สหรัฐฯ นับเป็นประเทศผู้นำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมสูงถึง 20% ของมูลค่าการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรวมกันทุกประเทศทั่วโลก เพราะแม้จะมียอดขายรถยนต์ในประเทศที่สูงถึงมากกว่า 16 ล้านคัน (อันดับ 2 ของโลก) แต่กลับผลิตรถยนต์ในประเทศเฉลี่ยเพียงปีละ 10 ล้านคัน ซึ่งน้อยกว่าความต้องการในประเทศมาก
เพื่อดึงดูดการลงทุนกลับเข้าประเทศ ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ จึงประกาศขึ้นภาษีนำเข้าที่เกี่ยวกับรถยนต์และชิ้นส่วนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขึ้นภาษี 25% กับรถยนต์และชิ้นส่วนผ่านมาตรา 232 ของพระราชบัญญัติการขยายการค้า พ.ศ. 2505 และขึ้น Reciprocal Tariff กับชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่นอกรายการที่โดนเรียกเก็บภาษีแล้วในมาตรา 232 ซึ่งแม้จะมีมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ ออกมาในภายหลังบ้าง แต่ก็ช่วยลดผลกระทบได้เพียงบางส่วน
สำหรับไทย การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ย่อมกระทบกับรถยนต์และชิ้นส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐฯอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยในปี 2567 มีมูลค่ารวม 6,426 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไทยไปทั่วโลก และคิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของ GDP ไทย ในปี 2567
ทั้งนี้ ระดับของผลกระทบที่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไทยจะได้รับนั้น แตกต่างกันไปตามระดับการพึ่งพิงของสินค้านั้นกับตลาดสหรัฐฯ และมาตรการภาษีที่โดน
ภาษี 25% จากมาตรา 232 ปัจจัยหลักกระทบส่งออกโดยเฉพาะชิ้นส่วน
สำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ พบว่าเกือบทั้งหมดถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% ภายใต้มาตรา 232 อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าต่อรถยนต์และชิ้นส่วนนั้นแตกต่างกัน
โดยรถยนต์ (เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 เมษายน 2568) : คาดไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้า 25% เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตลาดหลักของไทย และรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เคยนำเข้าไปจำหน่ายเดิมในสหรัฐฯ (36,000 คันในปี 2567) นั้น มีแผนยุติจำหน่ายในสหรัฐฯ อยู่แล้วในปีนี้ ดังนั้น การลดลงของปริมาณการส่งออกจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้า อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯในอนาคตอาจทำได้ยากมากขึ้นจากต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น
ชิ้นส่วนรถยนต์ (เริ่มใช้ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 2568 กับชิ้นส่วนรถยนต์ตาม HS Code ที่สหรัฐฯกำหนด 130 รายการ) : คาดได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์อันดับ 1 ของไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาด 26%
อย่างไรก็ดี หากแยกพิจารณาแบ่งตามระดับผลกระทบที่กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับซึ่งแตกต่างกัน อาจแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ชิ้นส่วนรถยนต์ที่คาดกระทบมาก : ส่งออกไปสหรัฐสัดส่วนสูง
-ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง โดยเฉพาะ กระปุกเกียร์ และเพลาขับที่มีหม้อเพลา
-ชิ้นส่วนระบบกันสะเทือน โดยเฉพาะ ล้อและส่วนประกอบล้อ และพวงมาลัย
-ชิ้นส่วนไฟฟ้า&อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ อุปกรณ์ส่องสว่าง และหัวเทียน
2.ชิ้นส่วนรถยนต์ที่คาดโดนกระทบปานกลาง : ส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนไม่สูง
-ชิ้นส่วนตัวถังและอุปกรณ์ภายใน โดยเฉพาะอุปกรณ์ตกแต่ง และถุงลมนิรภัย
3.ชิ้นส่วนรถยนต์ที่คาดโดนกระทบน้อย : ต้นทุนพอแข่งขันได้ หรือส่งออกไปสหรัฐฯ น้อย
-ยางรถยนต์ โดยเฉพาะ ยางรถยนต์นั่งและปิกอัพ ขณะที่ยางรถปัสและรถบรรทุกยังต้องระวังเพราะไทยโดนขึ้นภาษี AD ขณะที่คู่แข่งไม่โดน
-เครื่องยนต์ ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯน้อยมาก และยังมีตลาดส่งออกอื่น เช่น อาเซียน แอฟริกาใต้ และไต้หวัน เป็นต้น
มาตรการคืนเงินชดเชยภาษีล่าสุดของสหรัฐฯไม่ช่วยชิ้นส่วนไทยมากนัก
แม้ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะประกาศคืนเงินชดเชยภาษีนำเข้าเฉพาะสำหรับชิ้นส่วน OEM ที่นำเข้ามาใช้ประกอบรถยนต์ในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้า 25%ทว่าชิ้นส่วนรถยนต์ส่งออกจากไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนเท่านั้น จากสาเหตุหลัก 2 อย่าง คือ
1.เงินชดเชยที่ค่ายรถได้รับมีจำกัด ทำให้ค่ายรถสามารถเลือกชิ้นส่วนรถยนต์ที่ได้เงินชดเชยคืนแค่บางรายการเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯส่วนใหญ่อาศัยการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้าไปผลิตในสัดส่วนที่สูง โดยบางรุ่นอาจมีสัดส่วนชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าถึงมากกว่า 50% ของมูลค่าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้ทั้งหมด
2.ชิ้นส่วนรถยนต์ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯมากกว่าครึ่งเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ (REM) ซึ่งกระจายอยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออก โดยเฉพาะ ยางรถยนต์ ล้อและส่วนประกอบล้อ หัวเทียน และอุปกรณ์ส่องสว่าง เป็นต้น ซึ่งชิ้นส่วนอะไหล่จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว จึงต้องเจอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษี 25% เต็มจำนวน
จากทิศทางดังกล่าว คาดว่าหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน 2 ปี ที่ได้เงินชดเชย การลงทุนเพิ่มของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการจากต่างประเทศลดลง ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูงก่อน อย่างเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด
-ทิศทางภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของไทยหลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ว่าจะลดลงจาก 36% หรือไม่ ซึ่งแม้มูลค่าส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่มที่โดน Reciprocal Tariff จะมีไม่มากที่ราว 6% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปสหรัฐฯทั้งหมด แต่หากโดนภาษีสูงในอัตราดังกล่าว ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่งมาก ย่อมกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์กลุ่มนี้ของไทย เช่น ไส้กรองน้ำมัน ท่อเชื้อเพลิง หม้อพักท่อไอเสียและท่อไอเสีย เป็นต้น อย่างไม่อาจเลี่ยง
-การส่งออกชิ้นส่วน OEM ไปต่างประเทศอาจลดลง โดยเฉพาะ ในกลุ่มประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง เช่น เม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังพยายามลดการนำเข้ารถยนต์แล้วหันมาผลิตเองในประเทศเพิ่มขึ้น ผ่านการใช้มาตรการภาษีต่างๆ
-การแข่งขันกันส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดนอกสหรัฐฯ อาจทวีความรุนแรงขึ้น หลังการส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนอันดับ 1 ของโลกนั้น ไม่ง่ายเหมือนในอดีต การหันมาลุยในสนามแข่งนอกตลาดสหรัฐฯจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ
-การย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยบางส่วนของบริษัทข้ามชาติไปสหรัฐฯอาจทยอยเกิดขึ้น เนื่องจากต้นทุนภาษีนำเข้าของหสรัฐฯ ได้กลายมาเป็นต้นทุนหลักที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยบริษัทข้ามชาติที่มีโอกาสย้ายฐานการผลิตบางส่วนไป จะเป็นบริษัทที่มีฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อยู่แล้วในสหรัฐฯ และปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ สูง
หทัยวัลคุ์ ตุงคะธีรกุล
เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
-031
รายงานวิจัยนี้จัดทำโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะ หรือ ข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้า เป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)
Disclaimers
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี