นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตลาดการเงินในเดือนที่ผ่านมาผันผวนค่อนข้างสูง ทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดยมีเหตุการณ์สำคัญ คือ สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งทำให้ตลาดปรับมุมมองการดำเนินนโยบายของ Fed และล่าสุดคือการแทรกแซงค่าเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินบาทเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็ว โดยหลังเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน เงินบาทอ่อนค่าราว 1.6% อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่านี้ยังใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สำหรับทั้งปี 2024 ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าถึง7.6% ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเป็นรองแค่เงินเยนที่อ่อนค่าถึง 9.2% นอกจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก(Geopolitical risk) แล้ว แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ก็ส่งผลต่อเงินบาทเช่นกันโดยคณะกรรมการ Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดประเมิน ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเพิ่มเติม และสุดท้าย การอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นในภูมิภาคทั้งเงินหยวนและเงินเยน ก็เป็นปัจจัยกดดันให้บาทอ่อนค่าตามเช่นกัน
สำหรับมุมมองในระยะต่อไป มองเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยมองเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 36.80-37.30 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ เนื่องจาก 1.เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ลดลงช้าและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้นโยบายการเงินของ Fed และธนาคารกลางหลักอื่นอาจแตกต่างกันมากขึ้น โดย Fed อาจลดดอกเบี้ยช่วง Q3 ขณะที่ ECB อาจลดดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าต่อ กดดันสกุลเงินอื่นในภูมิภาคและเงินบาท 2. ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า โดย SCB FM พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันและค่าเงินบาทสูงขึ้นนับตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 เนื่องจากสัดส่วนสินค้ากลุ่มพลังงานต่อดุลการค้าไทยเพิ่มขึ้น และ3.แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทต่างชาติมักส่งเงินกลับ ทำให้อาจกดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย ล่าสุดตลาดมอง กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ โดยให้โอกาสที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยภายในปีนี้เพียง 50% เท่านั้น โดยในการประชุม Analyst meeting สัปดาห์ที่แล้ว ธปท. ยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย แต่กล่าวว่าระดับอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว และเศรษฐกิจจะยังขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ซึ่งหากดูการขยายตัวแบบเทียบต่อไตรมาส ธปท. ก็ยังมองว่าอยู่ในเกณฑ์ดี จึงทำให้ความจำเป็นที่ต้องลดดอกเบี้ยยังน้อย นอกจากนี้ ธปท. มองว่าการลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลง โดยถึงแม้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ในระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่า โอกาสที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ยังมีอยู่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ(Neutral rate) ลดลงตามโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี