ส.ว. สหรัฐฯ ระงับเพดานหนี้
วอชิงตัน - สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สหรัฐฯ ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 63 ต่อ 36 เสียง ระงับการใช้เพดานหนี้ หรือร่างกฎหมายความรับผิดชอบทางการคลัง (Fiscal Responsibility Act) ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตและแกนนำพรรครีพับลิกันตกลงร่วมกัน หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยคะแนน 314 ต่อ 117 เสียงเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น และจะนำเสนอให้ประธานาธิบดีไบเดน ลงนามบังคับใช้ต่อไป ปิดฉากการเจรจานานหลายสัปดาห์เรื่องการขยายเพดานหนี้ ก่อนที่สหรัฐฯ อาจต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในอีก 4 วันตามการคาดหมายของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ใช้จ่ายเกินรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี ทำให้ต้องกู้ยืมเงินผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล สมาชิกรัฐสภาจึงได้กำหนดเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางมาตั้งแต่เมื่อ 80 ปีก่อน ที่ผ่านมามีการขยายเพดานหนี้มาแล้วมากกว่า 100 ครั้ง เพดานหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 31.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,089 ล้านล้านบาท)
ข่าวลวงต้นพระศรีมหาโพธิ์
อนุราธปุระ - ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิในศรีลังกา เกิดข่าวลวงสะพัดว่าต้นไม้กำลังตกอยู่ในอันตราย โดยอ้างว่าคลื่นความถี่ 5 จีจากสถานีฐานหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ทำให้ใบของต้นพระศรีมหาโพธิ์เปลี่ยนเป็นสีดำ และกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะยืนต้นตาย ข่าวลวงนี้แพร่กระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ในศรีลังกาอย่างเฟซบุ๊กและวอตส์แอปป์ ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการกำกับดูแลโทรคมนาคมเผยว่า มีสถานีฐานเก่า 4 แห่งตั้งอยู่ภายในรัศมี 500 เมตรจากต้นไม้ แต่ไม่พบคลื่นความถี่ 5 จีตามที่มีกระแสข่าวลือ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีปริมาณรังสีต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ด้วย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ยืนยันว่า ไม่มีอันตรายจากคลื่นความถี่ 2จี, 3จี และ 4จีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้นพระศรีมหาโพธิ์ปลูกอยู่ในเมืองอนุราธปุระ ที่เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสิงหล เป็นต้นไม้อายุ 2,300 ปี เชื่อกันว่า โตมาจากหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์ในอินเดียที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งขณะตรัสรู้เมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิและสัญลักษณ์ของศรีลังกาที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน จากทั้งหมด 22 ล้านคน
ดับเบิลยูเอ็มโอได้ประธานคนใหม่
เจนีวา – สมาชิกบอร์ดบริหารองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือดับเบิลยูเอ็มโอ ลงคะแนนเสียงเลือก เซเลสต์ เซาโล (Celeste Saulo) จากอาร์เจนตินา ให้เป็นเลขาธิการใหญ่คนใหม่ ในระหว่างการประชุมที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของดับเบิลยูเอ็มโอ ที่จะทำหน้าที่ผลักดันองค์กรที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เซาโล ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 ของดับเบิลยูเอ็มโออยู่ในปัจจุบัน เธอเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของอาร์เจนตินามาตั้งแต่ปี 2014 และจะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก เพตเทอริ ทาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการใหญ่ชาวฟินแลนด์ในวันที่ 1 มกราคม หลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งมาครบ 2 สมัย ๆ ละ 4 ปีในปีนี้