พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๙
ในวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งของประเทศ ที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ได้สร้างความปีติยินดีและถือเป็นบุญบารมีของพสกนิกรที่จะได้เห็นพระราชพิธีสำคัญอันสืบราชธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณ เพื่อรับรองฐานะความเป็นองค์พระประมุขของแผ่นดินอย่างเป็นทางการ และเป็นพระราชพิธีการเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยสมบูรณ์ ซึ่งต่อไปนั้นคำสั่งของพระองค์นั้นจะเป็น “พระบรมราชโองการ” ที่มีความสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีที่น่าสนใจและไม่ได้มีบ่อยครั้ง ในช่วงนี้จึงขอนำสารัตถะถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระมหากษัตริย์ที่สืบต่อมาแต่อดีตตามลำดับ พระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์ นั้นมีหมู่พระมหามณเฑียร เป็นหมู่พระที่นั่งหรือกลุ่มเรือนหลวงที่ใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์
ท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๒๕ เพื่อทรงใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษกและประทับอยู่ตลอดรัชกาลหลังจากนั้นพระมหามณเฑียรได้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ สืบเนื่องกันมาทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรี หมู่พระมหามณเฑียรนี้ เป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเป็นแนวตรงและแนวขวางต่อเนื่องกัน โดยมีมุขแล่นถึงกันโดยตลอด ประกอบด้วย หมู่พระวิมานที่บรรทมและท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก มีท้องพระโรงหลังพระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา หมู่พระมหามณเฑียรนี้สร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย มี ช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ ตั้งอยู่ต่อเนื่องในเขตพระราชฐานชั้นในและชั้นกลาง เป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกัน ๓ องค์เดิมมีนามเรียกว่า “พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานนามพระที่นั่งแยกออกเป็นหลังๆ ให้มีนามคล้องจองกัน คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ซึ่งต่างมีความสำคัญตามแบบแผนของราชสำนัก ดังนี้
ผังหมู่พระมหามณเฑียร
๑.พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก่อสร้างในรูปลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยองค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สร้างเป็น ๓ องค์แฝด ภายนอกเป็นระเบียงรายล้อมด้วยเสานางจรัลอยู่ทุกด้าน เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จประทับอยู่เป็นประจำ ๒.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทางทิศเหนือ ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญหรือให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในทุกรัชกาล พระที่นั่งไพศาลทักษิณนั้น เป็นที่ประดิษฐานของปูชนียวัตถุสำคัญ ๓ อย่าง คือ
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานตอนกลางองค์พระที่นั่ง ตรงพระทวารเทวราชมเหศวร พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประทับรับน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่เกือบสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันออก พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นที่ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นโบราณมงคล รับพระแสงราชศัสตราวุธ และพระแสงอัษฎาวุธในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดองค์พระที่นั่งด้านทิศตะวันตก ๓.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน อยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางทิศเหนือเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เช่น เสด็จออกขุนนาง ออกมหาสมาคม ออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำคัญ ซึ่งมีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ ๒ องค์ คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระราชบัลลังก์ทองขนาดย่อม พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์นี้เพื่อเสด็จออกมหาสมาคมเป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกรัชกาล
พระที่นั่งสำคัญในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยฯ
พระที่นั่งอัมรินทร์ฯองค์หน้า
พระบรมมหาราชวัง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี