นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 107.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 101.86 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 5.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารที่ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับฐานราคาในเดือนธันวาคม 2564 ไม่สูงมากนัก และอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และผลไม้สด เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 6.08 ซึ่งใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ และเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศที่เริ่มชะลอตัวลง (ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก และอินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นร้อยละ 5.89 (YoY) ในเดือนนี้ สาเหตุสำคัญมาจากสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.87 (YoY) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้นร้อยละ 14.62 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ตลอดจนค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) ยาสีฟัน แชมพูสระผม และค่าแต่งผมชาย-สตรี ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้าผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 8.87 (YoY) โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้นร้อยละ 9.66 อาทิ ข้าวราดแกง อาหารเช้า ก๋วยเตี๋ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และข้าวสาร ราคายังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ขณะที่ผักและผลไม้บางประเภทราคาลดลง อาทิ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริกสด ผักกาดขาว มะขามเปียก มะพร้าวแห้ง/ขูด กล้วยน้ำว้า และทุเรียน
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 3.23 (YoY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 3.22 (YoY) ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.30 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อและกางเกงบุรุษ) ตู้เย็น น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม และผงซักฟอก
สำหรับสินค้าสำคัญในกลุ่มอาหารที่ราคาปรับลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไก่ย่าง ไข่ไก่ ส้มเขียวหวาน ชมพู่ ฝรั่ง กล้วยน้ำว้ามะขามเปียก และน้ำมันพืช ขณะที่สินค้าอื่นๆ ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาทิ ข้าวสาร ผักสดบางชนิด(ผักชี ผักบุ้ง ผักคะน้า)กาแฟผงสำเร็จรูป อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และค่าโดยสารสาธารณะ
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2565 อย่างชัดเจน เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่เริ่มทรงตัวและบางรายการปรับลดลงหลังจากที่ทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนแล้วในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มชะลอตัวตามอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ฐานราคาในปี 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ขยายตัวไม่มากนัก กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ2.0-3.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบ และเงินบาทที่ยังผันผวน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อปี 2566 ได้แก่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก จากความเสี่ยงของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 49.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ระดับสูงที่สุดและเป็นการปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 43 เดือน (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562) ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมาตรการของภาครัฐที่ส่งผลให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจมีรายได้ และกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี