ครม.ออก‘G-Token’ 5 พันล้าน เครื่องมือระดมทุนใหม่ผ่านดิจิทัล
13 พฤษภาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการอนุมัติวิธีการกู้เงิน G-Token ตามมาตรา 10 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายจะสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน โดยผลักดัน Token ดิจิทัลของรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือการลงทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลังที่เป็นการนำเทคโนโลยีการเงินมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้การออก G-Token ดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบดิจิทัลและช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยรัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องระบบและกระบวนการที่มีความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) โดยอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
“การอนุมัติไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการออมการลงทุนให้กับประชาชนใหม่ โดยการเพิ่มเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาล กำหนดวงเงินเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยผู้ถือหน่วยลงทุนนี้จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนด้วยการฝากเงิน” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า การออกไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคนครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ โดยไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอเรนซี่ โดยประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยได้ เช่น ลงทุนได้ตั้งแต่หลัก 100-1,000 บาทเป็นต้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถขยายฐานการลงทุนได้ และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วย
“รูปแบบการลงทุนนี้ เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง ในอนาคต หากมีเครื่องมือการลงทุน ก็สามารถเข้าไปลงทุนใน ระบบดิจิทัลได้ ได้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอ ส่วนข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลก็รับมาพิจารณายืนยันว่า ไม่ได้นำไปใช้ชำระสินค้า โดยจะออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสมครั้งแรก เพื่อให้เห็นว่าปลอดภัย” นายพิชัย กล่าว
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสบน. กล่าวว่า การออกไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน จะสามารถออกได้ภายใน 2 เดือนนี้ ส่วนช่องทางการซื้อนั้น จะมีความคล้ายกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา ผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกับการซื้อพันธบัตร และน่าจะมีต้นทุนต่ำกว่าออกออกพันธบัตรแน่นอน
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี