นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แถลงผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2565 และทิศทางปี 2566 โดยระบุว่าจากภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ปี 2565เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 74.26% ซึ่งจากการที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จากที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถัง 15 กก.มาอยู่ที่ 408 บาท/ถัง และตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทลิตร ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีสถานะติดลบกว่า 130,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ออก พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของ สกนช. กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้สกนช.ได้ดำเนินการกู้กับธนาคารกรุงไทยและธนาคารเงินรอบแรก 30,000 ล้านบาท ส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ติดลบที่ 121,491 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม 2565 ราคาน้ำมันโลกเริ่มอ่อนตัวทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เก็บเงินเข้ากองทุนฯได้เพิ่มประมาณ 8,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนเริ่มมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จะมีการเสนอ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังขอกู้อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อทยอยคืนเงินโดยเป็นการกู้ตามกรอบวงเงินที่ยังสามารถกู้ได้เพิ่มอีก 1.2 แสนล้านบาท
นายวิศักดิ์กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมัน ไม่มีความผันผวนมากกว่าที่เคยเป็น จะสามารถดำเนินการชำระหนี้คืนตามที่เคยเสนอเข้าครม.ที่ต้องจ่ายคืนภายใน 7 ปี แต่ยืนยันว่าจะจ่ายให้เร็วที่สุด เพื่อเสียดอกให้น้อยที่สุด ทุกเดือนมีการจ่ายคืนแล้วแต่วงเงิน นอกจากนี้ ในปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสวนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567
“ปี’66 สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยืนยันจะบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนฯเพื่อรักษาเสถียรภาพ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความผันผวน จากการสู้รบในรัสเซีย-ยูเครน และด้านเศรษฐกิจ” นายวิศักดิ์ กล่าว