ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สำรวจแหล่งแร่ลิเธียม เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
21 พ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน การศึกษาสำรวจเก็บข้อมูลการเจาะสำรวจ (ชนิดแร่ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว ทังสเตน เหล็ก) ของบริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม จำกัด พื้นที่อาชญาบัตรพิเศษ ที่ 1-3/2562 ตำบลท่าอยู่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยบริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ ประกอบด้วย ชนิดแร่ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว ทังสเตน และ เหล็ก ได้รับอนุญาตอาชญาบัตร จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และได้รับอาชญาบัตร จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา ซึ่งจากการสำรวจลักษณะบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พบว่า มีลักษณะ ประกอบด้วย หินกรวดมนเล็กและหินกรวดมนใหญ่ ชั้นหนาถึงหนามาก หินโคลนชั้นบาง หินทรายแป้งสลับกับหินโคลน หินทราย หินเชิร์ต หินทรายแป้งและหินโคลนปนกรวด โดยตะกอนทั้งหมดวางบนหินแกรนิต ยุค Cretaceous ซึ่งหินที่พบเป็นหินแกรนิตที่มีแร่ดอกเป็นไบโอไทต์-ฮอร์นเบลนด์ โดยมีแร่ทัวร์มาลีน เกิดร่วมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังการบรรยายลักษณะธรณีวิทยา แนวโน้มในการพัฒนาแหล่งแร่ในเชิงพาณิชย์ ของแหล่งแร่พื้นที่สำรวจ ตลอดจนรับฟังปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอด ในการสำรวจเพื่อหาแหล่งแร่ลิเทียมที่พบในพื้นที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการสำรวจแหล่งแร่สำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังเร่งปรับตัวตามนโยบายการสนับสนุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายสำคัญว่า รถที่จะจดทะเบียนใหม่จะต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ที่มีการปลดปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (ZEV) ภายในปี ค.ศ. 2035 ดังนั้นจึงส่งผลให้ความต้องการแบตเตอรี่ชนิดอัดประจุไฟใหม่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะเป็นหน่วยงานจัดหาวัตถุดิบอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อรองรับการผลิตแบตเตอรี่ชนิดใหม่ ๆ ที่จะสร้างโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการนำแร่มาประยุกต์ใช้สำหรับรองรับยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพรวมไปถึงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของแหล่งวัตถุดิบปริมาณการผลิตเทคโนโลยีการผลิตคุณลักษณะของแร่ โลหะ วัตถุดิบทดแทนที่ผลิตได้ความต้องการใช้วัตถุดิบรวมถึงข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดต่างๆ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมในเบื้องต้นในการนำแร่ โลหะวัตถุดิบทดแทนที่มีภายในประเทศมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตพร้อมทั้งทำการคัดเลือกเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ยังไม่มีภายในประเทศ เพื่อทำการศึกษาวิจัยและทดลองนำวัตถุดิบหรือสารเคมีจากแร่โพแทสและเกลือหินมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่และแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตลอดทั้งประเมินความคุ้มค่าทาง เศรษฐศาสตร์ห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่จากสินแร่ไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคตจากวัตถุดิบที่สามารถหาได้ภายในประเทศ
-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี