รัฐบาลยืนยัน! ไทยใช้หลักฐานสู้ด้วยความจริงในเวทีสหประชาชาติ เผยแพร่ข้อเท็จจริงกรณีสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ย้ำจุดยืนสันติภาพภายใต้หลักกฎหมายสากล ชี้ชัดกัมพูชาเปิดฉากยิงก่อน
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ และคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (Permanent Mission of Thailand to the United Nations) ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาคมระหว่างประเทศอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของหลักฐานที่ตรวจสอบได้ ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาได้เลือกใช้กำลังทางทหารก่อนและยังเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการกับข้อพิพาท ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของรัฐภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งยังเป็นการบ่อนทำลายหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในภูมิภาค ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงและเสถียรภาพในอาเซียน
โดยล่าสุด คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ส่งหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย- กัมพูชา ไปยังคณะผู้แทนถาวรและคณะผู้สังเกตการณ์ถาวรประจำสหประชาชาติในนครนิวยอร์กทั้งหมด (Permanent Missions and Permanent Observer Missions to the United Nations in New York) ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ชี้แจงเหตุทุ่นระเบิด เมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม 2568 ขณะทหารไทยลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดนไทย ได้เหยียบทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 ทำให้ทหาร 2 นายพิการถาวร และอีกหลายรายบาดเจ็บสาหัส ทุ่นระเบิดที่พบอยู่ในสภาพใหม่ บ่งชี้ว่าถูกวางไม่นาน ประเทศไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดในคลังทั้งหมดตั้งแต่ปี 2546 และเลิกใช้เพื่อฝึกอบรมในปี 2562 ขณะที่รายงานของกัมพูชาระบุว่ายังคงครอบครองทุ่นระเบิดชนิดนี้อยู่
2.ชี้แจงเหตุโจมตีทางทหาร เมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.20 น.ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงฐานทหารไทยที่ตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ และขยายการโจมตีใน 4 จังหวัดชายแดน คือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 24 ราย (อาการสาหัส 8 ราย) และมีผู้ต้องอพยพกว่า 102,000 คน ซึ่งการโจมตีแบบไม่เลือกเป้า สร้างความเสียหายแก่พลเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียน ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
3.กัมพูชาละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ การกระทำของกัมพูชาถือเป็นการละเมิดมาตรา 2(4) แห่งกฎบัตรสหประชาชาติอย่างชัดเจน ไทยพยายามอดกลั้นอย่างถึงที่สุด แต่จำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเองตามมาตรา 51 โดยการตอบโต้ของไทยมีขอบเขตจำกัด และมุ่งเฉพาะภัยคุกคามที่เกิดขึ้น
4.กัมพูชาละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ไทยประณามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีพลเรือนและโรงพยาบาล ซึ่งละเมิดอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 และ 4 ถือเป็นการกระทำไร้มนุษยธรรม ที่ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้บริสุทธิ์
5.ไทยยึดมั่นสันติวิธี ยืนยันไม่ใช้กำลังในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้กัมพูชาหยุดยิงทันที กลับเข้าสู่การเจรจาผ่านกลไกทวิภาคี เช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ซึ่งกำหนดการประชุมช่วงต้นเดือนกันยายน 2568
"รัฐบาลไทยขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแม้ในขณะที่ประเทศไทยได้แสดงวุฒิภาวะของประเทศที่ยึดมั่นตามหลักกฎหมายและความรับผิดชอบ ฝ่ายกัมพูชากลับเลือกแนวทางที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของภูมิภาค โดยเฉพาะการคร่าชีวิตพลเมืองผู้บริสุทธิ์ และทำลายความไว้วางใจจากนานาชาติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ห่างไกลจากหลักการแห่งสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ" นายจิรายุ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี