7 พฤษภาคม 2568 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จัดโครงการ “ศึกษาและดูงานเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ระหว่างวันที่ 3–5 พฤษภาคม 2568 สำหรับนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) การจัดการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาในภาคสนาม (field study) และการสัมมนาเชิงลึกจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเชิงลึก เกี่ยวกับการประกอบสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของเวียดนาม การสร้างชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของวัฒนธรรมสังคมนิยมภายหลังยุคอาณานิคม โดยมี รศ.ดร.ชนิดา จิตตรุทธะ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทของศรัทธา ความเชื่อ และศาสนา ที่มีต่อการสร้างสิทธิธรรมในการปกครอง และการจัดการวัฒนธรรมองค์การในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม , เพื่อฝึกทักษะการประยุกต์ใช้ทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ กับบริบทจริง ผ่านการสังเกต วิเคราะห์ และอภิปรายจากกรณีศึกษาในภาคสนาม , เพื่อเปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างความสามารถในการทำงานข้ามวัฒนธรรม โดยเรียนรู้จากตัวอย่างการจัดการวัฒนธรรมในเวียดนามกลาง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่นักศึกษาและคณาจารย์ , ตลอดจนถอดบทเรียนจากเวียดนาม ในการจัดการวัฒนธรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเสนอแนวนโยบายเชิงนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของไทย
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน นักศึกษากว่า 20 คน ได้ลงพื้นที่ศึกษาโครงสร้างการบริหารจัดการวัฒนธรรมองค์การทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ผ่านสถานที่สำคัญในเมืองดานังและฮอยอัน เช่น วัดลินห์อึ๋ง, หมู่บ้านฝรั่งเศส, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดานัง, ตลาดฮาน, หมู่บ้านกัมทานห์, เมืองโบราณฮอยอัน, และ สะพานญี่ปุ่น โดยกิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการจัดการทางสังคมอย่างเป็นระบบ
รศ.ดร.ชนิดา จิตตรุทธะ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หนึ่งในหัวใจสำคัญของโครงการศึกษาดูงานในครั้งนี้ คือการเชื่อมโยง ประสบการณ์ตรงของนักศึกษา เข้ากับ หลักการทางรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะความเข้าใจใน อิทธิพลของศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม ที่มีต่อพฤติกรรมขององค์กรและประชาชนในสังคมเวียดนาม ซึ่งเป็นบริบทเฉพาะที่สะท้อนบทบาทของวัฒนธรรมในการกำหนดแนวทางการจัดการของทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
“นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อสำคัญ อาทิ การบริหารจัดการวิสาหกิจเอกชน และ ความร่วมมือภาครัฐกับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่สะท้อนความซับซ้อนของการบริหารจัดการในบริบทวัฒนธรรมที่หลากหลาย” รศ.ดร.ชนิดา กล่าว
พร้อมกันนี้ รศ.ดร.ชนิดา ยังเน้นว่า การได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสสถานที่จริง ไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาเห็นภาพชัดเจนของบริบทวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ ซึมซับความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ และการพัฒนาแนวคิดเชิงนโยบายในรายวิชารัฐประศาสนศาสตร์ได้อย่างลุ่มลึก เพราะประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากภาคสนามเหล่านี้ จะช่วยให้นักศึกษาสามารถถอดบทเรียนเชิงนโยบาย และประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยได้อย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องกับความเป็นจริง
ขณะเดียวกัน การเยี่ยมชม บานาฮิลล์, สะพานสีทอง, และ Fantasy Park ยังทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีคิดของรัฐบาลเวียดนามที่นำ วัฒนธรรมผสมผสาน ระหว่างจีน ฝรั่งเศส และตะวันตก มาพัฒนาเป็นจุดขายทางเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิด “Soft Power” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักรัฐประศาสนศาสตร์ไทยควรศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ในบริบทของประเทศตน
รศ.ดร.ชนิดา ยังระบุอีกว่า การจัดการวัฒนธรรมองค์การในเวียดนาม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีทั้งส่วนที่ ‘คล้ายคลึง’ และ ‘แตกต่าง’ กับประเทศไทย ความคล้ายอยู่ที่ ‘วัฒนธรรมอำนาจ’ ซึ่งมีลักษณะร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ ‘มิติวัฒนธรรมชาติ’ ที่สะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะของเวียดนาม เช่น ศรัทธาในศาสนา รูปแบบพิธีกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับประชาชน และการสร้างประวัติศาสตร์ชาติที่เน้นการพ้นจากอาณานิคมสู่การสถาปนารัฐสมัยใหม่
ในโครงการศึกษาดูงานครั้งนี้ มีการตั้งประเด็นวิชาการชัดเจนในแต่ละพื้นที่ อาทิ บานาฮิลล์ (Ba Na Hills) เมืองดานัง คือการศึกษารูปแบบการจัดการของภาคเอกชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนพื้นที่ที่เคยเป็นสถานที่ตากอากาศของฝรั่งเศสในอดีต สู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่สร้างรายได้มูลค่าสูงให้แก่เวียดนามกลาง ผ่านการบริหารวิสาหกิจเอกชนที่สามารถรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไว้ได้
หมู่บ้านกัมทานห์ ได้สำรวจบทบาทของภาคประชาสังคมที่ใช้ทุนวัฒนธรรมพื้นถิ่น เช่น เรือกระด้ง และเพลงพื้นบ้าน สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และเสริมพลังวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น
เมืองโบราณฮอยอัน (Hoi An Ancient Town) ศึกษากระบวนการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกภายใต้ความร่วมมือระหว่าง UNESCO และรัฐบาลท้องถิ่น โดยเน้นรูปแบบธรรมาภิบาลวัฒนธรรมและการสร้างประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่มีเป้าหมายสร้างอัตลักษณ์ของรัฐเวียดนามยุคใหม่
นอกจากนี้ โครงการนี้ยังสะท้อนแนวคิดสำคัญด้านการใช้ “Soft Power” ในการจัดการวัฒนธรรมและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะการผสมผสานวัฒนธรรมจีน ฝรั่งเศส และตะวันตก เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดแข็งของเวียดนามกลาง และเป็นต้นแบบที่นักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ควรศึกษาอย่างใกล้ชิด
ท้ายที่สุด นักศึกษาทุกคนจะต้องจัดทำ รายงานกลุ่มภายใต้หัวข้อ “การประกอบสร้างรัฐจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม และการจัดการวัฒนธรรมองค์การทั้ง 3 ประเภทของเวียดนาม” เพื่อสะท้อนความเข้าใจจากประสบการณ์ตรง และวิเคราะห์เชิงลึกเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เรียนในรายวิชา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี