กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ติดตามแผนพัฒนาตลาดข้าวโพดเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศเม็กซิโก พบเป็นนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารและความเป็นธรรมในตลาดสินค้าเกษตร เผยเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกเครื่องจักรและเทคโนโลยีการเกษตรไปขายที่ประเทศเม็กซิโก
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้าและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.กรรณิกา กะการดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก ถึงการติดตามนโยบายของรัฐบาลเม็กซิโกที่มีการผลักดันแผนพัฒนาตลาดข้าวโพดเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตร ที่สามารถขยายการทำตลาดเข้าสู่ตลาดประเทศเม็กซิโก เพื่อป้องความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ปัจจุบันรัฐบาลของประเทศเม็กซิโกได้แถลงนโยบาย “แผนการตลาดข้าวโพดแห่งชาติเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นธรรมในตลาดสินค้าเกษตร โดยแผนดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในรัฐเชียปัส และจะขยายไปยังอีก 7 รัฐ ของประเทศเม็กซิโกได้แก่ โออาซากา ,เวรากรูซ , กัมเปเช , ตาบาสโก , กินตานาโร , โมเรโลส และเกร์เรโร
สำหรับแผนการตลาดใหม่นี้ รัฐบาลของประเทศเม็กซิโกมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรรายย่อย เพิ่มปริมาณการผลิต คุณภาพและมาตรฐานสินค้า และการปฏิบัติตามสัญญาและข้อผูกพันทางการเงิน และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการกระจายสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลกลาง และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Secretaría de Agricultura y Desarrollo Rural : SADER)
โดยแผนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าวโพด เช่น ผู้จัดหาพันธุ์เมล็ดพันธุ์ ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผู้ให้บริการสินเชื่อและบริษัทการตลาดระดับชาติที่เป็นสมาชิกของหอการค้าอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งชาติ (CANAMI) โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอาหารในปริมาณที่เพียงพอ มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ
“นโยบายดังกล่าวแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ประเทศเม็กซิโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตร (Agri-tech) เช่น เครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตของประเทศเม็กซิโกมากขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่ขายได้ จะต้องมีความคุ้มค่า ใช้งานง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นกลุ่มที่ภาครัฐประเทศเม็กซิโกให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น”น.ส.สุนันทา กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2567 ประเทศเม็กซิโกมีการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร (HS CODE 8433) เช่น เครื่องนวด เครื่องตัดหญ้า เครื่องอัดฟาง เป็นต้น มีมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกรวมประมาณ 351.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 23 ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศไทยประมาณ 8,640.50 เหรียญสหรัฐฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี