ก่อนใช้ยาทุกครั้ง คุณตรวจสอบแล้วใช่ไหมว่ายาไม่หมดอายุ และไม่เสื่อมคุณภาพ เรื่องอายุของยายังตรวจสอบได้ง่าย แต่เรื่องคุณภาพยาอาจจะตรวจสอบได้ยาก
ขอถามว่า คุณเก็บยาสามัญประจำบ้าน ยาสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินไว้ที่ไหน มีตู้ยาหรือกล่องยาแยกเก็บเป็นพิเศษจากผลิตภัณฑ์อื่นหรือเปล่า นอกจากนี้ บางบ้านที่มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับยาจากโรงพยาบาลครั้งละมากๆ หรือผู้ที่เคยไปหาหมอ หรือซื้อยาจากร้านยา เนื่องจากมีโรคเฉียบพลัน แต่ใช้ยาไม่หมดคุณเก็บยาที่เหลือไว้ที่ไหน แล้วเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องนำยากลับมาใช้อีกครั้ง คุณตรวจสอบยาก่อนใช้หรือไม่ แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่า ยาที่มีนั้นยังมีคุณภาพดี
เมื่อพูดถึงยา ต้องบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวมากในเรื่องของการดูแลรักษา เพราะสภาพแวดล้อมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น ล้วนมีผลต่อความคงตัวของยาทั้งสิ้น ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ายาส่วนใหญ่จะระบุในเอกสารกำกับยาหรือที่กล่องบรรจุยาว่าให้เก็บในที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศที่แดดแรงมากๆ อย่างประเทศไทย ดังนั้นคำแนะนำแรกสำหรับการเก็บยาในบ้านคือ ขอให้มียาน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นต้องใช้ อย่าซื้อยาเก็บไว้ที่ละมากๆ เพราะสุดท้ายแล้วยาที่เก็บอาจเสื่อมคุณภาพก่อนใช้หมด
คำแนะนำต่อมาคือ สำหรับยาเม็ดควรพยายามเลือกที่บรรจุในแผง เพราะยาที่เป็นเม็ดเปลือย เมื่อเปิดขวดแล้วอาจปนเปื้อนฝุ่นผงต่างๆ ได้ง่าย รวมถึงความชื้นจะทำให้อายุยาในขวดสั้นกว่าอายุที่กำหนดไว้บนบรรจุภัณฑ์ คำแนะนำคือหลังจากเปิดขวดแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 3 เดือน ดังนั้นต้องเขียนวันแรกที่เปิดขวดยาไว้บนขวดยาด้วย นอกจากนั้นทุกครั้งที่เปิดใช้หากสังเกตว่า สี กลิ่น รูปลักษณ์ภายนอกของยาผิดไปจากเดิม ควรงดใช้และทิ้งทันที
หลายคนเชื่อว่า การนำยาไปเก็บในตู้เย็นจะช่วยยืดอายุได้ดี แต่ขอบอกว่าเข้าใจผิด เพราะแม้ในตู้เย็นจะมีอุณหภูมิต่ำมีความชื้นสูงมาก ความชื้นจะส่งผลเสียต่อคุณภาพยา ดังนั้นหากไม่มีการระบุบนฉลากหรือเอกสารกำกับยาว่าให้นำยาไปเก็บในตู้เย็น ห้ามนำยาไปเก็บไว้ในตู้เย็นเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาน้ำเชื่อมที่หากนำไปเก็บในที่เย็น อาจทำให้น้ำตาลตกตะกอนได้
แล้วเราจะเก็บยาไว้ที่ไหนดี จึงจะรักษาคุณภาพของยาได้นานที่สุด ปลอดภัยกับทุกคนมากที่สุด คำตอบคือต้องเก็บแยกจากสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง สารเคมีต่างๆ พูดให้ตรงประเด็นคือต้องเก็บยาในตู้ยาหรือกล่องสำหรับใส่ยาเท่านั้น
สถานที่เหมาะสมสำหรับเก็บตู้หรือกล่องยาต้องอยู่พ้นจากมือเด็ก หรือที่ซึ่งสัตว์เลี้ยงเข้าไม่ถึง ไม่ถูกแสงแดดส่อง และไม่ใกล้กับแหล่งน้ำที่ทำให้เกิดความชื้น ที่แน่ๆ คือตู้ในห้องน้ำ หรือบนหลังตู้เย็น หรือตู้ครัวไม่ใช่ชัยภูมิที่ดีในการเก็บยา
แม้เราจะพยายามเก็บยาในไว้ที่เหมาะสมแล้วก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่ายาเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ่อนไหว ดังนั้นถ้าบนผลิตภัณฑ์ไม่มีวันหมดอายุระบุไว้ก็อย่านึกเสียดาย ขอให้ทิ้งยาเก่าไปทันที ดังนั้นเวลาเก็บยาทุกครั้ง พยายามอย่าทำให้ส่วนที่ระบุวันหมดอายุหายไป
ประการต่อมาคือ ผลิตภัณฑ์ยาเม็ดเปลือยบรรจุในขวดเมื่อเปิดแล้วควรเขียนวันที่กำกับไว้ และทิ้งไปเมื่อเปิดไว้เกิน 6 เดือน สำหรับยาน้ำเมื่อเปิดใช้แล้วโดยทฤษฎีอาจมีอายุหลังจากเปิด 6 เดือน แต่เนื่องจากเภสัชภัณฑ์แบบน้ำมีความคงตัวไม่ดีเท่าแบบของแข็ง ดังนั้นก่อนใช้ยาทุกครั้งผู้ใช้ยาต้องสังเกต สี กลิ่น รส ความใส/ขุ่น ลักษณะของตะกอนต่างๆ หากพบว่าผิดเพี้ยนไปก็ต้องทิ้งไป ย้ำว่าอย่าเก็บยาในตู้เย็น ถ้าไม่มีคำแนะนำบนฉลากหรือเอกสารกำกับยา สำหรับยาเม็ดอาจสังเกตเห็นความผิดปกติได้ค่อนข้างยากกว่า แต่หากพบว่า สี กลิ่นของเม็ดยาเปลี่ยนไป หรือยาที่อยู่ในแผงแล้วลักษณะของแผงมีความผิดปกติ เช่น บวมขึ้น ก็ต้องไม่นำมาใช้
คุณภาพของยาส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิผลของการรักษา ดังนั้น การเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง และสังเกตลักษณะของยาเพื่อตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้จะทำให้ผู้ใช้ยาปลอดภัย และได้ผลสูงสุดในการใช้ยา
ผศ. ภญ. ดร. ณัฏฐดา อารีเปี่ยม
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี