นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนเมษายน 2568 ผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 104,250 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2568 ที่ระดับ 19.75 % และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 0.40 % เป็นการผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน (3ปี6เดือน) โดยจากตัวเลขสถิติพบว่าผลิตลดลงไม่มาก เพราะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV PHEV และ HEV ในประเทศมากขึ้นเพิ่มขึ้น โดย BEV ผลิต 4,764 คัน เพิ่มขึ้น 639.75 % PHEV 1,031 คัน เพิ่มขึ้น 319.11 % และ HEV 18,581 คัน เพิ่มขึ้น 35.31 % โดยเดือนเมษายน ไทยส่งออกรถยนต์นั่ง BEV ได้เป็นเดือนแรกจำนวน 660 คัน
ขณะที่รถยนต์นั่งสันดาปภายในผลิตลดลง 33.60 % เพราะผลิตรถยนต์นั่งส่งออกลดลงถึง 36.93 % เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์บางรุ่น รถกระบะยังคงผลิตลดลง 3.06 % เพราะผลิตขายในประเทศลดลง 33.16 % ตามยอดขายรถกระบะในประเทศที่ยังคงลดลง 22.25 % ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 456,749 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่ 11.96 %
ทั้งนี้การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนเมษายน 2568 ผลิตได้ 37,165 คัน เท่ากับ 35.65 % ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 13.52 % และเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ผลิตได้ 152,868 คัน เท่ากับ 33.47 % ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่ 11.72 % ขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออก เดือนเมษายน 2568 ผลิตได้ 67,085 คัน เท่ากับ 64.35 % ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 6.73 % ส่วนเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 303,881 คัน เท่ากับ 66.53 % ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2567 ระยะเวลาเดียวกัน 12.07 %
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ 47,193 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 15.42 % แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 0.97 % เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่รถกระบะและรถ PPV ยังคงขายลดลง จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงลดลง 3.83 % การลงทุนภาคเอกชนไตรมาสหนึ่งปีนี้ลดลง และจากค่าครองชีพที่ยังสูง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง
ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2568 ส่งออกได้ 65,730 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 18.77 % vและลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ที่ 6.31 % เพราะมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งบางรุ่นและการเข้มงวดในเรื่องเทคโนโลยีช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัยและการปล่อยคาร์บอนในบางประเทศคู่ค้า รถยนต์ HEV จึงส่งออกเพิ่มขึ้น 87.96% แต่จำนวนไม่มาก จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ คงต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
“ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ เพิ่มมาที่ 50% ส่วนใหญ่ยังเป็นรถกระบะ แม้ว่าจีดีพี ไตรมาส 1 ปี 2568 จะโตถึง 3.1% แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย ส่งผลให้ขาดกำลังซื้อ ประชาชนระวังการจับจ่ายใช้สอย หากกระตุ้นภาคการผลิตให้บวกขึ้นมาได้ กำลังซื้อของคนก็จะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในประเทศก็จะเป็นขาขึ้น “ นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังวิกฤต ต้องลุ้นว่า ยอดผลิตรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นได้มากขนาดไหน เพราะส่งผลต่อทั้งซัพพลายเชน ทั้งแบตเตอรี่และชิ้นส่วนฯ แต่ทั้งนี้รถไฟฟ้าใช้ใช้ชิ้นส่วนฯ น้อยกว่ารถสันดาปมาก โดยมองว่าอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงจะพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และหากจีดีพีไทยต่ำก็ยิ่งฟื้นตัวลำบาก เพราะมีหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง รวมถึงมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ หากอัตราภาษียังอยู่ที่ 36% ก็ยิ่งลำบาก ต้องจับตาการเจรจาของทีมเจรจาไทย ว่าจะสามารถเจรจาได้มากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ต้องลุ้นมาตรการ ”กระบะพี่มีคนค้ำ”ของรัฐบาลว่าจะเพิ่มยอดขายกระบะได้เพียงใด โดยคาดว่ากลางปีนี้จะต้องมีการปรับเป้าผลิต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี