“Net Zero” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หมายถึงกิจกรรมหรือกระบวนการผลิตต่างๆ จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกต่อไป กับ “Carbon neutrality” หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึง การกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา เป็น 2 คำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในระยะหลังๆ เมื่อมนุษยชาติต้องเผชิญกับ “Climate Change” หรือความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ที่ปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่เกิดขึ้นตามฤดูกาลอย่างที่คุ้นเคย และภัยธรรมชาติก็รุนแรงขึ้นอีกทั้งยังคาดเดาล่วงหน้าได้ยากแม้มนุษย์จะมีความเจริญทางเทคโนโลยีก็ตาม
ในการประชุม “COP26” หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เมื่อปลายปี 2564 คาดหวังให้แต่ละชาติตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) เพื่อให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือประมาณ 300 ปีที่แล้ว ซึ่งสำหรับประเทศไทย ให้ให้คำมั่นในการประชุมครั้งนี้ว่า จะบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)
เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวของประเทศเกิดขึ้นได้จริง “ปตท.” ในฐานะที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของไทย จึงเดินหน้ากลยุทธ์ “3P” ประกอบด้วย 1.Pursuit of Lower Emissions อาทิ การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) เริ่มทำโครงการนำร่องแล้ว ณ “แหล่งอาทิตย์” ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เบิ้องต้นพบว่ากักเก็บได้ 1 ล้านตันคาร์บอน
หรือ การดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization : CCU) คาร์บอนสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตสารที่เป็นประโยชน์ได้หลายชนิด เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต เอทานอล นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่ง ปตท. มีแผนลงทุน 4 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ปตท. ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 0.5 ต่อปี
เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy in Operation) ในทุกบริษัทในเครือ ปตท. ตั้งเป้าลดให้ได้ 1 ล้านตันคาร์บอน และ พัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรจน (Hydrogen) เริ่มมีโครงการหาทางนำใช้ควบคู่กับก๊าซธรรมชาติแล้ว คาดว่าจะใช้ได้ 1.2 แสนตัน/ปี 2.Portfolio Transformation ปตท. วางเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2030 (พ.ศ.2573) และปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยจะลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติลงเรื่อยๆ ไปตามลำดับ ส่วนพลังงานทดแทน ภายในปี 2030 จะลงทุนให้ได้ 2,000 เมกะวัตต์
และ 3.Partnership with Nature and Society ที่ผ่านมา ปตท. ปลูกป่ามาแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ในพื้นที่ 54 จังหวัด จากนั้นได้ให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าไปศึกษาว่าป่าที่ปลูกนี้ให้อะไรบ้าง พบว่า สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.1 ล้านตัน/ปี และปล่อยออกซิเจนได้ 2 ล้านตัน/ปี นอกจากนั้นยังเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผู้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับป่าด้วย เช่น หาของป่า ใช้ป่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นมูลค่าได้ถึง 280 ล้านบาท/ปี
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ปตท. ยังจับมือกับ ENVISION DIGITAL INTERNATIONAL PTE. LTD. บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อลดคาร์บอน ภายใต้กลุ่มบริษัท Envision ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “Collaboration in Future Energy Transition by Decarbonization Platform” ศึกษาและทดลองการใช้งานแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ภายในพื้นที่ของกลุ่ม ปตท.
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาระบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงาน รวมถึงประเมินความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ทดลองของโครงการ โดยได้ริเริ่มนำแพลตฟอร์ม EnOSTM ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ AloT ของ Envision Digital มาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงานหมุนเวียนภายในอาคารต้นแบบ M4 ที่สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง
ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำ แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าภายในวิทยาเขตของสถาบันฯ โดยสามารถตรวจสอบและควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำมาปรับใช้งานทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้อาคารดังกล่าวเป็นอาคาร Zero Import ทั้งหมด ซึ่งในอนาคต หากประสบความสำเร็จก็จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
ขณะที่ นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามทิศทางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ของ ปตท. ได้มีการจัดตั้ง บริษัท เมฆา วี จำกัด (Mekha V) เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ AI และ Robotic ในด้านต่างๆ อาทิ PowerTECH, HealthTECH, MobilityTECH, IndustrialTECH และ SoftpowerTECH ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ Cloud โดยบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด (MekhaTech)
และดำเนินธุรกรรมซื้อขาย Renewable Energy Certificate (REC) ผ่านแพลตฟอร์มในนามของ บริษัท รี แอค จำกัด (ReAcc) โดยความร่วมมือกับ Envision Digital ในครั้งนี้ถือเป็นขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องกับด้าน PowerTECH และในฐานะที่ Mekha V เป็นบริษัทเรือธง (Flagship) ในด้าน AI และ Robotic จึงทำให้บริษัทฯ เป็นตัวแทน กลุ่ม ปตท. ในการศึกษาและทดลองโครงการดังกล่าวร่วมกับ Envision Digital เพื่อสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลและแพลตฟอร์มต่อไปในอนาคต
อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมเจตนารมณ์ของ กลุ่ม ปตท. ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยภายในปี 2065 ด้วย