นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” ว่า ธปท. คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา และอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทั้งการจำกัดการเคลื่อนที่ การงดเดินทาง การเว้นระยะห่าง ลดการรวมตัว เป็นต้น ถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร บริษัทนำเที่ยวสายการบิน และอื่นๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงเพิ่งเริ่มดำเนินการได้เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2564
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน พ.ค. ปี 2564 โดยระบุว่า ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีมีปัจจัยบวกสนับสนุนจาก ภาคการส่งออกสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวที่สูงต่อเนื่องในอัตราที่สูง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนพ.ค.ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 41.6 ต่อปี
สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนพ.ค. 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (ThailandPrivilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 6,052 คนโดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอาเซียน ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยขยายตัวร้อยละ 140.2 ต่อปีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่าระดับราคาสินค้าจะมีราคาสูงขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 54.9 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 251.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ