‘ตลาดปลาสวยงาม’ของไทย ขึ้นอันดับ 3 จีนสั่งนำเข้า รัฐบาลพร้อมเดินหน้าส่งเสริมการส่งออก ยกระดับภาพลักษณ์ปลาสวยงามไทยสู่ตลาดโลก
27 เมษายน 2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์รายงานผลการดำเนินนโยบายสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ทูตพาณิชย์ประจำอยู่ พบว่า อุตสาหกรรมปลาสวยงามของจีน ได้พัฒนาและเติบโตจนกลายเป็นอุตสาหกรรมระดับหมื่นล้านหยวน (4.76 หมื่นล้านบาท) โดยปลาสวยงามแบ่งออกเป็นปลาสวยงามน้ำจืดและปลาสวยงามน้ำทะเล โดยปลาสวยงามน้ำจืดครองสัดส่วนตลาดสูงสุดถึง 85% และปัจจุบันจีนมีเขตอุตสาหกรรมปลาสวยงามหลักสองแห่ง ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและชายฝั่งทะเลตอนใต้ (มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง) และภาคเหนือ (นครปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลจี๋หลิน)
สำหรับความต้องการของตลาด ชาวจีนนิยมเลี้ยงปลาสวยงามขนาดเล็ก และจะนิยมเลี้ยงปลาสวยงามบนโต๊ะทำงาน โดย 42% ของผู้บริโภค พบว่า เลี้ยงปลาเพื่อบรรเทาความเครียด 16% เลี้ยงปลาสวยงามตกแต่งโต๊ะทำงาน และ 15% เป็นความสนใจส่วนตัว ส่วนการนำเข้าปลาสวยงามของจีน ตามข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในปี 2567 จีนมีมูลค่าการนำเข้าปลาสวยงาม 27,839,317 เหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับสามของการนำเข้าปลาสวยงามทั้งหมด รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของตลาดปลาสวยงามของไทย
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า ปลาไทยที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน คือ ปลากัด เนื่องจากมีสีสันสวยงาม ท่วงท่าการว่ายน้ำที่สง่างาม และลักษณะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยสายพันธุ์ยอดนิยม เช่น ปลากัดจีน ปลากัดฮาฟมูน ปลากัดหางมงกุฎ ปลากัดยักษ์ และยังมีปลาเสือตอไทยที่มีลายเสือสีทองและรูปลักษณ์ที่สง่างาม ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งฐานะสำหรับผู้เล่นชั้นนำในตลาดปลาสวยงามระดับไฮเอนด์ และมีปลาทองหัวสิงห์ไทยคุณภาพสูง ซึ่งกลายมาเป็นดาวรุ่งในตลาดจีน จากการเติบโตของตลาดปลาสวยงามดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาการเพาะสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางสายพันธุ์ปลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน และควรศึกษาเส้นทางการขนส่งใหม่ ๆ เนื่องจากมีระยะเวลาการขนส่งที่นาน เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกปลาสวยงามที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการตายของปลาได้
“รัฐบาลพร้อมเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกปลาสวยงาม โดยดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ปลาสวยงามของไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคระดับไฮเอนด์ ผ่านการจัดแสดงสินค้าในงานแสดงระดับนานาชาติ การออกบูธในประเทศเป้าหมาย และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นความต้องการและยกระดับภาพลักษณ์ปลาสวยงามไทยสู่ตลาดโลก” นายอนุกูล กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี