นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของไทย จึงดำเนินโครงการศึกษาการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาแนวทางการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ (Twin Transition) แนวนโยบายและแนวปฏิบัติของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ (Twin Transition) การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transition) หรือการเปลี่ยนผ่านให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงแนวทางต้นแบบสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย
โดยคัดเลือกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อดำเนินการ ศึกษาเชิงลึก ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทย และมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งด้านการส่งออก การผลิต การจ้างงาน และการลงทุน โดยในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ปี 2567 ไทยส่งออกสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย 2.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.53 จากปีก่อนหน้า และนำเข้า 2.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน สำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ปี 2567 ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์เป็นมูลค่า 1.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.49 จากปีก่อนหน้า และนำเข้า 7.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.32 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทั้งสองอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ ประสิทธิภาพการผลิตและประสิทธิภาพแรงงานลดลง การแข่งขันที่สูงขึ้น และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า
การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ใน 2 อุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ซึ่งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและถือเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ 1.การเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน อาทิ ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย มีการปรับใช้เส้นใยธรรมชาติในการผลิตเสื้อผ้า เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ไม้ธรรมชาติ และมุ่งเน้นส่งเสริมการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ใช้งานได้หลากหลายและยาวนานมากขึ้น 2.การปรับตัวทางดิจิทัล อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อประหยัดกำลังแรงงานและเวลา และการปรับใช้ระบบซอฟต์แวร์เพื่อวางแผนการใช้ทรัพยากรในองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP)
3. การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจความยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) โดยเฉพาะในภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างรากฐานความยั่งยืนของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ (Twin Transition) รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transition) และการเปลี่ยนผ่านให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition) ของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ยังคงเผชิญกับท้าทายหลายประการ อาทิ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐานและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเป็นลำดับแรกก่อน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ อาทิ 1. การส่งเสริมผ่านนโยบาย และมาตรการจูงใจ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการด้านภาษี และการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลหรือสิ่งแวดล้อม 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศอุตสาหกรรม อาทิ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เก็บรวบรวมฐานข้อมูลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับรองมาตรฐานสากล และ 3.การยกระดับทักษะแรงงาน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ด้านกฎระเบียบของต่างประเทศและความต้องการของผู้บริโภค
“การส่งเสริมและผลักดันการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมไทยในฐานะผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบและทันสมัย การดำเนินการในวันนี้จึงไม่ใช่เพียงการปรับตัวแต่คือการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับอนาคตของเศรษฐกิจไทยในยุคเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลโดยข้อมูลและองค์ความรู้จากการประชุมกลุ่มย่อยในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและต่อยอดนโยบายการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี