ประธานาธิบดี เรเจป เทย์ยิบแอร์โดอัน ของตุรกี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด หลังจากที่ผลการเลือกตั้งรอบ 2 อย่างเป็นทางการถูกประกาศออกมาแล้วว่าแอร์โดอันคว้าชัยชนะไปด้วยคะแนนเสียง 52.1% เอาชนะคู่แข่งอย่าง เคมาล คิลิกดารอกลู ตัวแทนจากพันธมิตรฝ่ายค้านที่ได้คะแนนเสียง 47.9% ชัยชนะของแอร์โดอันในครั้งนี้ทำให้เขาได้เป็นผู้นำประเทศต่อไปอีก 5 ปี ไปจนถึงปี 2028 หลังจากครองอำนาจมาแล้ว 2 ทศวรรษ
แอร์โดอันได้แถลงประกาศชัยชนะต่อหน้าผู้สนับสนุนกว่า 320,000 คน ที่นครอีสตันบูล ว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ประเทศชาติมอบให้เราจะไม่โกรธ ไม่แค้น หรือโกรธใครถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติการโต้เถียงและความขัดแย้งทั้งหมดของเลือกตั้ง และรวมใจกันเพื่อเป้าหมายและความฝันของชาติ ซึ่งไม่สำคัญว่าใครชนะ แต่มันคือชัยชนะของชาวตุรกี โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหนึ่งในครั้งที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ พร้อมประกาศจะเดินหน้านโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ รวมถึงในประเด็นผู้อพยพที่จะเปิดให้สมัครใจเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ โดยมีผู้อพยพชาวซีเรียสมัครใจเดินทางกลับประเทศไปแล้วกว่า 600,000 คน นอกจากนี้ ยังจะเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง และเงินเฟ้อเป็นปัญหาแรกๆ
ก่อนหน้าประกาศชัยชนะ แอร์โดอันและภริยา ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่นครอิสตันบูล ท่ามกลางความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมาก โดยผู้นำตุรกีหยิบธนบัตรออกจากกระเป๋าระหว่างทักทายผู้สนับสนุนและยื่นให้ทีละคน หลังจากเขาลงคะแนนเลือกตั้งเสร็จสิ้น โดยธนบัตรที่เขามอบให้ประชาชนเป็นชนิดใบละ 200 ลีรา หรือประมาณ 350 บาทซึ่งการมอบเงินหรือสิ่งของให้ผู้สนับสนุนเป็นวิสัยของผู้นำตุรกี ที่มักมอบของเล่นให้เด็กๆ ตามงานต่างๆ ที่มีการพบปะ และบางครั้งก็มอบเงินให้ โดยเฉพาะในเทศกาลต่างๆ ของชาวมุสลิม
ส่วนคิลิกดารอกลู ยังไม่ได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างเต็มตัว แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธผลการเลือกตั้ง โดยระบุเพียงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมที่สุดในรอบหลายปีมานี้ เนื่องจากเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสจะล้มแอร์โดอันได้ ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนออกมาใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม และอีกส่วนหนึ่งคือคะแนนนิยมของแอร์โดอันลดต่ำลงมากจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีรายงานว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์บางตากว่าการเลือกตั้งรอบแรกซึ่งจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงถึง89% ท่ามกลางการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่ามีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่ง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตุรกีเพิ่งผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อช่วงเดือนก.พ. ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 50,000 ศพ และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมากจนหลายฝ่ายคาดว่าจะกระทบกับคะแนนนิยมของแอร์โดอัน ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังหลายปีแต่เขาสามารถสวนกระแสผลสำรวจช่วงก่อนหน้านี้ และเอาชนะคู่แข่งฝ่ายค้านมาได้ ซึ่งในการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 14 พ.ค. แม้ยังมีคะแนนไม่ถึง 50% ตามเกณฑ์ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งรอบสอง
ผลการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมายที่หลายฝ่ายมองว่า หากต้องเลือกตั้งรอบตัดเชือกจะส่งผลดีกับแอร์โดอัน ซึ่งเขามีคะแนนนำตั้งแต่รอบแรก แต่หากคิลิกดารอกลูต้องการจะชนะ เขาจะต้องกวาดคะแนนให้ได้เกิน 2,500,000 เสียงที่แอร์โดอันนำอยู่ในการเลือกตั้งรอบแรก หรือต้องเปลี่ยนใจคนกว่า 2,000,000 คน ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า หากฝ่ายค้านทำได้จริงคงเป็นปาฏิหาริย์ แต่ก็ไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น
ชัยชนะครั้งนี้ตอกย้ำภาพความเป็นผู้นำที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางนโยบายการต่างประเทศซึ่งแอร์โดอันผลักให้ตุรกียกระดับบทบาทในภูมิภาค และสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย ทำให้ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่างๆ ท่ามกลางสงครามรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 15 เดือน ยังไม่นับอิทธิพลในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลทางภูมิรัฐศาสตร์
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรืออียู จะยังคงมีต่อกันต่อไป แต่ก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด แม้ไม่อาจโน้มน้าวให้ตุรกีคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ก็จะพยายามยับยั้งธนาคารและบริษัทของตุรกีไม่ให้ทำข้อตกลงการค้าที่สำคัญกับมอสโก อีกทั้งมีแนวโน้มว่า ตุรกีอาจรับรองให้สวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโตในปีนี้ เพื่อแลกกับการซื้อเครื่องบิน เอฟ-16 จากสหรัฐฯ หลังจากที่ผ่านข้อตกลงเรื่องนี้ถูกต่อต้านจากเหล่าสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ไม่น้อย เนื่องจากตุรกียังคงไม่ได้มีทีท่าที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และยังเป็นจระเข้ขวางคลองในหลายประเด็นของนาโตด้วยอีกทั้งการมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียอีกด้วย ด้วยการซื้อ ระบบต่อต้านอากาศยาน เอส-400 จากรัสเซีย
โดย ดาโน โทนาลี