ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมประชุมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง ที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อหาแนวทาง ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้นายพิชัย ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากผลกระทบดังกล่าวกระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยในเบื้องต้นกำหนดกรอบโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น
สำหรับโครงการ สินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท ได้การกำหนด กลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2.ธุรกิจ Supply Chain และ 3. ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา
“ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ ซึ่ง Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท ก้อนนี้ เพื่อนำไปปล่อยก็อาจจะต้องลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าปกติ 2-3% วันนี้ได้สั่งการบ้านให้สถาบันการเงินของรัฐไปแล้ว และให้รีบส่งการบ้านมาโดยเร็ว และคาดว่าจะวามรถดำเนินการได้ก่อนครบ 90 วัน (9 ก.ค.) ที่เป็นเส้นตายที่สหรัฐฯยืดเวลาขึ้นภาษีแบบตอบโต้กับไทย”นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นแนวทางในการดำเนินการในเฟสแรก ในเฟสต่อไปมาตรการต่างๆก็จะให้ครอบคลุมถึงพนักงาน ลุกจ้างของกิจการส่งงออก บริษัทที่อยู่กลุ่มซัพพลายเชนของสินค้าส่งออกที่ได้รับกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงต่อจากนี้ก็จะเข้าไปหารือกับธนาคารพณิชย์ด้วยว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯได้อย่างไรบ้าง จะให้รัฐช่วยอย่างไรก็ให้ทำตัวเลขมา ส่วนวงเงินที่จะใช้สำหรับรับมือผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯและกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมากกว่า 1 แสนล้านบาทหรือไม่ อันนี้ก็ต้องรอดูตัวเลขผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงก่อน รวมถึงเงินที่จะต้องใช้สำหรับมาตรการเพื่อกระตุ้นในภาคการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี