สภาพอากาศแห้งและร้อนจัดเป็นจุดร่วมสำคัญของไฟป่าแทบทุกครั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์เลวร้าย ที่ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตจากไฟป่าครั้งใหญ่บนเกาะเมาวีในรัฐฮาวาย เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 110 ราย กลายเป็นไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 100 ปี ของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเดินหน้าค้นหาร่างผู้สูญหายใต้ซากความเสียหายเช่นเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ของเนชันแนลการ์ด ในรัฐฮาวาย โปรยน้ำดับไฟป่าบนเกาะเมาวี หลังจากไฟป่าเผาผลาญพื้นที่อย่างน้อย 3 จุดบนเกาะ ตั้งแต่วันอังคารที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงเดินหน้าสำรวจรอบเมืองลาไฮนา เมืองประวัติศาสตร์ริมชายฝั่งบนเกาะเมาวี ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนต่อการให้ความช่วยเหลือล่าช้า หลังจากปฏิบัติการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตโดยสุนัขดมกลิ่นของทีมกู้ภัยเดินหน้าไปได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ของพื้นที่ค้นหาทั้งหมด บนเกาะเมาวีเท่านั้น
แต่ล่าสุด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเปิดเผยว่า สามารถเดินตรวจสอบพื้นที่ประสบภัยแล้วราวกว่าร้อยละ 40 และมีการเพิ่มจำนวนทีมที่มีการใช้สุนัขดมกลิ่นช่วยเป็นกว่า 40 ทีมแล้ว เนื่องจากสภาพพื้นที่และความร้อนทำให้สุนัขไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้นาน
สำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินสหรัฐฯ ชี้ว่าการฟื้นฟูเมืองลาไฮนาอาจมีมูลค่าสูงถึง 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 190,000 ล้านบาท เนื่องจากไฟป่าเผาผลาญพื้นที่กว่า 5,300 ไร่ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างกว่า 2,200 หลัง เสียหาย หรือถูกทำลาย จนราบเป็นหน้ากลอง ขณะที่ จอช กรีน ผู้ว่าการรัฐฮาวาย เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ศพของประชาชนบางส่วนนั้น น่าสลดหดหู่เกินกว่าจะนำมาแสดงให้เห็น หรือแม้แต่มองดูได้ โดยยกตัวอย่างการพบศพของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ในรถในสภาพไหม้เกรียมและครอบครัวที่มีสมาชิก 7 คน ที่เสียชีวิตในบ้านที่ถูกเผาจนเป็นจุณ
ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ยังสั่งเปิดการสอบสวนเกี่ยวกับระบบสัญญาณเตือนภัยหลังจากผู้ประสบภัยไม่ได้รับสัญญาณการแจ้งเตือนจากทางการ ซึ่งในประเด็นนี้อีกด้านหนึ่ง เฮอร์มาน อันดายาผู้อำนวยการหน่วยบริการงานฉุกเฉินเมาวี ออกมาโต้ตอบเสียงร้องเรียนว่า ทางหน่วยงานไม่ได้เปิดสัญญาณไซเรนเตือนเหตุไฟป่าให้กับประชาชน โดยให้เหตุผลว่า ที่ไม่ได้เปิดไซเรนนั้นเป็นเพราะความกังวลว่า ผู้คนจะตกใจและแห่กันหนีขึ้นเขาหรือเข้าไปในพื้นที่กลางเกาะ ซึ่งหมายถึงการมุ่งหน้าเข้าไปในกองไฟ แต่รายงานข่าวระบุว่า ในพื้นที่หุบเขาของเกาะเมาวีนั้นไม่ได้มีการติดตั้งระบบไซเรน ขณะที่ ไฟป่านั้นลุกลามแบบกระจายตัวลงมาตามไหล่เขา
ผอ.อันดายา ยังกล่าวด้วยว่าระบบที่ว่านั้นมีไว้สำหรับการเตือนภัยสึนามิไม่ใช่ไฟป่า แต่เว็บไซต์ของระบบนี้ระบุว่าไซเรนที่ว่าสามารถใช้งานสำหรับการเตือนภัยเหตุอัคคีภัยได้ โดยฮาวายได้ติดตั้งระบบที่มีการโฆษณาว่า เป็นระบบไซเรนเตือนภัยภายนอกอาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิในปี 1946 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 150 ราย
แต่ในที่สุด อันดายา ก็ทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกดดันไม่ไหว ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งไปเรียบร้อย
อย่างไรก็ดี เกาะเมาวีเริ่มส่งสัญญาณแรกของการฟื้นตัวจากไฟป่าครั้งใหญ่ หลังจากโรงเรียนบางแห่งบนเกาะเริ่มเตรียมเปิดชั้นเรียนเช่นเดียวกับการจราจรบนถนนสายหลักก็เริ่มกลับมาวิ่งแล่นอีกครั้ง นอกจากนั้นหน่วยงานด้านการศึกษายังได้เริ่มกระบวนการทำความสะอาดและเก็บกวาดเศษซากจากเหตุไฟป่าและการทดสอบคุณภาพอากาศและน้ำตามโรงเรียนต่างๆ พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักเรียนนักศึกษาของสถาบันต่างๆ มารับอาหารและบริการคำปรึกษาต่างๆ ได้แล้วโดยเฉพาะในส่วนของการให้คำปรึกษาที่เปิดกว้างให้กับสมาชิกในครอบครัวของนักเรียนและเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษาทั้งหลายด้วย
ย้อนรอยไฟป่ารุนแรงในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ข้อมูลจากเว็บไซต์สมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NFPA ชี้ว่าไฟป่าในเมืองเพสติโก (Peshtigo) ในรัฐวิสคอนซินเมื่อปี 1871 สร้างความสูญเสียมากที่สุด กระแสลมตะวันตกเฉียงเหนือทำให้ไฟป่าเผาผลาญพื้นที่กว่า 3,000,000 ไร่ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติในครั้งนี้สูงถึง 1,152 ราย
หลักฐานทางประวัติศาสตร์จาก Peshtigo Historical Society ระบุว่า อิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำทำให้ไฟป่ารุนแรงจนควบคุมไม่ได้ ที่ตั้งของเมืองเพสติโก อยู่กลางป่าสนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดทำจากไม้ กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้ไฟป่าครั้งนั้นลุกลามอย่างรวดเร็วมากขึ้น
ส่วนไฟป่าโคลเกต์ (Cloquet) เมื่อเดือนต.ค.1918 ในมินนิโซตาและวิสคอนซิส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 453 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 52,000 คน
ขณะที่ไฟป่าบนเกาะเมาวีในรัฐฮาวาย ทำสถิติรุนแรงเป็นอันดับที่ 5 โดยผู้เสียชีวิตพุ่งสูงที่สุดในรอบ 105 ปีหรือนับตั้งแต่ ปี 1918 เป็นต้นมา
ตลอด 5 ปีนี้ ไฟป่าในสหรัฐฯ สร้างความเสียหายให้สิ่งปลูกสร้างกว่า 60,000 แห่ง ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ 71.8 ล้านแห่ง ตกอยู่ในความเสี่ยงจากไฟป่า การรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ พบว่า ที่ดินราวร้อยละ 50 ในสหรัฐฯ มักเป็นป่า, ป่าละเมาะ และทุ่งหญ้าเป็นหลัก
แม้ว่าสาเหตุของไฟป่าบนเกาะเมาวีครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่หลายสื่อท้องถิ่นชี้ว่า มาจากสภาพอากาศร้อนจัดและแห้ง แถมยังมีกระแสลมแรงจากอิทธิพลของพายุไซโคลนที่เคลื่อนตัวอยู่นอกชายฝั่ง ไม่ไกลจากเมืองลาไฮนา ช่วยโหมให้ลุกลามเร็วขึ้น ขณะที่ความแห้งแล้งส่งผลให้พืชพรรณกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกรมป่าไม้ชี้ว่า ร้อยละ 85 ของไฟป่า เกิดจากฝีมือมนุษย์
ขณะเดียวกัน แนวทางในการจัดการป่าและการจัดการแหล่งเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยสำคัญต่อความรุนแรงและขนาดของไฟป่าในแต่ละครั้งเช่นกัน เช่น การเผาป่าแบบควบคุมเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงและจำกัดขอบเขตไม่ให้ไฟป่าสร้างความเสียหายให้พื้นที่เป็นวงกว้างจนยากเกินควบคุม หลังอัตราการเกิดไฟป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอด 40 ปี จาก 18,000 ครั้ง ในปี 1983 เป็น 66,000 ครั้ง ในปี 2022
เป็นอีกครั้งที่เราได้เรียนรู้เมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่ และไฟป่าบนเกาะเมาวีน่าจะทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังเป็นบทเรียนให้รัฐบาลท้องถิ่น เตรียมระบบเตือนภัยให้พร้อมอีกด้วย
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี