31 มี.ค. 59 จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดงกลุ่มงานสืบสวน สภ.จว.พิษณุโลก ก่อเหตุทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธปืนข่มขู่ 5 นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ต่อมา เพจเฟซบุ๊ก "ทนายคู่ใจ" จึงโพสต์ให้ความรู้และแนะนำวิธีการเอาตัวรอดและรับมือกับตำรวจนอกกฎหมาย ซึ่งสามารถนำเอาไปปฏิบัติเมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ โดยมีด้วยกันทั้งหมด 8 ขั้นตอน ดังนี้
วิธีเอาตัวรอดจากตำรวจนอกกฎหมาย
1.ตั้งสติครับ โทรหาเพื่อนหรือญาติผู้ใหญ่หรือทนายความ (ที่รู้จัก) ถ้ามีโอกาสเพื่อให้ตำรวจหรือคนร้ายรู้ว่าถ้าลงมือหนักกว่านี้เรื่องไม่เงียบแน่
2.พยายามถ่ายคลิปวิดีโอจากมือถือให้ได้ และถ้าตำรวจหรือคนร้ายจะมาหักหรือลบข้อมูลในมือถือโดยอ้างกฎหมายอันนี้ทำไม่ได้ถือเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ อย่าหลงเชื่อว่ามีกฎหมายห้ามถ่ายคลิปตำรวจแต่การเผยแพร่ต่อจะผิดหรือไม่นั้นต้องดูอีกทีนะ นี่แค่ถ่ายและต้องถ่ายเพราะเราเป็นคู่กรณีโดยตรงมีสิทธิปกป้องชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินเราตามรัฐธรรมนูญ
3.รวบรวมความกล้าสอบถามชื่อตำรวจหรือคนร้ายว่าสังกัดไหนหน่วยงานไหนแน่ ถ้าไม่บอกก็อย่าไปแหย่เดี๋ยวจะซวยเหมือนน้องนักศึกษาพิษณุโลก
4.พยายามจดจำรายละเอียดของตำรวจหรือคนร้ายให้ได้ว่ามีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ใส่เสื้อสีอะไร เสียงพูดจาอย่างไร ใช้รถยนต์ยี่ห้อไหนสีอะไร แผ่นป้ายทะเบียนอะไร(ถึงจะปลอมมาสืบสวนคดีก็ช่างมัน ในทางสืบสวนของตำรวจเขาก็ยังตามเช็คกันได้)
5.เมื่อผ่านพ้นไปแล้วยังมีชีวิตรอดอยู่ก็ปรึกษาญาติพี่น้องครับ ผมเน้นเรื่องการปรึกษาก่อนนะเนื่องจากว่าหัวเดียวกระเทียมลีบนี่จะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าเก็บเรื่องไว้คนเดียวครับเรื่องระดับนี้ต้องปรึกษาญาติผู้ใหญ่ บางทีเพื่อนก็อาจจะช่วยอะไรได้ไม่มากถ้ายังมีแต่เด็กๆหรือวุฒิภาวะน้อย จะปรึกษาทางทนายคู่ใจก็ยินดีว่าจะทำอย่างไรครับ
6.รวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทางท้องที่ๆเกิดเหตุ ถ้าไม่กล้าให้ไปยื่นที่ผู้การจังหวัดนั้นๆ เช่นถ้าเหตุเกิดที่พิษณุโลกก็ไปร้องเรียนที่ท่านผู้การที่ดูแลตำรวจในพิษณุโลก เพื่อให้ท่านชี้แนะและสั่งการลูกน้องไว้ เวลาเราย้อนกลับมาแจ้งความหรือสอบปากคำจะได้มีตำรวจดีๆรับรู้ ไม่ใช่ไปแจ้งแล้วหายไปเลย หายไปไหนไม่รู้
7.เดี๋ยวนี้กระแสโซเซียลมันแรงพยายามส่งเรื่องต่อๆกันถ้ามีคลิปจะดีมาก ถ้าไม่มีอย่างน้อยควรมีรูปภาพ อย่าไปกลัวว่าจะถูกฟ้องหมิ่นประมาท เพราะเรามีสิทธิพูดนี่เป็นเรื่องของภัยสังคมซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษในคดีหมิ่นประมาทได้ มันเป็นประโยชน์สาธารณะที่จะทำให้ตำรวจหรือคนร้ายกลุ่มนี้ไม่ไปทำร้ายคนอื่นต่อ
8. นอกจากแจ้งความดำเนินคดีอาญาแล้ว อย่าลืมทำเป็นหนังสือยื่นสอบสวนวินัยราชการตำรวจหรือคนร้ายด้วย ตำรวจไม่ค่อยกลัวคดีอาญาหรอกแต่กลัวเรื่องโทษทางวินัยเพราะถ้าผิดผู้บังคับบัญชาเขาสั่งออกจากราชการระหว่างสอบสวนได้เลย แบบกรณี 3 ตำรวจพิษณุโลกไงครับ อย่าพลาดขั้นตอนนี้เด็ดขาด
และสุดท้ายถ้าไม่รู้จะปรึกษาใครก็โทรหาผมได้ที่ 092-4533393 หรือผ่าน Line พิมพ์ @Freelaw
ขอบคุณ : ทนายคู่ใจ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี