วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นสพ.The New York Times สหรัฐอเมริกา เสนอข่าว Australia Introduces Workers’ ‘Right to Disconnect’ ระบุว่า ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ของออสเตรเลีย ผ่านร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญคือ ลูกจ้างสามารถปฏิเสธที่จะติดต่อพูดคุยเรื่องงานกับนายจ้างหรือหัวหน้างานได้หากเป็นช่วงนอกเวลางานโดยไม่ต้องกังวลว่าองค์กรต้นสังกัดจะไม่พอใจ ซึ่งคาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวที่จะถูกส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) น่าจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้โดยสะดวก
ด้วยแนวทางของร่างกฎหมายใหม่ จะอนุญาตให้ลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อเรื่องงานที่ “ไม่สมเหตุสมผล (Unreasonable)” นอกเวลาทำงาน และนายจ้างหรือสถานประกอบการที่ลงโทษพนักงานที่ไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจถูกปรับ ซึ่ง แอนโธนี อัลบานีส (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ให้ความเห็นไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ว่า ในเมื่อบุคคลไม่ได้รับค่าจ้างตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขาก็ไม่สมควรถูกลงโทษหากไม่ได้ออนไลน์และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ออสเตรเลียกำลังดำเนินตามรอยของประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งในปี 2560 ได้นำเสนอสิทธิของคนงานที่จะตัดขาดจากนายจ้างขณะที่ไม่ได้อยู่ในเวลางาน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลายเป็นแบบอย่างของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เยอรมนี อิตาลี และเบลเยียม อีกทั้งในเวลาต่อมา รัฐสภายุโรปยังได้เรียกร้องให้มีกฎหมายทั่วทั้งกลุ่มประชาคมสหภาพยุโรป (EU) ที่จะบรรเทาแรงกดดันต่อคนงานในการตอบการสื่อสารนอกเวลางาน
โทนี เบิร์ก (Tony Burke) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานและความสัมพันธ์ในที่ทำงานของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 ว่า โลกเชื่อมโยงถึงกัน แต่นั่นกลับสร้างปัญหาขึ้นมา หากแรงงานอยู่ในงานที่ได้รับค่าจ้างตามชั่วโมงทำงานที่แน่นอน บางคนก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ประสบปัญหาอยู่ตลอดเวลาหากพวกเขาไม่ตรวจสอบอีเมล มีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะติดต่อกับคนงานของตนเกี่ยวกับกะและเรื่องอื่นๆ แต่คนงานไม่ควรมีหน้าที่ต้องตอบข้อความเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า สหภาพแรงงานและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ถกเถียงกันมานานว่าแรงงานมีสิทธิ์ที่จะไม่ติดต่อเรื่องงานกับนายจ้างนอกเวลางานหรือไม่ กระทั่งเรื่องนี้ถูกพูดถึงมากขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อการทำงานนอกสถานที่กลายเป็นเรื่องที่แพร่หลาย ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานเลือนลางลง อนึ่ง ผู้ประกอบการภาคธุรกิจรวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านออสเตรเลีย คัดค้านร่างกฎหมายใหม่ เพราะมองว่าออกมารวดเร็วเกินไป และอาจทำให้ธุรกิจต่างๆ บรรลุภารกิจของตนได้ยากยิ่งขึ้น
แบรน แบล็ก (Bran Black) ประธานสภาธุรกิจแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างต้นทุนที่สำคัญให้กับธุรกิจ อีกทั้งจะส่งผลให้มีงานน้อยลงและโอกาสน้อยลง ขณะที่ มิชาเอเลีย แคช (Michaelia Cash) สว. จากพรรคเสรีนิยมฝ่ายขวา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในที่ประชุมวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่มีมาตรการใดที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต งาน การเติบโต และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ และคนงานได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายต่อชั่วโมงทำงานที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว
นอกจากนั้น ยังมีผู้ที่คัดค้านโดยให้เหตุผลอื่นๆ เช่น กฎหมายควรบังคับให้นายจ้างไม่ติดต่อกับพนักงานในเวลาที่ไม่สมควร แทนที่จะให้เป็นภาระของคนงานในการปกป้องสิทธิของตนเอง โดย เควิน โจนส์ (Kevin Jones) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในที่ทำงานชาวออสเตรเลียกล่าวว่า คำสั่งที่คล้ายกันนี้มักจะถูกใช้โดยคนที่ตระหนักว่าความสัมพันธ์ของพวกเขากับนายจ้างตอนนี้มัวหมองมาก ใช้งานไม่ได้ และพวกเขาอาจจะลาออกเช่นกัน
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ชาวออสเตรเลียได้รับสิทธิประโยชน์มาตรฐานมากมายอยู่แล้ว เช่น การลาหยุดประจำปีโดยได้รับค่าจ้าง 20 วัน การลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างภาคบังคับ การลางาน "ระยะยาว" เป็นเวลา 6 สัปดาห์สำหรับผู้ที่ทำงานให้กับนายจ้างเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี และ 18 สัปดาห์ของการลาเพื่อคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง และค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ (ราว 525 บาท) ต่อชั่วโมง ประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน” ตามหลังนิวซีแลนด์ สเปน และฝรั่งเศส ตามดัชนีจากแพลตฟอร์มการจ้างงานระดับโลก Remote ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 7.25 เหรียญสหรัฐ (253.75 บาท) อยู่ในอันดับที่ 53
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.nytimes.com/2024/02/08/world/australia/right-to-disconnect-law.html
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี