เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ แถลงข่าวเปิด “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” (โครงการดีอาร์บิส)
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า วัตถุประสงค์โครงการนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้ และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างบูรณาการ ซึ่งจะช่วยลดเวลาให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ผ่านแนวทางแก้ไขหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงร่วมกันในรูปแบบมาตรฐาน และการกำหนดบทบาทของเจ้าหนี้หลักในการดูแลลูกหนี้และประสานกับเจ้าหนี้อื่น ทำให้การตัดสินใจแก้ไขหนี้ทำได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ ให้ธุรกิจของลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้ตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป
สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ DR BIZ เป็นกลุ่มที่ยังคงมีศักยภาพแต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบจากไวรัสโควิด-19โดยสถาบันการเงินจะมีเครื่องมือและแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวด หรือการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ให้สอดรับกับธุรกิจของลูกหนี้ รวมทั้งการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ มีแผนธุรกิจชัดเจน มีพฤติกรรมชำระหนี้ดีและมีความตั้งใจในการทำธุรกิจ
โดยในระยะแรกเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมุ่งกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายวงเงินรวมกันตั้งแต่50-500 ล้านบาท และสามารถใช้แนวทางที่กำหนดร่วมกันดังกล่าวขยายผลไปยังกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินขนาดอื่นได้ต่อไป ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการทำได้โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสมัครโดยตรงกับสถาบันการเงินหลักที่ใช้บริการหรือสถาบันการเงินแจ้งเชิญลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
ปัจจุบันลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายวงเงินรวมหนี้ตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท ประมาณ 8,400 คนคิดเป็นเม็ดเงินรวมเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท โดยโครงการDR BIZ จะเป็นการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย อาทิ ผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม ตลอดจนให้สินเชื่อใหม่ ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานและกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ หรือภายใน 1 เดือน หลังได้รับข้อมูลและเอกสารจากลูกหนี้ครบถ้วน ซึ่งคาดว่าจะมีลูกหนี้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
นายวิรไทยังแสดงความเห็นถึง กรอบตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยที่วางกรอบไม่ควรเกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า เป็นตัวเลขที่กำหนดเป็นกรอบไว้ในช่วงภาวะปกติ ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤติจากผลกระทบโควิดขณะนี้ ผู้ที่มีความสามารถพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คือ ภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการออกมาตรการทางการคลัง ผ่านโครงการต่างๆ ดังนั้นจึงไม่อยากให้หลายฝ่ายกังวลที่ตัวเลขเพดานมากเกินไป เพราะขณะนี้สถานการณ์ไม่ปกติและเกิดขึ้นทั่วโลก
พร้อมย้ำว่าการใช้จ่ายของภาครัฐต้องคำนึงถึงความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ซึ่งต้องวางแผนแนวทางหารายได้เพิ่มให้สอดคล้องกับการชำระหนี้ที่ก่อขึ้น เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี