9 พ.ค. 2568 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Global militaries to study India-Pakistan fighter jet battle ระบุว่า การปะทะกันระหว่างเครื่องบินรบของปากีสถานที่ผลิตในจีน และเครื่องบินรบของอินเดียซึ่งเป็นเครื่องรุ่น “ราฟาล (Rafale)” ที่ผลิตในฝรั่งเศส กำลังถูกจับตามองจากกองทัพทั่วโลก ซึ่งอาจนำไปสู่ความได้เปรียบในการสู้รบในอนาคต อาทิ เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา 2 ราย ให้ข้อมูลว่า การที่เครื่องบินรบปากีสถานที่ผลิตในจีน ยิงเครื่องบินทหารอินเดียตกอย่างน้อย 2 ลำเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2568 ถือเป็นก้าวสำคัญของเครื่องบินรบขั้นสูงของจีน
การปะทะทางอากาศถือเป็นโอกาสอันหายากที่กองทัพของประเทศต่างๆ จะได้เรียนรู้ประสิทธิภาพของนักบิน เครื่องบินขับไล่ และขีปนาวุธอากาศสู่อากาศในการสู้รบ และใช้ความรู้ดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมกองทัพอากาศของตนเอง ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจะมีการวิเคราะห์การใช้งานอาวุธขั้นสูงจริงทั่วโลก รวมถึงในจีนและสหรัฐฯ ซึ่งต่างกำลังเตรียมรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในไต้หวัน หรือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่กว้างขึ้น
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ ให้ข้อมูลว่า ตนมั่นใจอย่างยิ่งว่าปากีสถานใช้เครื่องบินรบรุ่น “เจ-10 (J-10)” ที่ผลิตในจีน ในการยิงขีปนาวุธอากาศสู่อากาศโจมตีเครื่องบินรบของอินเดีย ขณะที่ในสื่อสังคมออนไลน์ มีการพูดคุยกันถึงประสิทธิภาพของขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ “พีแอล-15 (PL-15)” ของจีนในการต่อสู้กับ “เมเทโอ (Meteor)” ซึ่งเป็นขีปนาวุธอากาศสู่อากาศนำวิถีด้วยเรดาร์ที่ผลิตโดยกลุ่ม MBDA ของยุโรป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าอาวุธเหล่านี้ถูกนำมาใช้
ดักลาส แบร์รี (Douglas Barrie) นักวิจัยอาวุโสด้านอากาศยานทางการทหาร สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษากลยุทธ์ (IISS) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ กล่าวว่า ชุมชนของผู้สนใจศึกษาเรื่องการทำสงครามทางอากาศในจีน สหรัฐฯ และอีกหลายชาติในยุโรป จะให้ความสนใจอย่างยิ่งที่จะพยายามค้นหาความจริงจากพื้นดินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับยุทธวิธี เทคนิค ขั้นตอนต่างๆ รวมถึงชุดอุปกรณ์ที่ใช้ อะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผล
“คุณอาจกล่าวได้ว่าจีนมีอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของชาติตะวันตก หากอาวุธนั้นถูกนำไปใช้จริง เราไม่รู้เรื่องนี้ ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ น่าจะหวังว่าจะได้รับข่าวกรองที่คล้ายกันจากอินเดีย" แบร์รี กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ยังอ้างความเห็นของผู้บริหารอุตสาหกรรมป้องกันประเทศรายหนึ่ง ที่มองว่า จรวด PL-15 เป็นปัญหาใหญ่ เป็นสิ่งที่กองทัพสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมาก ขณะที่ Dassault Aviation บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน Rafale ปฏิเสธที่จะให้คิดเห็น และผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถกลุ่มพันธมิตร MBDA (AIR.PA) (BAES.L) (LDOF.MI) เพื่อขอความคิดเห็นได้ในทันที เนื่องจากติดช่วงวันหยุดภายในประเทศของฝรั่งเศส
นักวิเคราะห์จากตะวันตกและแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกล่าวว่ารายละเอียดที่สำคัญยังคงไม่ชัดเจน รวมถึงว่าจรวด Meteor ถูกนำไปใช้หรือไม่ และนักบินได้รับการฝึกอบรมประเภทและปริมาณเท่าใด เพราะบริษัทพัฒนาอาวุธก็ต้องการแยกประสิทธิภาพทางเทคนิคออกจากปัจจัยการปฏิบัติงานเช่นกัน ด้าน ไบรอน คัลแลน (Byron Callan) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันประเทศประจำสหรัฐฯ และหุ้นส่วนผู้จัดการของ Capital Alpha Partners กล่าวว่า จะมีการตรวจสอบว่าอะไรได้ผลและไม่ได้ผล แต่ตนคิดว่าอีกปัจจัยหนึ่งคือหมอกแห่งสงคราม
“บริษัทอาวุธของสหรัฐฯ ได้รับคำติชมอย่างต่อเนื่องว่าผลิตภัณฑ์ของตนได้ผลดีเพียงใดในสงครามยูเครน ดังนั้นผมจึงคาดหวังอย่างยิ่งว่าซัพพลายเออร์ในยุโรปของอินเดียจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และปากีสถานและจีนก็อาจได้รับคำติชมเช่นเดียวกัน หาก PL-15 ทำงานได้ตามที่โฆษณาไว้หรือดีกว่าที่คาดไว้ จีนคงอยากได้ยินเช่นนั้น” คัลแลน กล่าว
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจากประเทศตะวันตกที่ควบคุมระบบ Meteor เผยว่า ภาพออนไลน์ของขีปนาวุธค้นหาดูเหมือนจะเป็นส่วนประกอบของขีปนาวุธที่พลาดเป้า มีรายงานที่ขัดแย้งกันว่าปากีสถานมี PL-15 รุ่นใดกันแน่ ระหว่างรุ่นที่ผลิตให้ PLAAF หรือกองทัพอากาศของจีนใช้ หรือรุ่นส่งออกซึ่งมีพิสัยต่ำกว่าที่เปิดตัวต่อสาธารณะในปี 2564 ขณะที่ แบร์รี ซึ่งเขียนบทความเกี่ยวกับขีปนาวุธดังกล่าวไว้มากมาย เชื่อว่าปากีสถานน่าจะใช้ PL-15 รุ่นส่งออก
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมตะวันตกปฏิเสธข้อกล่าวอ้างที่ว่าจรวด PL-15 มีพิสัยทำการไกลกว่า Meteor แต่ยอมรับว่าความสามารถของจรวจจีนอาจมากกว่าที่คาดไว้ และขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยพิสัยทำการของ Meteor อย่างเป็นทางการ จึงยังไม่สามารถตัดสินอะไรได้ เพราะยังมีข้อมูลเพียงน้อยนิดเท่านั้น ทั้งนี้ พิสัยทำการและประสิทธิภาพของ PL-15 เป็นจุดสนใจของชาติตะวันตกมาหลายปีแล้ว การเกิดขึ้นของ PL-15 ถือเป็นสัญญาณหนึ่งในหลายๆ อย่างที่บ่งชี้ว่าจีนได้ก้าวข้ามการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ดัดแปลงมาจากรัสเซียในยุคสหภาพโซเวียตไปแล้ว
กองทัพสหรัฐฯ กำลังพัฒนาขีปนาวุธยุทธวิธีขั้นสูง “เอไอเอ็ม-260 (AIM-260) ร่วมกับ บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ส่วนหนึ่งเพื่อตอบโต้ขีปนาวุธ PL-15 และประสิทธิภาพที่เหนือชั้นกว่าระยะมองเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งค่าใหม่ในลำดับความสำคัญของชาติตะวันตกที่มีต่อจีน เช่นเดียวกับชาติต่างๆ ในยุโรปกำลังพิจารณาการปรับปรุงจรวด Meteor ในช่วงกลางอายุการใช้งาน โดยสิ่งพิมพ์เฉพาะทางอย่าง Janes ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองระหวางประเทศ กล่าวว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อนและการนำทาง แต่บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าความคืบหน้ายังล่าช้า
เมื่อเดือน มี.ค. 2568 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้มอบสัญญาให้กับบริษัทอากาศยานชั้นนำอย่าง โบอิ้ง ในการสร้างเครื่องบินรบที่ล้ำสมัยที่สุดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะรวมถึงระบบล่องหน (Stealth) เซ็นเซอร์ขั้นสูง และเครื่องยนต์ที่ล้ำสมัย
ขอบคุณเรื่องจาก
043...
(รอยเตอร์) 3 ก.พ. 2564 เครื่องบินรบสัญชาติฝรั่งเศส รุ่น "ราฟาล (Rafale)" ซึ่งประจำการในกองทัพอากาศอินเดีย บินผ่านในระหว่างการแสดงทางอากาศ "Aero India 2021" ณ ฐานทัพอากาศ Yelahanka ในเบงกาลูรู ประเทศอินเดีย
(รอยเตอร์) 24 พ.ย. 2558 เครื่องบินรบสัญชาติจีน รุ่น "เจ-10 (J-10)" ซึ่งประจำการในกองทัพอากาศจีน ทำการแสดงบินผาดโผนต่อสื่อมวลชน ณ ฐานทัพอากาศโคราช จ.นครราชสีมา ประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี