้ ตามข้อ 1.1 และ
ข้อ 1.2

· กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจสุขภาพและทำประกันให้แก่คนต่างด้าว

· สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการรับรายงานตัวของคนต่างด้าว

                2. ในคราวประชุม คบต. ครั้งที่ 5/2568 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเรื่องดังกล่าวแล้ว

6. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงินสภาผู้แทนราษฎร

               คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงินสภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

                สาระสำคัญของเรื่อง

              กระทรวงการคลังได้เสนอผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา ญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดําเนินการซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยสรุปผลการพิจารณา จํานวนรวม 4 ประเด็น ได้ดังนี้ 1) การลดต้นทุนเพิ่มรายได้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยการยาสูบแห่งประเทศไทยได้กําหนดยุทธศาสตร์ด้านการผลิต ควบคุม และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น นำใบยาสูบของเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบมาผลิตเป็นซิการ์เพื่อจําหน่าย 2) การปรับโครงสร้างภาษียาสูบ โดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมในทุกมิติอย่างรอบด้าน ซึ่งการยาสูบแห่งประเทศไทยเห็นว่า การกําหนดอัตราภาษี 3 อัตรา (โดยการเพิ่มกลุ่ม Economy นอกเหนือการคํานวณกลุ่ม Saving และกลุ่ม Regular + Premium กําหนดให้มีราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาท/ซอง เสียภาษีร้อยละ 15) สามารถลดช่องว่างระหว่างบุหรี่ถูกกฎหมายและบุหรี่ผิดกฎหมาย 3) การป้องกันและปราบปราม โดยกรมสรรพสามิตได้เสริมศักยภาพ ในด้านการป้องกันการกระทําผิดร่วมกับหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสกัดกั้นการลักลอบนําเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายและบุหรี่ไฟฟ้า และกรมศุลกากรได้จัดทำแผนแนวทางปฏิบัติร่วมในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ประเทศไทย และ 4) การปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบหรือการประกอบอาชีพอื่น โดยกรมสรรพสามิต ได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ และกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบและการปรับเปลี่ยนอาชีพสำหรับชาวไร่ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร ซึ่งกรมการค้าภายในได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ/คณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในกรณีที่ภาครัฐกำหนดนโยบายลดอัตราการสูบบุหรี่

 

7. เรื่อง รายงานผลการพิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน และแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565   

               คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน และแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายชุมนุมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป                                                               

                สาระสำคัญของเรื่อง

                 1. สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการควบคุมฝูงชน และแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์การชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565 โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการควบคุมฝูงชนและข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม ในระบอบประชาธิปไตยการชุมนุมเป็นการแสดงออกทางการเมืองถือเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ชุมนุมควรแสดงออกทางความคิดให้เป็นไปตามกติกาและถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐบาลควรปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมโดยปราศจากการใช้กำลังและปราศจากอาวุธ และแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาโดยควรมีการศึกษาหามาตรการและแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเป็นบทเรียนร่วมกัน สรุปบทเรียนรวบรวมข้อเท็จจริงที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น
การสืบเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันผ่านสภาผู้แทนราษฎร การศึกษาหาแนวทางมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากล การอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข้อเท็จจริงในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้สื่อข่าว และประชาชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลต่อไป

                2. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ตร. เป็นหน่วยงานหลักรับญัตติและข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

                3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาญัตติขอให้
สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการควบคุมฝูงชนและแสวงหาข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม อันเนื่องมาจากเหตุการณ์การชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ.
2563 ถึง พ.ศ. 2565 แล้วเห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญถึงหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล โดยคู่มือการปฏิบัติงานและคู่มือดูแลการชุมนุมสาธารณะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถอดเนื้อหามาจากคู่มือการปฏิบัติงานดูแลการชุมนุมสาธารณะของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (UNOHCHR) โดยมีการให้ข้อมูลรายละเอียดถึงหลักการใช้อุปกรณ์เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแนวทางคู่มือแนะนำของสหประชาชาติ ในการใช้อาวุธร้ายแรงต่ำสำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมาแปลความและวางแนวทางการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ผ่านการอบรมและมีการฝึกทบทวนอยู่เสมอรวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการเยียวยาตามกฎหมายแก่ผู้เสียหายและจำเลยที่ยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในคดีอาญาต่อกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2563 - 2564 ไปทั้งสิ้นจำนวน 408,202 บาท          

8. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 5/2568

              คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 5/2568 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

                สาระสำคัญของเรื่อง

              กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม        (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานฯ ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมาคมโทรคมนาคมฯ) เพื่อบูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์

                ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2)

พ.ศ. 2568 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีการกำหนดมาตรการที่สำคัญหลายประการ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการภายหลังจาก ที่มีการบังคับใช้มาตรการภายใต้พระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ ทำให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีรายละเอียด ดังนี้

                1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนเมษายน 2568

                สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์และมีคดีที่สำคัญ รวมทั้งเร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในเดือนเมษายน 2568 ดังนี้

                        1) การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท ในเดือนเมษายน 2568
มีจำนวน 1,965 ราย ซึ่งลดลงร้อยละ 48.33 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 3,803 รายต่อเดือนในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน 2567

                        2) การจับกุมคดีพนันออนไลน์ ในเดือนเมษายน 2568 มีจำนวน 823 รายซึ่งลดลงร้อยละ 54.20 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 1,797 รายต่อเดือน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน 2567

                        3) การจับกุมคดีบัญชีม้า ชิมม้า และความผิดตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในเดือนเมษายน 2568 มีจำนวน 277 ราย ซึ่งลดลงร้อยละ 12.06 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 315 รายต่อเดือน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน 2567

                2. การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ผิดกฎหมาย และเว็บไซต์พนันออนไลน์

                กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ผิดกฎหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

                        1) ดำเนินการประสานการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายประเภทพนันออนไลน์ จำนวน 52,106 รายการ ประเภทหลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,167 รายการ และอื่น ๆ จำนวน 39,657 รายการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 92,930 รายการ

                        2) ดำเนินการประสานการปิดกั้นแพลตฟอร์ม (Facebook / YouTube / X / TikTok) เกี่ยวกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและหลอกลวงออนไลน์ แบบมีคำสั่งศาลจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น10,148 รายการ และไม่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 29,526 รายการ

                3. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด และตัดตอนการโอนเงิน

                ผลการดำเนินงานที่สำคัญ มีดังนี้

                        1) มีการระงับบัญชีม้า โดย ศูนย์ AOC 1441 ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 383,552 บัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568)

                        2) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ทำการอายัดบัญชี ไปแล้วกว่า 753,373 บัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2568)

                4. มาตรการแก้ไขปัญหาชิมม้า และ SMS แนบลิงก์

                - มาตรการแก้ไขปัญหาชิมม้า (ซิมของบุคคลต่างด้าว) สำนักงาน กสทช. จะมีการควบคุมการลงทะเบียน ซิมของบุคคลต่างด้าว โดยจะจำกัดไว้ที่จำนวน 3 ชิม ต่อผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมีระยะเวลาในการปรับปรุงระบบให้แล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม 2568

                - การบริหารจัดการ SMS แนบลิงก์ สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์จะส่ง SMS แนบลิงก์ ลิงก์ดังกล่าวต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ก่อนส่งข้อความสั้น โดยลิงก์ที่ส่งจะต้องนำไปสู่เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารเท่านั้น เช่น สำนักงาน กสทช. จะต้องไปยังเว็บไซต์ “ www.nbtc.go.th” ห้ามนำไปสู่แพลตฟอร์มอื่น และห้ามไม่ให้มีข้อความที่ระบุช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น เช่น การ Add Line เป็นต้น และสำหรับมาตรการลงโทษ กรณีพบว่าผู้ใช้งาน Sender Name ใด มีการส่งลิงก์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ หรือผู้ส่งปลอมแปลงลิงก์ระหว่างการส่ง SMS หรือข้อความอื่นที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น ผู้ให้บริการจะต้องยกเลิกสัญญาการให้บริการ

                ขณะเดียวกัน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ตามมาตรา 4/1 วรรคสอง ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาข้อความสั้น (SMS) ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรการที่สำนักงาน กสทช. กำหนดด้วย ดังนั้น หากตรวจสอบพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมสำนักงาน กสทช. และพระราชกำหนด ดังกล่าว สำนักงาน กสทช. อาจใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายกับผู้ให้บริการที่กระทำความผิด และ/หรือนำส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

                5. มาตรการระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการลงทะเบียนด้วยชื่อของบุคคลต้องสงสัย

                ตามที่ศูนย์ AOC 1441 หรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ได้รับแจ้ง/ร้องเรียนทางโทรศัพท์จากผู้เสียหายว่ามีการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเดือนมกราคม – เมษายน 2568 ได้มีการบันทึกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพ (ตัดหมายเลขซ้ำออก) ที่มี Bank Case ID จำนวน 7,173 เลขหมาย และยังไม่มี Bank Case ID จำนวน 425 เลขหมาย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิจฉาชีพใช้เบอร์หรือเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวในการติดต่อผู้เสียหายรายอื่น ๆ โดยการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์การระงับเลขหมายโทรศัพท์ที่มีการลงทะเบียนด้วยชื่อของบุคคลต้องสงสัย ซึ่ง AOC 1441 หรือ ศปอท. จะแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคมให้สำนักงาน กสทช. (ตามมาตรา 8/5 (7)) และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามมาตรา 5 วรรคสอง โดยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ระงับการให้บริการโทรคมนาคมของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้น รวมถึงเบอร์โทรศัพท์หมายเลขอื่นของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นทั้งหมดในทุกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์

                6. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้าคริปโท

                ในเดือนมิถุนายน 2568 สำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) จะหารือร่วมกับสำนักงาน ปปง. ในการออกแนวทางปฏิบัติการใช้ข้อมูลบัญชีม้า HR-03 และแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมฐานข้อมูล HR-03 กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล (DA) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการฯ ระงับการเปิดบัญชี/ให้บริการกับบัญชีม้า รวมทั้งการหารือร่วมกันกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในขั้นตอนการส่งรายชื่อแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต

                7. การเร่งรัดบูรณาการข้อมูลหน่วยงานร่วมกันเพื่อดำเนินการตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568

                ที่ประชุมฯ มอบหมายให้ ศปอท. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ก.ล.ต. ธปท. สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ในเรื่อง ขั้นตอนการจัดการบัญชีม้าและการใช้อำนาจตามมาตรา 4/1 การดำเนินการตามเหตุอันควรสงสัย ขั้นตอนการทำงานรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบติดตามของ ศปอท. รวมทั้งเรื่องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพระราชกำหนดฯ ในขั้นตอนปฏิบัติ (SOP) และระยะเวลาการดำเนินการ (SLA)

                ในการนี้ การมีพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 เป็นการช่วยยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน    ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้มีการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและบัญชีเงิน อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ (เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน    ที่เกี่ยวข้อง) เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ การจัดการบัญชีม้าและชิมม้า การระงับบัญชีม้า การเร่งอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย หลอกลวง ผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งมีการเร่งรัดกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว โดยให้สำนักงาน ปปง. (คณะกรรมการธุรกรรม) มีอำนาจในการพิจารณาคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการตัดสินคดีในศาลก่อน ส่งผลให้การเร่งรัดในการเยียวยาผู้เสียหายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำหรับการเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามพระราชกำหนดดังกล่าว อยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคธนาคาร สินทรัพย์ดิจิทัล หารือในแนวทางปฏิบัติและระยะเวลาการดำเนินการ ร่วมกัน และในส่วนของ ศปอท. อยู่ระหว่างเตรียมการขอรับงบประมาณเพื่อจัดทำการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบ Dashboard ต่อไป

 

9. เรื่อง รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

(Integrity & Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

              คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ ดังนี้

                1. รับทราบรายงานผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

                2. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.)  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่กำกับติดตามและผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานภาครัฐที่ยังมีผลการประเมิน ITA ไม่ผ่านตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น  (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2566 - 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ให้สามารถยกระดับผลการดำเนินงานให้ผ่านค่าเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมทั้งให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. และข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ป.ท. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

                3. ให้ส่งความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ.ร. และข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ป.ท. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

 

ต่างประเทศ   

10. เรื่อง ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน

(High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี  ค.ศ. 2025

                คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน  (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี  ค.ศ. 2025 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ 

                สาระสำคัญของเรื่อง

                คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) จัดการประชุม HLPF ประจำปี ค.ศ. 2025 ระหว่างวันที่ 14-23 กรกฎาคม  2568 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาชาติ นครนิวยอร์ก ภายใต้หัวข้อหลัก “Advancing sustainable, inclusive, science- and evidence-based solutions for the 2030 Agenda for Sustainable Development and its Sustainable Development Goals for leaving no one behind” โดยจะหารือเชิงลึกเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 5 เป้าหมาย (SDGs under review) รวมทั้ง เป็นเวทีระดมสมองจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเลื่อน SDGs นอกจากนี้จะมีการนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ  (Voluntary National Review: VNR) ของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย  โดยร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ค.ศ. 2030 เช่น (1) การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มรูปแบบและมีผลิตภาพ (2) การเสริมสร้างการป้องกัน การเตรียมพร้อมรับมือ และการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (3) การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการจัดการกับความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาในการประชุม HLPF  ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ณ นครนิวยอร์ก ซึ่ง กต. เห็นว่า  ร่างปฏิญญาฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทยจึงเข้าลักษณะเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

               ประโยชน์และผลกระทบ

                ร่างปฏิญญาฯ สะท้อนประเด็นที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติให้ความสำคัญว่าร่วมกันในการผลักดันการบรรลุ SDGs ของโลกในภาพรวม

                 

11. เรื่อง การร้องขอข้อยกเว้นเพิ่มเติม (Extension of Exemption Period) ตามข้อบทที่ 4 ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท ภายใต้อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทของประเทศไทยให้ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท

                คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการร้องขอข้อยกเว้นเพิ่มเติม (Extension of Exemption Period) ของประเทศไทยสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท จำนวน 6 รายการ  ที่ถูกกำหนดให้ยกเลิกการผลิต นำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ภายในปี พ.ศ. 2568 ได้แก่ (1) สวิตช์ไฟฟ้าและรีเลย์ (2) หลออดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์ (3) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง (4) หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็น และหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรดภายนอก (EEFL) ในจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ (5) หลอดไอปรอทความดันสูง และ (6) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท ออกไปอีก 5 ปี   (พ.ศ. 2569-2573) ภายใต้อนุสัญญามินามาตะว่าด้วย (อนุสัญญา) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ (ทส.) เสนอ

(แจ้งว่าจะมีการแจ้งการร้องขอข้อยกเว้นเพิ่มเติมต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ภายในเดือนกรกฎาคม 2568)

                สาระสำคัญของเรื่อง

                1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (20 มิถุนายน 2560) เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะ และให้แจ้งการร้องขอยกเว้นให้ประเทศไทยยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท จำนวน 7 รายการ ที่ถูกกำหนดให้มีการยกเลิกการผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ภายในปี พ.ศ. 2563 ให้ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทออกไปอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2564 - พ.ศ. 2568) ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถดำเนินการยกเลิกการผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์จำนวน 6 รายการได้ ภายในปี พ.ศ. 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ) จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการร้องขอข้อยกเว้นเพิ่มเติม  (Extension of Exemption Period) ให้ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท ออกไปอีก 5 ปี (พ.ศ. 2569 - 2573)  โดยมีรายการดังต่อไปนี้

รายการเดิม

(ขอขยายให้ยกเลิกในปี พ.ศ. 2568)

รายการที่เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้

(ขอขยายให้ยกเลิกในปี พ.ศ. 2573)

หมายเหตุ

จำนวน 7 รายการ

1) สวิตซ์ไฟฟ้าและรีเลย์

2) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์

3) หลอดฟลูออเรสเชนต์ชนิดตรง

4) หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็น

และหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรด

ภายนอก (EEFL) ในจอภาพอิเล็กทรอนิกส์

หลอดไอปรอทความดันสูง

6) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์

7) ยาฆ่าเชื้อ

จำนวน 6 รายการ

1) สวิตช์ไฟฟ้าและรีเลย์

2) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกต์

3) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง

4) หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็นและหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรด

ภายนอก (EEFL) ในจอภาพอิเล็กทรอนิกส์

5) หลอดไอปรอทความดันสูง

6) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์

- 6 รายการที่ยังไม่สามารถยกเลิก

การผลิต นำเข้า หรือส่งออกภายในปี 2568 ได้ เนื่องจาก

ผู้ประกอบการของประเทศไทย

ยังไม่มีความพร้อม

- ในส่วนยาฆ่าเชื้อ ผู้รับอนุญาตทะเบียนตำรับยาไม่ขัดข้อง

ที่จะยกเลิกการผลิตก่อนเดือนธันวาคม 2568

                2. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง โดย กต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กรณีนี้ไม่เข้าข่ายลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (20 มิถุนายน 2560)  เห็นชอบการร้องขอข้อยกเว้นให้ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทต่อไปมาแล้ว ประกอบกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเข้าข่ายเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีได้ตามนัยมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

 

12. เรื่อง การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 15

                คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

                1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ
สมัยที่ 15 (Ramsar COP15)

                2. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 15 (ร่างท่าทีของไทยฯ)

                3. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูง สำหรับการประชุมหารือระดับรัฐมนตรี
ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 15 (ร่างถ้อยแถลงฯ)

                4. เห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) ปฏิญญาวิกตอเรีย ฟอลส์ (Victoria Falls Declaration) สำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 15 (ร่างปฏิญญาฯ) และมอบหมายหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเป็นผู้ให้การรับรอง

                5. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างท่าทีของไทยฯ ร่างปฏิญญาฯ และร่างถ้อยแถลงฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย
เป็นผู้พิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากกรอบการเจรจาในเอกสารท่าทีไทยนี้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยนำมติข้อตัดสินใจและสิ่งที่ไทยจะดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีในภายหลังการประชุมรัฐภาคีต่อไป

                สาระสำคัญของเรื่อง

  1. อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำโลก โดยสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่าง
    ชาญฉลาด มีสมาชิกกว่า 172 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2541 โดยจะมีการจัดประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นประจำทุก 3 ปี และสำหรับการประชุมสมัยที่ 15 จัดขึ้นขึ้นภายใต้หัวข้อ “ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนาคตร่วมกันของเรา” (Protecting Wetlands for Our Common) ระหว่าง
    23 - 31 กรกฎาคม 2568 ณ สาธารณรัฐซิมบับเว โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

                                1.1 องค์ประกอบคณะผู้แทนไทย : จำนวน 15 ราย โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายประเสริฐ ศิรินภาพร) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

                                1.2 (ร่าง) ถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงสำหรับการประชุมหารือระดับรัฐมนตรี ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำสมัยที่ 15 (ร่างถ้อยแถลงฯ) มีสาระสำคัญเป็นการเน้นย้ำว่าไทยได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำในทุกระดับ โดยได้ดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น
(1) เสริมสร้างกลไกทางกฎหมายและนโยบายผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำระดับจังหวัด (2) ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านการจัดตั้งเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศกว่า 65 เครือข่าย

                                1.3 (ร่าง) ท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 15 (ร่างท่าทีของไทยฯ) เช่น  เสนอแนะให้มีการแบ่งปันข้อมูลการนับประชากรน้ำร่วมกัน เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและป้องกันการนับซ้ำของเส้นทางการบินที่มีความทับซ้อนกัน 

                                1.4 การรับรอง (ร่าง) ปฏิญญาวิกตอเรีย ฟอลส์ (Victoria Falls Declaration) (ร่างปฏิญญาฯ) ซึ่งร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญเป็นแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศสมาชิก เช่น (1) เสริมสร้างกรอบนโยบายและกฎหมายโดยการบูรณาการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเข้ากับแผนพัฒนา นโยบาย และกลยุทธ์ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค (2) ส่งเสริมการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้พื้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของชนิดพันธุ์อพยพ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามและชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (3) ลงทุนในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เข้าใจนิเวศวิทยาของพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการติดตั้งระบบติดตามเพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานะของพื้นที่ชุ่มน้ำและ (4) เรียกร้องให้องค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศเสริมสร้างการสนับสนุนด้านการเงินและเทคนิควิชาการสำหรับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน

                   2. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและกรมองค์การระหว่างประเทศ ไม่ขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับ

 

 

13. เรื่อง ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย – อินเดีย

              คณะรัฐมนตรีรับทราบการลงนามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย – อินเดีย (Joint Declaration on the Establishment of Thailand - India Strategic Partnership) (ปฏิญญาร่วมฯ) และการแก้ไขเนื้อหาของปฏิญญาร่วมดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

                สาระสำคัญของเรื่อง

              1. กต. แจ้งว่า เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 เมษายน 2568) เห็นชอบ ร่างปฏิญญาร่วมฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียในอนาคตเพื่อเพิ่มโอกาส เสริมสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกัน เช่น (1) ความร่วมมือด้านการเมือง (2) ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีทางการทหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (3) เศรษฐกิจ และความร่วมมือ ด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ

                2. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ไทยและอินเดียได้ร่วมลงนาม ในปฏิญญาร่วมฯ ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้เห็นพ้องในการปรับถ้อยคำและเนื้อหาบางส่วนของปฏิญญาร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ โดยยังคงเจตนารมณ์ของประเทศไทยและอินเดียในการมุ่งส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ และสามารถปฏิบัติได้ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปเพื่อการส่งเสริม และกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับอินเดียในภาพรวม

 

แต่งตั้ง

14.  เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ

(กระทรวงการคลัง)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพลจักร นิ่มวัฒนา ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง   กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568  ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

15. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ เป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้

                1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร)

              2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

              (นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล)

                ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

16. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ดังนี้

                1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)

              2. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์)

                ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568

                ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอแต่งตั้ง
นายพัฒพงศ์ พงษ์สกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพลศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

19. เรื่อง ขอเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(กระทรวงการคลัง) 

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 30 กันยายน 2568 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

                1. นายพีรวัส สมวงศ์  ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
(นายสุชาติ ชมกลิ่น)

                2. จ่าเอก ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)]

                ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้ง นายสุรสิทธิ์
นิธิวุฒิวรรักษ์
เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

22. เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กระทรวงการคลัง)

              คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รวม 5 คน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในรอบการประเมิน ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ดังนี้

                1. ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา         ประธานกรรมการ

                2. นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล                      กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเงิน)

                3. รองศาสตราจารย์ชโยดม สรรพศรี               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษา)

                4. นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ                       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                                                                (ด้านการประเมินผล)

                5. นายนิกร เภรีกุล                            กรรมการและเลขานุการ

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

23. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์นพพร
ลีปรีชานนท์
เป็นกรรมการในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แทน พลเอก กนิษฐ์
ชาญปรีชญา กรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่
22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว

 

24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้

                1. พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์

                2. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

                3. นางสาวรวิวรรณ จตุรพิธพร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

                4. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

                ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)

              คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้ง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ
เป็นข้าราชการการเมือง ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่
22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียนอายุราชการ ดังนี้

                1. นายณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์

                2. นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

                3. นายสราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

                ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

27. เรื่อง  แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงวัฒนธรรม)

                คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ตำแหน่ง ดังนี้

                1. นางสาวสกาวใจ พูนสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

                2. นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

                ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

 

28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

              คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

                1. นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร

                2. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต

                3. นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

                4. นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

                5. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

                6. นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

                ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568

                ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • \'อนุทิน\'ยังไม่ฟันชัด! เลือกตั้งซ่อมศรีสะเกษ ขาขึ้น \'ภูมิใจไทย\' ขาลง\' เพื่อไทย\' 'อนุทิน'ยังไม่ฟันชัด! เลือกตั้งซ่อมศรีสะเกษ ขาขึ้น 'ภูมิใจไทย' ขาลง' เพื่อไทย'
  • \'อนุทิน\'ยักไหล่ อดร่วมวงดินเนอร์ \'พรรคร่วมรัฐบาล\' ชี้เป็น\'ฝ่ายค้าน\'แล้ว 'อนุทิน'ยักไหล่ อดร่วมวงดินเนอร์ 'พรรคร่วมรัฐบาล' ชี้เป็น'ฝ่ายค้าน'แล้ว
  • อยู่ต่อได้ 6 เดือน! ครม.ผ่อนผัน‘แรงงานกัมพูชา’ที่ทำงานในไทย อยู่ต่อได้ 6 เดือน! ครม.ผ่อนผัน‘แรงงานกัมพูชา’ที่ทำงานในไทย
  • เปิดบ้านสุดอบอุ่น!’นิพนธ์‘ทำบุญวันเกิดครบ 67 ปี ‘เนวิน-อนุทิน’ส่งตัวแทนมอบแจกันดอกไม้ยินดี เปิดบ้านสุดอบอุ่น!’นิพนธ์‘ทำบุญวันเกิดครบ 67 ปี ‘เนวิน-อนุทิน’ส่งตัวแทนมอบแจกันดอกไม้ยินดี
  • \'เท้ง\'เมิน\'ทักษิณ\'ร่วมวงดินเนอร์คืนนี้ บอกไม่อยากเห็นแบ่งเค้ก-รวมเสียง มากกว่าคุยผลประโยชน์ปชช. 'เท้ง'เมิน'ทักษิณ'ร่วมวงดินเนอร์คืนนี้ บอกไม่อยากเห็นแบ่งเค้ก-รวมเสียง มากกว่าคุยผลประโยชน์ปชช.
  • \'เท้ง\'ชี้หากมีริบงบฯ ที่\'ภท.\'ตั้งจริง ต้องดูที่มาที่ไป ไม่อยากให้เป็นการเอาคืนทางการเมือง 'เท้ง'ชี้หากมีริบงบฯ ที่'ภท.'ตั้งจริง ต้องดูที่มาที่ไป ไม่อยากให้เป็นการเอาคืนทางการเมือง
  •  

Breaking News

หนุ่มหัวหมอวัย22 งัดตู้บริจาควัด หลังได้ประกันตัวคดีลักทรัพย์24ชม.

‘คปท.’ประกาศ 26 ก.ค.ลุย‘ปราสาทตาเมือนธม’ รวมพลประชาชนรักอธิปไตยประณามกัมพูชา

‘ผบก.อก.ภ.1’นำคณะตรวจโครงการ‘บ้านพักน่าอยู่’ที่สภ.บ้านข่อย-ท่าโขลง จ.ลพบุรี

ตรอ.ระทึก! รถยนต์พุ่งเข้าร้านเสียหายหนัก โชคดีไม่มีคนเจ็บ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved