วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / สกู๊ปพิเศษ
ปัญหา'คนไร้สัญชาติ' 'ผู้ตกสำรวจ'ยังรอความหวัง

ปัญหา'คนไร้สัญชาติ' 'ผู้ตกสำรวจ'ยังรอความหวัง

วันศุกร์ ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
Tag :
  •  

“คนไร้สัญชาติ” ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามแนวชายแดน บทความ “การจัดระบบคนไร้รัฐในบริบทประเทศไทย” โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อ้างอิงข้อมูลที่เคยสำรวจในปี 2553 พบว่า ผู้มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วย “เลขศูนย์ (0)” ซึ่งหมายถึงคนไร้สัญชาติ มีอยู่ทั้งสิ้น 210,182 คน แต่รายงานบางฉบับ เช่น “ห้องเรียนไร้สัญชาติในแม่อาย” โดย กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) คาดว่าอาจสูงถึง 2 ล้านกว่าคน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ “ระบบรัฐสมัยใหม่” ที่มีการลากเส้นเขตแดนและประชากรทุกคนต้องถูกบันทึกประวัติในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เพิ่งใช้ได้ไม่ถึงร้อยปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับสภาพความเป็นจริงของดินแดนต่างๆ ที่ผู้คนเคยเดินทางสัญจร ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอย่างเสรีมาช้านานนับร้อยนับพันปี ดังนั้นเราจะพบปัญหาคนไร้สัญชาติได้เสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่บนเขาบนดอยบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย


พวกเขาไม่ใช่แรงงานข้ามชาติอพยพเข้ามา แต่คือบุคคลดั้งเดิมในประเทศไทย!!!

หากแต่มีความเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ ที่หลายคนให้คำนิยามว่า “ชาวเขา” หรือ “ชาวดอย”!!!

สาเหตุของการไร้สัญชาตินั้นมีหลายประการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดเอกสารที่จำเป็นในการรับรองการเกิดหรือแหล่งกำเนิด เช่น บางคนเกิดที่บ้านหรือในที่ชนบทห่างไกล หรือพ่อแม่ไม่รู้ถึงความจำเป็นของการจดทะเบียนเกิดกับรัฐจึงไม่ไปจดทะเบียนเกิดให้บุตร หรือมีสถานะเป็นผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย หรือเพราะการถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากพื้นเพเผ่าพันธุ์ เป็นต้น

ไม่นานมานี้ เราได้เดินทางไปยัง หมู่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาว “ลาหู่” แต่เพราะพวกเขาเหล่านี้ขาดเอกสารการแสดงตนหรือการมีสถานะบุคคลตามกฎหมาย ทำให้ขาดการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่น สาธารณสุขและการศึกษา

นายสุทิต ซาจ๊ะ ตัวแทนกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่ บอกเล่าเรื่องราวความลำบากของคนไร้สัญชาติ เขากล่าวว่า ครอบครัวของเขามีสมาชิกรวม 6 คน โดยก่อนจะได้รับสัญชาตินั้น แม้กระทั่งการเดินทางออกนอกพื้นที่ยังทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน หากเข้าป่าไปหาของป่า ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับข้อหาบุกรุกป่า และบ่อยครั้งเมื่อพยายามอธิบายให้เจ้าหน้าที่รัฐฟัง ก็ไม่ได้รับความสนใจ

“ก่อนที่จะได้บัตรรับรองสิทธิ์นั้น โดยส่วนตัวผมจะมีปัญหาเรื่องของการเดินทางโดยผ่านทางด่านตรวจ เพราะตอนนั้นผมยังไม่มีบัตรแสดงตัวบุคคล จึงมีความยุ่งยากมากกว่าผู้ที่ได้บัตรมาแล้ว คือจะต้องไปทำเรื่องขอหนังสือเดินทางที่อำเภอเสียก่อนจึงจะสามารถออกนอกเขตพื้นที่ได้

การไปทำเรื่องนั้นถึงแม้มันจะยุ่งยากหน่อยแต่มันก็คุ้มเพราะเราสามารถเดินทางไปทำงานที่อื่นได้ แต่ถ้าเราไม่ไปทำงานที่อื่นเราก็ไม่รู้ว่าบนดอยจะมีอาชีพอะไรให้เราทำ  ถ้าหากเราไปหาของป่าก็จะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไล่จับ และอาจตั้งข้อหาให้เราได้ว่าเราบุกรุกลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งที่จริงแล้วเราอยากจะอธิบายให้เขาฟัง แต่ก็ไม่มีใครฟังเสียงจากเรา” สุทิต กล่าว

กว่าจะได้รับสิทธิที่ควรมีควรได้ สุทิต เล่าว่า ต้องใช้พยายามไม่น้อย โดยเฉพาะการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็น “คนดอย” จนหลายครั้งก็รู้สึกท้อ บ่อยครั้งไปหางานทำก็ไม่ได้เพราะไม่มีประวัติ ไม่มีข้อมูลยืนยันตัวตน ซึ่งก็หวังว่า หลังจากนี้ภาครัฐจะดำเนินการช่วยเหลือบรรดา “ผู้ตกสำรวจ” รายอื่นๆ โดยเร็ว เพราะพวกเขาก็เป็นคนไทยเช่นกัน ไม่ได้ต่างจากคนที่อยู่ตามพื้นราบแต่อย่างใด

“หลังจากที่ได้บัตรมาแล้วผมรู้สึกดีใจมาก เพราะไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย ไม่ต้องรู้สึกกังวลใจเหมือนคนหลบหนีเข้าเมือง ไม่ต้องกลัวด่านตรวจและไม่ถูกรังแก สามารถไปไหนก็ได้ทั่วประเทศไทยโดยไม่ต้องมีใครมาถามอะไรเราเยอะเหมือนก่อน และไม่โดนดูถูกเหยียดหยามเรา และเงินเดือนที่เราทำงานมาได้นั้นก็ได้เท่ากับคนอื่นๆ 

แต่ถึงอย่างไรตัวผมเองก็อาศัยอยู่ในแผ่นดินของเสด็จพ่อหลวง ฉะนั้นบัตรจึงมีความสำคัญกับผมเป็นอย่างมากถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานและยุ่งยากแค่ไหนก็ตาม หากพวกเราไม่มีบัตรก็จะทำให้มีปัญหาตลอดไม่สามารถไปไหนมาไหนได้เหมือนกับคนที่มีบัตรประจำตัว  และที่สำคัญสิทธิที่ได้ของคนไม่มีบัตรจะไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เพราะกว่าจะได้บัตรมานั้นมันใช้เวลานานและยุ่งยากกว่าคนที่อยู่บนพื้นที่ราบถึงอย่างไรตนก็ได้ชื่อว่าคนเขาคนดอย

ที่ผมพูดแบบนี้นั้นไม่ใช่ว่าผมดูถูกตัวเอง แต่เป็นเพราะทุกคนดูถูกพวกเราและเรียกพวกเราแบบนั้น จนบางทีทำให้ผมไม่กล้าที่จะเผชิญกับสายตาของคนเหล่านั้น ผมเพียงแค่อยากจะบอกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่หมู่บ้านผมนั้นยากจนและไม่มีบัตรจึงไม่มีสิทธิที่จะไปทำงานอะไรเพื่อช่วยเหลือทางบ้านได้เลย นอกจากจะไม่มีสัญชาติแล้วเรายังถูกรังแกอย่างไร้ศักดิ์ศรีอีกด้วย ที่ผมบอกว่าถูกรังแกนั้นคือการรังแกโดยการแบ่งชนชั้นนั่นเอง” เขากล่าวย้ำ

 ด้าน นายไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันชาวลาหู่ในพื้นที่ เกินครึ่งได้สัญชาติแล้ว เหลือประมาณไม่ถึงร้อยละ 40 เท่านั้น ซึ่งก็ตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าติดข้อจำกัดอะไรหรือไม่? จึงทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า

“ครอบครัวได้ย้ายมาจากทางฝั่งของพม่าตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เพราะพื้นที่แห่งนี้อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่าสามารถเดินด้วยเท้าข้ามไปได้ มากกว่าครึ่งของคนในหมู่บ้านกองผักปิ้งแห่งนี้ได้สัญชาติแล้ว แต่ยังคงเหลืออีก 40 เปอร์เซ็นต์ที่ยังคงไม่ได้รับสัญชาติซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด เฉพาะตำบลเมืองนะนั้นมีประมาณ 14 หมู่บ้าน แทบทุกหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ที่มีสัญชาติแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร” ไมตรี กล่าวทิ้งท้าย

เนื่องจากไม่มีประเทศใดรับบุคคลไร้สัญชาติเป็นพลเมือง บ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้จึงไม่อาจใช้สิทธิของตนได้เท่ากับบุคคลที่เป็นพลเมืองได้รับ การไร้สัญชาติหมายถึงการอยู่อย่างปราศจากเอกสารประจำตัว คนกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ เช่น เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด

รวมถึงมักไม่ได้รับสิทธิตามหลักมนุษยธรรม เช่น การเข้ารับการดูแลสุขภาพ การศึกษา การครอบครองทรัพย์สินและการเดินทางเคลื่อนย้ายอย่างเสรี เพราะไม่ได้มีการบันทึกประวัติในทางทะเบียน จึงไม่ปรากฎข้อมูลของบุคคลไร้สัญชาติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วตัวตนนั้นมีอยู่ หากแต่ไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย

แม้จะมีความสนใจจากทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาร่วมกันแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราก็ยังคงเห็นว่าปัญหานี้ไม่มีทางหมดไปได้ง่าย คำถามคือ..อะไรคือสาเหตุหรืออุปสรรคจนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ? และเราจะมีวิธีการขจัดอุปสรรคนั้นได้อย่างไร?

นี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันดูแล!!!

  บุษยมาศ  ซองรัมย์

SCOOP@NAEWNA.COM

                                    

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'อดีต ส.ว.สมชาย'สรุปฟังไต่สวนพยานคดีชั้น 14 บอกพยานเท็จอาการหนักมาก!!!

น้ำใจทหารไทย! เปิดด่านฉุกเฉินส่ง'อดีตรองเสธ.กัมพูชา' ป่วยมะเร็ง กลับบ้านอย่างอบอุ่น

ครั้งแรกในรอบ102ปี! 'ฝรั่งเศส'เปิดให้พลเมืองเล่นน้ำในแม่น้ำแซน การันตีคุณภาพน้ำดีเยี่ยม

ไม่ใช่มีแค่ถนนพระราม 2 สะพานพระราม 4 เกิดเหตุป้ายเหล็กขนาดใหญ่ตกใส่รถพังเสียหาย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved