ll ปี 2566 นับการภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนมากที่สุดนับตั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง และมีการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวการต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 28,042,131 คนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 151% สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.มาเลเซีย 4,563,020 คน 2.จีน 3,519,735 คน 3.เกาหลีใต้1,658,688 คน 4.อินเดีย 1,626,720 คน และ5.รัสเซีย 1,481,878 คน
นอกจากธุรกิจโรงแรม ธุรกิจค้าปลีกธุรกิจบริการ และอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับอานิสงส์นี้ อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกันก็คือธุรกิจสายการบิน ซึ่งในปี 2566 สายการบินหลักๆ ที่ทำการบินอยู่ในประเทศไทยล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นชัดเจนนับตั้งปี 2563-2565
เริ่มจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินไทย และบริษัทย่อยที่มีผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 161,067 ล้านบาท เป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% โดยรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของปี 2566 ดังกล่าว เพิ่มขึ้น 53.3% จากปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 87% ของปี 2562 (ก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2566 มีค่าใช้จ่ายไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 120,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากปี 2565) โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 32,414ล้านบาท และมี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทฯ ต้องมี EBITDA จากการดำเนินงานในส่วนของการบินไทยหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานถึงผลสำเร็จการฟื้นฟูกิจการ
ในปี 2566 การบินไทย มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 65.4%มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (CabinFactor) เฉลี่ย 79.7% สูงกว่าปี 2565 ที่เฉลี่ยเท่ากับ 67.9% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 13.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52.7% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 40.9% ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 15.4% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.7%
ขณะที่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบิน ในปี 2566 มีรายได้รวมเท่ากับ 21,732.5 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 70.06% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน 68.6% หรือรายได้จำนวน 14,913.8 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 76.5% จากยอดผู้โดยสารที่ใช้บริการกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่มีปริมาณเติบโตสูงขึ้น และมีอัตราราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 3,756 บาท และมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 3,044.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,934 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและบริการในสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 4,269.5 ล้านบาททั้งนี้ เป็นกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 3,110 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.49 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 18,646.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.4%จากปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นต้นทุนขาย
ขณะที่นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินโลกในช่วงไตรมาสที่ 4ปี 2566 มีอัตราฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มธุรกิจบริการอากาศยานมีการเติบโตที่สูงขึ้นโดยอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometer: RPK) ของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการเติบโตมากที่สุดเฉลี่ย 77.2% จากปัจจัยหนุนต่างๆ อาทิ นโยบายการเปิดประเทศของจีนวันหยุดยาวและช่วงเทศกาลต่างๆ
ทั้งนี้เพื่อตอบรับอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีแนวโน้มความต้องการเดินทางสูง อาทิ กรุงเทพฯ-สมุย กรุงเทพ-ภูเก็ตภูเก็ต-สมุย และสมุย-สิงคโปร์ รวมถึงเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ ลำปาง-แม่ฮ่องสอน และ สมุย-ดอนเมือง ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารจำนวน 3.97 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้น 49.5%เทียบกับปี 2565 และฟื้นตัวได้ 67.7% ของช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่มาจากจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ผ่านเว็บไซต์และระบบเชื่อมต่อตรงกับบริษัทฯ คิดเป็น 44%รองลงมาได้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากทวีปยุโรป คิดเป็น 19% ของผู้โดยสารทั้งหมด โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 79.2%
ส่วน บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน บจ. ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) หรือ สายการบินแอร์เอเชีย ในปี2566 มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 41,241.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% เทียบกับปีก่อน โดยมี EBITDA อยู่ที่ 7,032.4 ล้านบาทและรายงานกำไรสุทธิ 465.8 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน (8,214.4) ล้านบาทในปี 2565 โดยขนส่งผู้โดยสารตลอดปี 18.9 ล้านคน เติบโต 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 90% และสัดส่วนผู้โดยสารในประเทศ 63% และระหว่างประเทศ 37%
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และบจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ตลอดปี 2566 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวคึกคัก โดยบรรลุเป้าหมายในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวน 28 ล้านคน หนุนจากการเปิดพรมแดนของประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศหลักประเทศสุดท้าย และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นเห็นภาพการท่องเที่ยวที่คึกคักชัดเจน โดยเฉพาะตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในเดือนธันวาคมไทยแอร์เอเชียเพิ่มเที่ยวบินจากทั่วทุกภาคเข้าสู่เมืองเชียงใหม่กว่าสัปดาห์ละ 200 เที่ยวบิน เช่นเดียวกับจังหวัดภูเก็ต ที่เพิ่มเที่ยวบินให้บริการกว่าสัปดาห์ละ 144 เที่ยวบิน”
ทั้งนี้ ในปี 2567 มองว่าจะเป็นปีที่ดีของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ การกลับมาของตลาดจีน เเละเส้นทางบินใหม่ๆ ที่ไทยแอร์เอเชียเปิดให้บริการเเล้ว อาทิ จากดอนเมืองสู่เซี่ยงไฮ้ เกาสง เเละล่าสุด โอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชีย คาดจะขนส่งผู้โดยสาร 20-21 ล้านคนในปี 2567 โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียง 90% ตั้งเป้ารายได้จากการขายและบริการเติบโต 20-23% จากปี 2566 และขยายฝูงบินเป็น 60 ลำภายในสิ้นปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี