ชาเมี่ยง เป็นผลิตภัณฑ์ชาหมักที่นิยมบริโภคในทางภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตนั้นทุกบ้านจะมีไว้เป็นอาหารว่างและใช้ต้อนรับแขกหรือญาติที่มาเยี่ยมเยือน โดย ชาเมี่ยง ทำมาจากชาหมักพันธุ์อัสสัม (Camellia sinensis var. assamica) เมี่ยงที่หมักแล้วรสชาติจะออกเปรี้ยวๆ ฝาดๆ คล้ายกับของหมักดองทั่วไป ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ เมี่ยงที่ทำจากใบชาอ่อน เรียกว่า “เมี่ยงฝาด” และเมี่ยงที่ทำจากใบชาแก่ เรียกว่า “เมี่ยงส้ม” ส่วนการรับประทานนั้นจะรับประทานแบบใบเมี่ยงเปล่าๆ หรือจะใส่ไส้ลงไปด้วยก็ได้ ไส้เมี่ยงแบบดั้งเดิมจะใส่แค่เกลือเม็ดและขิงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันใส่ทั้งขิงดอง มะพร้าวคั่ว และถั่วลิสงคั่ว สามารถเคี้ยวกลืนได้ทั้งหมดไม่ต้องคายกากทิ้งหรือบ้วนน้ำทิ้งเหมือนกับหมาก
ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของชาเมี่ยงนี้ โดยพบว่าชาเมี่ยงมีสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านจุลชีพ ซึ่งสารที่พบมากคือ สารคาเทชิน (catechin) และอนุพันธ์ของสารคาเทชิน เช่น (-)-Epigallocatechin Gallate (EGCG), (-)-Epigallocatechin (EGC), (-)-Epicatechin Gallate (ECG) และ(-)-Epicatechin (EC) เป็นต้น สารเหล่านี้โดยเฉพาะEGCG มีฤทธิ์ในการยับยั้งมะเร็งด้วยกลไกที่หลากหลายนอกจากนี้ EGCG ยังช่วยลดการสะสมและการสร้างตะกอนในเส้นเลือดจากคอเลสเตอรอล ลดการเกิดเส้นเลือดแข็งตัวตีบตัน ทำให้ลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและภาวะจากไขมันในเลือดสูง ในชาเมี่ยงพบ EGCG ระหว่างร้อยละ 0.02-2.71 ต่อน้ำหนักแห้ง ส่วนคาเทชินมีส่วนช่วยในการลดการเกร็งของเลือดฝอย ลดการเกิดตะกอนในเส้นเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด ซึ่งจะพบในปริมาณร้อยละ 0.77-5.38 ต่อน้ำหนักแห้ง นอกจากนี้ยังพบกาเฟอีน (caffeine) อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 0.72-1.43 ต่อน้ำหนักแห้ง โดยปริมาณสารสำคัญที่พบจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของใบชา ช่วงเวลา ที่เก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว หรือกระบวนการผลิต เมี่ยง เป็นต้น
ชาเมี่ยงนั้นถือเป็นพืชที่กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากเกษตรกรบนพื้นที่สูงหันไปปลูกพืชอื่นแทน เพราะความต้องการของตลาดในปัจจุบันลดลง แม้ว่า ชาเมี่ยง ยังมีความสำคัญในการจัดงานบุญหรือพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทุกอย่างในภาคเหนือ เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานฉลององค์ผ้าป่า และกฐินแต่ในปัจจุบันกลับไม่เป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากมีรสขมลักษณะไม่น่ารับประทาน ทำให้ต้องพัฒนารูปลักษณ์ต่อยอดชาเมี่ยงเดิมให้ทันสมัยและมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อพัฒนาให้ชาเมี่ยงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
สายลม สัมพันธ์เวชโสภา, พรทิพย์ สุมนพันธุ์ และ ณัฏญา เลาหกุลจิตต์. 2556. ปริมาณสาร caffeine และ catechins ในเมี่ยงจาก แหล่งผลิตหลักของประเทศไทย, Agricultural Sci. J., 44(2), pp. 597-600. Atomssa, T. and Gholap, A.V., 2015. Characterization and determination of catechins in green tea leaves using UV-visible spectrometer. J. Eng. Technol. Res., 1(7), pp. 22-31. Jigisha, A., et al., 2012. Green tea: A magical herb with miraculous outcomes. Int. Res. J. Pharm., 5(3), pp. 139- 148. Panee, S., et al., 2017. Biological evaluation and application of fermented Miang (Camellia sinensis Var. assamica (J.W.Mast.) Kitam.) for tea production. J. Food Nutr. Res., 5(1), pp. 48-53. Okada, S., et al., 1986. Flora of acetic acid bacteria in Miang produced in Northern Thailand. J. Gen. Appl. Microbiol., 32(1), pp. 57–65.
กรองกาญจน์ กิ่งแก้ว
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี