'กขค.'เปิด OECD Peer Review ดันแข่งขันไทย สู่มาตรฐานสากล
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2568 สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ได้จัดประชุมระหว่างประเทศในหัวข้อ “OECD Competition Peer Review พัฒนาเศรษฐกิจผ่านแนวคิดการแข่งขัน” เพื่อเผยแพร่ผลงานการประเมินผลสัมฤทธิ์และประสิทธิผลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบัน รวมทั้งรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กขค. และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ภายใต้โครงการ OECD Thailand Country Programme ระยะที่ 2 ต้องการผลักดันการแข่งขันทางการค้าของไทยสู่มาตรฐาน
โดยบรรยากาศการจัดงาน นายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดงาน รวมทั้งต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงาน และ Mr. Mathias Cormann เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กล่าวปาฐกถาสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันทางการค้า ที่จะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
อีกทั้งได้รับเกียรติจาก นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ปรับการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผลิกชีวิตคนไทย” ว่าการแข่งขันเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การปฏิรูปกฎหมายและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรม โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD และปรับปรุงมาตรฐานกฎ ระเบียบให้เป็นสากล เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งงานนี้มีผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้า นักธุรกิจ และที่ปรึกษากฎหมาย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
โดยภายในงานมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะต่อยอดจากข้อแนะนำของ OECD ประกอบด้วย การอภิปรายพิเศษ โดย Mr. Peter Crone กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางธุรกิจของออสเตรเลีย โดยได้แบ่งปันประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลียที่ได้เป็นสมาชิก OECD ในปี พ.ศ. 2514 รวมถึงประสบการณ์การพิชญพิจารณ์ (Peer Review) ที่ทำให้สามารถทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนของกฎหมายแข่งขัน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายในอนาคต ซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ขณะที่ช่วงการอภิปราย “ผลการศึกษา และข้อเสนอแนะจากรายงานกระบวนการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) ต่อ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560” ที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นท้าทายในการพัฒนากฎหมายแข่งขันทางการค้าหลายประการ เช่น ขอบเขตและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย การควบรวมธุรกิจ และมาตรการผ่อนผันโทษ (Leniency Program) รวมถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากร เป็นต้น และช่วงต่อมาเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ “Competition Efficiency, Quality of Life” ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขัน
ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม อันส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโดยรวม และช่วงสุดท้ายเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับ “โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่ส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ อันเป็นรากฐานสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ผลจากการจัดงานดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า พัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการทำงานในการกำกับการแข่งขันทางการค้าและทักษะของบุคลากรของสำนักงาน กขค. เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากล และรองรับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ต่อไป
ในขณะเดียวกัน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เปิดเผยว่า การที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD นั้น จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากลไกต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของไทย โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี การส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วขยายตัว 12.9% ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ก็โตขึ้น 10.5% ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถเจรจาทางการค้า เพื่อปรับลดภาษีได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น
สำหรับกรอบการแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 นั้น ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการปรับแก้ไขก่อนเสนอร่างให้สภาฯ และตามที่ เลขาธิการ OECD ได้กล่าวไว้ว่า ไทยมีการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์นัก อาจมีการผูกขาดในธุรกิจใหญ่ ๆ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไม่ดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับสำนักงาน กขค. ให้เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เกิดโอกาสทางการแข่งขัน และผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างทัดเทียมกัน
นอกจากนี้สินค้าด้อยคุณภาพ เป็นเรื่องที่รัฐบาลมีข้อกังวลตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงเกิดการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 17 หน่วยงาน ซึ่งได้ดำเนินคดีกับสินค้าด้อยคุณภาพแล้ว 29,000 กว่าคดี มีมูลค่ารวมกว่า 1,700 ล้านบาท และมีการจับกุมบริษัทที่เป็นนอมินี 852 บริษัท มีมูลค่าในทุนจดทะเบียนรวม 15,188 ล้านบาท จึงต้องการให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นกำหนดมาตรฐานสินค้า และเร่งแก้ไขปัญหาการไหลทะลักของสินค้าด้อยคุณภาพและนอมินีอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
และ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) ของ OECD ในครั้งนี้คือ เป็นการทบทวนหรือตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยเทียบกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากล ซึ่งมี 2 ประเด็นหลักที่สำคัญ ประเด็นแรกคือ “การแปลความและการสื่อสาร” ตัวบทกฎหมายให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ต้องสร้างความเข้าใจให้ได้ว่ากรณีที่กฎหมายฉบับนี้ยกเว้นมิให้ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 นั้น เป็นการยกเว้นเจาะจงเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับสาขาเศรษฐกิจที่มีหน่วยงานกำกับเฉพาะด้านที่ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่กฎเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาการแข่งขันนั้นเปรียบเทียบได้เท่ากันในกรณีของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อีกทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความมั่นใจในการตีความและการบังคับใช้ด้วย
ประเด็นที่สองคือ “ความโปร่งใส” โดย กขค. ตัดสินคดีด้วยเหตุและผล บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และพิจารณาตามหลักที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงต้องการให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย ทั้งนี้ ตามข้อแนะนำของ OECD จะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการทำงานในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พัฒนาองค์ความรู้และทักษะของบุคลากร การสนับสนุนข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจาก OECD ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางการแข่งขันที่เป็นธรรม เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการเข้าสู่ตลาด ดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี