นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2568 เท่ากับ 113.6 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 (YoY) สูงขึ้น 0.3% เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้น 0.9% จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้แบบ วงกบประตู และวงกบหน้าต่าง จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 4.5% จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เพราะมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้น 0.4% จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ท่อระบายน้ำคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ปูนซีเมนต์ ทราย)
หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลง 3.5% จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย ท่อเหล็กดำ และชีทไพล์เหล็ก เนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่ฟื้นตัว และนโยบายทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในหลายประเทศเร่งการส่งออกส่งผลให้มีอุปทานเหล็กส่วนเกินกดดันราคาวัตถุดิบผลิตเหล็ก (บิลเล็ต เศษเหล็ก) ปรับลดลง
หมวดกระเบื้อง ลดลง 0.6% จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องเคลือบปูพื้น และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลง 2.4% จากการลดลงของโถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับสแตนเลส เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลง 0.8% จากการลดลงของสีน้ำอะครีลิคทาภายใน และสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ปิโตรเคมี) ปรับราคาลดลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น 2.6% จากการสูงขึ้นของสายส่งกำลังไฟฟ้า NYY สายไฟฟ้า VCT และสายไฟฟ้า VAF ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ทองแดง เม็ดพลาสติก) รวมทั้งมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐเพิ่มขึ้น
หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 3.7% จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และวัสดุธรรมชาติ (ดิน ทราย) เพราะมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างและการซ่อมแซมด้านคมนาคมของภาครัฐเพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม และไตรมาสที่ 3 ปี 2568 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย1. การขยายตัวของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ 2. ความกังวลเรื่องคุณภาพเหล็กและการเข้มงวดในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ได้มาตรฐานทำให้มีความต้องการเหล็กได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน และราคาโลหะภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีความผันผวนสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี