ทีมนักวิจัยจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ สังกัดสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ร่วมกับ นางสาวนงนภัส มณี นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พร้อมด้วยนักวิจัยจากหลากหลายสถาบัน ได้แก่ คุณณัฐรดา มิตรปวงชน และ คุณอวัสยา พิมสาย จากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี, ดร.อารีรักษ์ นิลสาย จากมหาวิทยาลัยทักษิณ, Dr. Louis Deharveng และ Dr. Cyrille D’Haese จาก Muséum National d’Histoire Naturelle ประเทศฝรั่งเศส และ Prof. Dr. Satoshi Shimano จากมหาวิทยาลัย Hosei ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการค้นพบ แมลงหางดีดชนิดใหม่ของโลกจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Coecobrya microphthalma sp. nov. จากถ้ำลึก ใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี, Alloscopus sago sp. nov. จากป่าสาคู อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ Alloscopus jantapasoae sp. nov. จากถ้ำลึก ใน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งแมลงทั้งสามชนิดจัดเป็น สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่มีความจำเพาะต่อระบบนิเวศ และไม่สามารถพบได้ในพื้นที่อื่นของโลก
แมลงหางดีดเป็นแมลงโบราณที่เป็นรอยต่อทางวิวัฒนาการระหว่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มครัสเตเชีย (crustacean) และแมลงที่แท้จริง (true-insect) เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก แต่แพร่กระจายได้ในทุกระบบนิเวศของโลก ตั้งแต่ป่าฝนเขตร้อนไปจนถึงขั้วโลก แม้แต่ในทะเลทราย ปากปล่องภูเขาไฟ หรือในถ้ำลึกก็สามารถพบได้ พวกมันมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ทำให้แมลงหางดีดถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้อย่างแม่นยำ
งานวิจัยดังกล่าวยังได้เปิดเผย “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ที่มีต่อสัตว์ในระบบนิเวศถ้ำเขตร้อน โดยใช้แมลงหางดีดเป็นตัวแบบ พบว่าเพียงแค่อุณหภูมิในถ้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม จะส่งผลต่อการวางไข่ การเจริญเติบโตและวงจรชีวิต และหากอุณหภูมิสูงมากกว่า 4 องศาเซลเซียส นำไปสู่การลดลงของประชากรจนถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ การศึกษานี้นับเป็น ครั้งแรกของโลก ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกในระบบนิเวศถ้ำเขตร้อน และสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในฐานะตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างแท้จริง
ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ได้แก่
การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงแต่ตอกย้ำถึง ศักยภาพของคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ในการผลิตองค์ความรู้ใหม่ระดับสากล หากยังเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ความเข้าใจระบบนิเวศ และการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน
ติดตามการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก โดยนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่: www.sci.psu.ac.th/news/category/new-species/ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศและโลกของเราอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี