แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน
ในภาคใต้มีเมืองพัทลุงเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับเมืองหลายเมืองที่เกี่ยวพันทางภูมิศาสตร์คือ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล สงขลา และมีพื้นที่ด้านตะวันออกติดกับทะเลสาบสงขลา บริเวณนี้มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาได้พัฒนามาเป็นเมืองขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ในสมัยสุลต่านสุไลมาน บุตรของดะโต๊ะโมกอล ได้ส่ง ฟาริซี น้องชายปลัดเมือง นั้นมาสร้างเมืองใหม่ที่เขาชัยบุรี เพื่อป้องกันทางบกป้องกันข้าศึกโจมตีเมืองสงขลา ต่อมาฟาริซีได้เป็นเจ้าเมืองพัทลุง จึงย้ายเมืองพัทลุงเดิมออกจากเมืองสงขลามาตั้งเมืองอยู่ที่เขาชัยบุรีตลอดมาจนกระทั่งสิ้นสมัยอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ เมืองนี้ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้ง และเมืองพัทลุงนี้ก็มีผู้นำที่สร้างความเจริญหลายคน เช่น พระยาพัทลุงหรือขุนคางเหล็ก, พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว) พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทรโรจน์วงศ์) ในช่วงการสู้รบนั้นพระมหาช่วย แห่งวัดป่าลิไลยก์ ได้รวมชาวพัทลุง ๑,๐๐๐ คน เข้าขัดตาทัพสู้ข้าศึกที่คลองท่าเสม็ด จนทัพหลวงมาถึงจึงได้ร่วมกับทัพของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้ได้ พระมหาช่วยจึงรับแต่งตั้งเป็นพระยาทุกขราษฎร์ช่วยราชการเมืองพัทลุง ด้วยเหตุที่เมืองนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาเสบียงอาหารยามสงคราม ด้วยมีพื้นที่ราบ เนินเขา และชายฝั่งที่เหมาะในการทำนาข้าวและการเกษตรกรรม พื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓,๔๒๔.๔๗๓ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒,๑๔๐,๒๙๖ ไร่ นั้นมีพื้นดิน ๑,๙๑๙,๔๔๖ ไร่ พื้นน้ำ๒๒๐,๘๕๐ ไร่ มีเขาที่สูงที่สุดคือเขาเจ็ดยอด อยู่ในเทือกเขาบรรทัด สูงประมาณ ๑,๑๖๐ เมตรจึงสะท้อนถึงพื้นที่และวิถีชาวนาที่มีมาแต่โบราณดังนั้นการสร้าง “นาโปแก” ขึ้นในตำบลมะกอกเหนืออำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บนถนนทางไปอุทยานแห่งชาตินกน้ำทะเลน้อย จึงสะท้อนให้เห็นว่า “นาโปแก” ที่มาจากคำพื้นบ้านคือ “นา” หมายถึงนาข้าว และ “โปแก” สำเนียงใต้นั้นหมายถึงพ่อแก่ (โปแก) คือพ่อแก่หรือพ่อเฒ่า แปลได้ว่าเป็น นาข้าวของพ่อแก่ จะเป็นปู่เป็นตาก็ได้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้นายทศพล รักใหม่ เจ้าของที่นากว่า๒๐ ไร่ สร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๙ โดยมุ่งเน้นวิถีของชาวนาอย่างคนโบราณ มีการจัดแปลงสาธิตและให้โอกาสได้ลงมือเรียนรู้การทำนาด้วยตนเอง
ถ่ายทอดการเล่นหนังตลุง
ดังนั้นการเปิดการเรียนรู้วิถีคนเมืองลุงนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ นายวิญญ์สิทธิเชนทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันเปิดไปพร้อมกับชื่นชมการทำงานของภาคเอกชนและได้ให้ความสนใจในการเรียนรู้ไปพร้อมกับชาวบ้าน ด้วยบริเวณนาโปแกนั้นจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวนาในสมัยอดีตของเมืองลุง ต่อมาได้ขยายพื้นที่เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยสนับสนุนศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินเด็กและเยาวชนให้มีพื้นที่การแสดงโนราและหนังตะลุงและเผยแพร่ ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้าน แสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้มีความพร้อมสำหรับเป็นองค์ความรู้ โดยจัดฐานการเรียนรู้สาธิตวิถีชุมชนเป็น ๕ สถานีได้แก่ สถานีที่ ๑ สานศักดิ์ศรีงานศิลป์ เป็นการสาธิตและจัดแสดงงานหัตถกรรมพื้นบ้าน งานช่างสิบหมู่ และงานหัตถศิลป์, สถานีที่ ๒ ทำนาเชิงอนุรักษ์ แสดงวิถีนาโบราณ การทำนาแบบดั้งเดิม, สถานีที่ ๓ อัตลักษณ์ถิ่นพัทลุงจัดแสดงเกี่ยวกับมโนราห์ หนังตะลุง รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ในสมัยอดีตเมืองลุง, สถานีที่ ๔ปรุงอาหารเป็นยา จัดแสดงและสาธิตอาหารที่มีสรรพคุณทางยา มีส่วนผสมของสมุนไพร ได้แก่ ข้าวยำ ขนมจีน แกงเลียง และสถานีที่ ๕รักษ์คุณค่าสมุนไพร จัดแสดงยาสมุนไพรตำรับวัดเขาอ้อ รวมทั้งเปิดบริการห้องพักแบบโฮมสเตย์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศแบบท้องทุ่ง ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนให้มีการต่อยอดเกิดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและฐานรากของเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นสินค้าและงานบริการ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้มียุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรมให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตที่ดีงามให้มีความยั่งยืนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี