นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญและมีค่านิยมในการใส่ใจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารสุขภาพและอาหารเสริม ส่งผลทำให้ยอดขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพเติบโตขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ที่สนใจสร้างรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจออกกำลังกาย ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโต อาทิ กระแสการใส่ใจสุขภาพและการมีอายุที่ยืนยาว และการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชัน อุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกาย (fitness tracking) คลาสออกกำลังกายออนไลน์ ตลอดจนเกิดความนิยมในการออกกำลังกายในรูปแบบผสมผสาน เช่น การชกมวยกับพิลาทิส (Piloxing) เวทเทรนนิ่งกับพิลาทิส รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการออกกำลังทั้งกายและใจ เช่น โยคะ การออกกำลังกายเป็นกลุ่มและการจัดตั้งคอมมูนิตี้ฟิตเนส เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้กำลังใจกัน การมีแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ข้อมูลและกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาออกกำลังกายตามอินฟลูเอนเซอร์ และการให้ความสำคัญกับรูปร่าง บุคลิกภาพและภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่
“แม้ธุรกิจออกกำลังกายจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการ ก็ต้องพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคโดยคำนึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การตอบสนองความต้องการ เป้าหมายการออกกำลังกายของผู้ใช้บริการแต่ละคน ราคาที่เข้าถึงได้ คุณภาพการให้บริการที่ดี การจัดโปรโมชัน การสร้างความคุ้นชินโดยให้ทดลองใช้บริการ เพื่อให้เกิดการใช้บริการต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งอาจพิจารณาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายเข้าถึงได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และขยายการให้บริการในรูปแบบแพ็กเกจไปยังสินค้าและบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์เสริมในการออกกำลังกาย”นายพูนพงษ์กล่าว
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในปี 2567 มีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการในธุรกิจออกกำลังกาย จำนวนทั้งหมด 2,499 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 12,933 ล้านบาท และในปี 2567 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 396 ราย เพิ่มขึ้น 33.33% จากปี 2566 นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เช่น ธุรกิจขายส่งขายปลีกเครื่องกีฬา อุปกรณ์ฟิตเนส ชุดออกกำลังกายก็เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยในปี 2567 ธุรกิจกลุ่มนี้มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ 206 ราย เพิ่มขึ้น 28.75% ทั้งนี้ ในปี 2566 ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย สามารถสร้างรายได้ 42,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.23% ทำกำไร 1,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.51% สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและโอกาสในตลาดสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่
ส่วนข้อมูลของสถาบัน Global Wellness ประเมินว่า ในปี 2566 ธุรกิจออกกำลังกายโลก มีมูลค่า 1.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยปีละ 5.8% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จนมีมูลค่าประมาณ 1.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 สำหรับไทย มีมูลค่าธุรกิจออกกำลังกาย 3,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 32 จาก 218 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้น 6.6% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจข้อมูลการออกกำลังกายของคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปพบว่า ในปี 2567 มีคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ คิดเป็นสัดส่วน 44.39% เพิ่มขึ้นจาก 42.18% จากปี 2566
นอกจากนี้จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคด้านสุขภาพและเวลเนสของ SCB EIC เมื่อปี 2566 จำนวน 1,402 คน พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 90% นิยมออกกำลังกาย และสัดส่วนผู้ที่ออกกำลังกายมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือนอยู่ที่ 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม และกิจกรรมออกกำลังกายที่ได้รับความนิยม เช่น โยคะ/พิลาทิส วิ่ง และเข้ายิม/ฟิตเนส
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี