งานวันเด็กในวันเสาร์เมื่อวานนี้ ทำให้คิดถึงการ์ตูนแบบไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักวาดการ์ตูนรุ่นเก่า ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานทิ้งไว้มากมาย จากการที่ตัวการ์ตูนนั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างนิสัยการอ่านหนังสือ โดยผ่านตัวการ์ตูนที่ชื่นชอบนั้น เป็นที่นิยมกันมาช้านาน ด้วยการอ่านหนังสือที่มีภาพวาดลายเส้นหรือตัวการ์ตูนประกอบในแบบเรียนไทยนั้นชวนให้น่าสนใจมากกว่า ยิ่งเมื่ออ่านหนังสือการ์ตูนที่มีการแต่งเรื่องราวอย่างสนุกสนานด้วยแล้ว ได้ทำให้เด็กสนใจการอ่านหนังสือมากขึ้นจนเรียกว่าติดการ์ตูนจนไม่อ่านหนังสือเรียนนั่นแหละ ความเป็นมาของการ์ตูนแบบไทยนั้นนับตั้งแต่มีภาพล้อเส้นหมึกของขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองคนแรกที่ลงพิมพ์ในดุสิตสมิต ดุสิตสมัย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้ว ยังมีพระยาอนุศาสน์จิตกรเขียนการ์ตูนและภาพประกอบด้วย นักเขียนการ์ตูนรุ่นเก่าหลายคนนั้นได้สร้างการ์ตูนของตนขึ้นอย่างน่าติดตาม เช่น การ์ตูนของ สวัสดิ์ จูฑะรพ ที่นำเรื่องสังข์ทองมาวาดเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรก ลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และยังได้สร้างตัวการ์ตูน “ขุนหมื่น” โดยดัดแปลงมาจากป๊อบอายและมิกกี้เมาส์ ในระยะแรกนั้นมีการเอาอย่างตัวการ์ตูนต่างประเทศมาสร้างตัวการ์ตูน อย่างเช่น “หนูเล็กลุงโกร่ง” โดยฝีมือ “จิงโจ้”
ส่วนตัวการ์ตูนแบบไทยนั้น เมื่อพ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีการสร้างหนูไก่ หนูนิด หนูหน่อย หนูแจ๋ว โดย“ตุ๊กตา” หรือ พิมล กาฬสีห์, สร้างนายศุขเล็ก โดย ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา “ราชาการ์ตูนไทย” ซึ่งมีทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ผลงานของผู้นี้ได้รับรางวัลแมกไซไซส่วนที่แต่งเรื่องเป็นการ์ตูนเล่มหรือนิยายภาพนั้นมีนักเขียนการ์ตูนอีกหลายคนที่มีชื่อเสียง เช่นปยุต เงากระจ่าง, เหม เวชกร, วิตต์ สุทธิเสถียร, จำนงค์ รอดอริและคนอื่นๆ ต่างสร้างตัวการ์ตูนของตนจนเป็นที่รู้จักกันดีเช่น พ.บางพลี สร้างอัศวินสายฟ้า, จุก เบี้ยวสกุลสร้างเจ้าชายผมทอง, ราช เลอสรวง สร้างสิงห์ดำ,ฉันท์ สุวรรณบุณย์ สร้างป๋องเปรียว และเป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนเด็กเป็นคนแรก หลังสุดนั้นการ์ตูนได้มีการนำ นิทานพื้นบ้านและเรื่องผีมาเขียนเป็นเรื่องแบบไทย โดย ทวี วิษณุกร ซึ่งมีการ์ตูนน่าสนใจอยู่หลายเรื่องเช่น แม่นาคพระโขนง, นางตานี, แก้วหน้าม้า, โกมินทร์ กุมาร, จอมไพรจอมสิงขร, ราชาร้อยเล่ห์, สองอัศวินดาบดำ, เห้งเจียผู้วิเศษ เป็นต้น นักการ์ตูนไทยผู้นี้เป็นผู้สร้างการ์ตูน “ผีกระสือ” เมื่อพ.ศ.๒๕๑๑นับเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รูปแบบผีกระสือยอดนิยมนั้นด้วย อีกทั้งยังทำให้กระแสการ์ตูนจากนิยายพื้นบ้าน เรื่องผีสางนางไม้และเรื่องจักรๆวงศ์ ๆ นั้นได้รับความนิยมตามมาเป็นอย่างมาก จนเรียกกันทั่วไปว่าการ์ตูนเล่มละบาทเกิดขึ้นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สากล
การ์ตูนไทยนั้นพัฒนางานจากการเขียนประกอบเรื่องและการ์ตูนล้อแล้วต่อมาได้พัฒนาจนสามารถมีหนังสือการ์ตูนออกประจำในแนวการ์ตูนขำขัน ซึ่งมีทั้งการ์ตูนตลกช่องเดียว และการ์ตูน ๓ ช่องจบหนังสือการ์ตูนที่ออกมาประจำนั้น ได้แก่ ตุ๊กตา โดย พิมล กาฬสีห์, ชัยพฤกษ์การ์ตูน โดย “รงค์”, หนูจ๋าโดยจุ๋มจิ๋ม หรือจำนูญ เล็กสมทิศ, เบบี้ โดยวัฒนาเพ็ชรสุวรรณ, ขายหัวเราะ มหาสนุก โดย บรรลือสาส์น,ต่วยตูน โดย วาทิน ปิ่นเฉลี่ยว และอื่นๆ ที่ต่างออกหนังสือการ์ตูนออกมามากมายจนติดตามไม่ทัน ปัจจุบัน การ์ตูนแบบไทยยังเป็นสื่อส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กมากกว่าสื่ออื่น อีกทั้งยังพัฒนาการ์ตูนจากหนังสือไปเป็นภาพยนตร์ เป็นสื่อกราฟิกที่ทันสมัย มีสีสัน ให้สามารถออนไลน์เผยแพร่ให้กว้างไกล และยังได้พัฒนาการรูปแบบการ์ตูนให้เป็นการ์ตูนแบบสากลมากขึ้น จนน่าเป็นห่วงว่าการ์ตูนแบบไทยที่มีการสร้างสรรค์และเป็นลักษณะเฉพาะนั้นจะสูญหายไป ด้วยมีการแข่งขันฝีมือการเขียนการ์ตูนแบบใหม่ที่นิยม โดยเฉพาะการ์ตูนแนวมังงะของญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนใหม่ๆสำหรับใช้ในธุรกิจออนไลน์มากขึ้นด้วย นั่นคือการสร้างลิขสิทธิ์ในการใช้การ์ตูนที่ทุกคนสามารถคิดและสร้างขึ้นได้เอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี