นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หลังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (อีวีบอร์ด) มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในการยกระดับศักยภาพในหลายมิติ กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้เตรียมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ และผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต ดังนี้ รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ สิทธิเงินอุดหนุน ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kwh แต่ไม่เกิน 50 kwh ปี 2567-2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน ปี 2569 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน ปี 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป ปี 2567-2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ปี 2569 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน ปี 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกิน 40% (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567-2568) สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ในปี 2567-2570 รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% ในปี 2567-2568 และอัตราภาษี 2% ในปี 2569-2570 รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kwh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิต เหลือ 1% ในปี 2567-2570
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567-2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) หรือผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
สำหรับแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1.ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิฯ และมีการทำข้อตกลง (MOU) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 ร่วมกับกรมสรรพสามิต 2.เมื่อได้รับการอนุมัติสิทธิแล้ว ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องได้รับอนุมัติราคาขายปลีกแนะนำและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติยานยนต์ไฟฟ้าก่อนเริ่มขายรถรุ่นนั้นๆ 3.กรณีนำเข้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 ให้แล้วเสร็จก่อนการนำเข้า จึงจะสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้ามาขอรับสิทธิทางภาษีได้ 4.การขอรับเงินอุดหนุนหลังจากการจำหน่ายและจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด 5.สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขการผลิตชดเชยบทลงโทษ ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ ตามมาตรการ EV3.5 ให้เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี