วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
ส่องบทเพลงสะท้อน'รถยนต์บอกชนชั้น' หนึ่งปมสำคัญ'คนไทยค้านมาตรการลดใช้'

ส่องบทเพลงสะท้อน'รถยนต์บอกชนชั้น' หนึ่งปมสำคัญ'คนไทยค้านมาตรการลดใช้'

วันพฤหัสบดี ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562, 15.50 น.
Tag : นายกฯ บิ๊กตู่ ประยุทธ์ ฝุ่นพิษ ฝุ่นละออง มลพิษ มาตรการ รถยนต์ส่วนบุคคล
  •  

“ถ้าแก้ไม่ได้อีก มาตรการต่อไปก็ให้วิ่งรถวันคี่วันคู่ ห้ามรถดีเซลวิ่งบนถนนเส้นนี้ ทุกคนบอกผมอ่อนเกินไปในเรื่องนี้ ไม่เข้มงวดไม่จริงจัง ผมพร้อมทำทุกอย่าง แต่ทุกคนต้องร่วมมือให้รีบไปแก้ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวจะไปกำกับ คสช. ต่อไปนั่งรถคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อน 2-3 คนไปด้วยกัน ด่าผมดีนักว่าทำไมอย่างนี้ไม่ทำ ไอออกมาเป็นเลือด ผมจะทำให้ ต่อไปนี้ไปไหนชวนเพื่อนไปด้วยนั่งรถไปด้วยกัน เดี๋ยวจะไปทบทวนว่าทำได้หรือไม่ได้”

คำกล่าวของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 30 ม.ค. 2562 ในช่วงที่กรุงเทพฯ (กทม.) และปริมณฑล ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM2.5 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันทั้งรัฐบาลส่วนกลางรวมถึงผู้บริหาร กทม. ออกสารพัดมาตรการ ทั้งการเข้มงวดรถเครื่องยนต์ดีเซลที่มีควันดำเกินมาตรฐาน การเผาในที่โล่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม “ทุกมาตรการได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน” เว้นก็แต่เฉพาะ “การจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล” เท่านั้นที่ดู “กระแสต้าน” ค่อนข้างรุนแรง


ซึ่งก็ต้องบอกว่า “ไม่ใช่ครั้งแรก” อาทิ ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่ปรากฏข่าวฝุ่น PM 2.5 นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ มีข้อเสนอว่า “ห้ามจอดรถริมถนนช่วงเวลา 06.00 - 21.00 น. รวมถึงอาจต้องให้ใช้รถสลับทะเบียนเลขคู่เลขคี่” หรือย้อนไปในปี 2556 ที่ช่วงนั้นมีข่าว กทม. เป็นเมืองรถติดอันดับต้นๆ ของโลก พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ในขณะนั้น) เสนอมาตรการ “ห้ามรถเก่าอายุ 7 - 10 ปีขึ้นไปวิ่งใน กทม.” ทั้ง 2 กรณี “ประชาชนทุกเสื้อสีสามัคคีคัดค้านอย่างพร้อมเพรียง” จนต้องพับนโยบายเก็บแทบไม่ทัน

ในมุมหนึ่งนอกจากระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สะดวก ซึ่งมองลึกลงไปยังเกี่ยวกับการจัดผังเมืองของประเทศไทยที่ใครจะอยู่อาศัยตรงไหนก็ได้ส่งผลให้มีชุมชนเกิดใหม่เสมอตามถนนสายรองและตรอกซอกซอยต่างๆ อย่างต่อเนื่องเมื่อชุมชนมีความกระจัดกระจายจึงไม่มีทางจัดระบบขนส่งมวลชนได้อย่างทั่วถึง สุดท้ายประชาชนก็ต้องถอยรถออกมาใช้แล้วการจราจรก็ติดขัดบวกเป็นสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อมในวิกฤติฝุ่น PM2.5

แต่อีกมุมหนึ่ง “สำหรับสังคมไทยแล้ว รถยนต์ยังเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคม” และมีงานเชิงวิชาการกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้พอสมควร อาทิ บทความ “รับค่านิยมที่ผิดจะกลายเป็นบัณฑิตขาดจิตสำนึก” เผยแพร่ในวารสารมหาวิทยาลัยนครพนม ; ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 : พฤษภาคม - สิงหาคม 2557 ระบุว่า “..มีบางมหาวิทยาลัยที่ในหมู่นักศึกษา จัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง มีสภาพคล้ายโชว์รูมรถยนต์หรูราคาแพง” จนเป็นที่เล่าขานในหมู่นักศึกษาเกี่ยวกับถ้าต้องการเห็นรถยนต์ออกใหม่หลากหลายรุ่นในเมืองไทยไปดูได้ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

สาเหตุที่ถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยรถยนต์หรู เป็นเพราะมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นสถานที่บุตรเศรษฐีมาเรียน และส่วนใหญ่เป็นบุตรนักการเมือง นักธุรกิจ คนดังในสังคมชั้นสูง นักศึกษาแต่ละคนขับรถยนต์ราคาหลักล้านขึ้นไป นอกจากนั้นกลุ่มคนดังกล่าวจะขับรถราคาแพงไปเรียนหนังสือพบว่า มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งยังใช้รถเป็นสิ่งประกวดประขันกัน จากการสำรวจข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งพบว่า นักศึกษาขับรถยนต์ราคาคันละหลายล้านบาท

อาจารย์ในมหาวิทยาลัย กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในจำนวนนักศึกษาประมาณ 10,000 คน เป็นเจ้าของรถยนต์ 4,000-5,000 คันขณะเดียวกัน พบว่านักศึกษาบางคนได้รับเงินเดือนจากผู้ปกครองเดือนละ 100,000 บาท จะเห็นได้ว่านักศึกษาส่วนหนึ่งใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างหรูหรา จากการสอบถามนักศึกษาเจ้าของรถยนต์ราคาแพง สรุปว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาทขึ้นไป..”

“รายงานฉบับสุดท้าย Global Culture โครงการศึกษาวิจัยพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของโลกที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรม - สังคมไทย” จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nesdb.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?nid=2654

หรือจะเป็น “รายงานฉบับสุดท้าย Global Culture โครงการศึกษาวิจัยพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของโลกที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรม - สังคมไทย” ที่จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีตอนหนึ่งระบุว่า “การบริโภคเพื่อความสุขไดกลายเป็นคูณค่าหลักของคนไทยจำนวนมาก การขับรถหรูใช้ของแพง กลายเป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้น หรือเป็นเครื่องมือในการเลือนสถานะทางสังคม” เป็นต้น

ไม่เพียงแต่งานวิชาการเท่านั้นที่กล่าวถึงค่านิยมของคนไทยว่ารถยนต์เป็นเครื่องบ่งชี้สถานภาพทางชนชั้นในสังคม “เพลง” ก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่สะท้อนภาพของสังคมในยุคสมัยที่ผู้ประพันธ์ดำรงชีวิตอยู่ และวงการเพลงไทยเองก็เคยมีหลายบทเพลงและหลายแนวดนตรีที่กล่าวถึงรถยนต์กับสังคมไทย ตั้งแต่การเปรียบเทียบระหว่างคนมีกับไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล และระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง อาทิ

ฟังเพลง “จักรยานคนจน” ได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=bGWd1TR6fIk

ก่อนที่จักรยานจะได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางอย่างทุกวันนี้ตามกระแสรักษ์โลกและรักสุขภาพ เมื่อหลายสิบปีก่อนจักรยานเคยถูกมองว่าเป็นพาหนะของคนระดับรากหญ้าด้อยฐานะทางเศรษฐกิจ จนครูเพลงชื่อดัง “ชวนชัย ฉิมพะวงษ์” นายประทวน ฉิมพะวงษ์ นำไปแต่งเพลง “จักรยานคนจน” มอบให้นักร้องลูกทุ่งชื่อก้อง “ยอดรัก สลักใจ” ส.ต.ท.นิพนธ์ ไพรวัลย์ ไปร้องจนกลายเป็นเพลงฮิต ทำให้ยอดรักได้รับรางวัลพระราชทานเพลงดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อปี 2532

บทเพลงจักรยานคนจนมีเนื้อหาตัดพ้อ “..คนสวยของพี่จึงคิดจะมีรักใหม่ ไปนั่งท้ายมอเตอร์ไซค์ รุ่นใหม่เมดอินแจแปน , จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท ถึงช้าอืดอาดแต่ก็เมดอินไทยแลนด์ , ต้องใช้ขาปั่น รถพี่มันถึงจะแล่น  ไม่เหมือนรถเครื่องต่างแดน ยิ่งเร่งยิ่งแล่น เพราะใช้น้ำมัน..” สะท้อนถึงสังคมในขณะนั้นที่คนไทยเริ่มหันมาใช้มอเตอร์ไซค์ (จักรยานยนต์) เป็นพาหนะ โดยเริ่มจากคนชั้นกลางขึ้นไปก่อนในขณะที่คนระดับล่างยังไม่มีกำลังทรัพย์มากนักยังต้องทนขี่จักรยานต่อไป แล้วมอเตอร์ไซค์ก็กลายเป็นเครื่องระบุชนชั้นในสังคมไทยไปโดยปริยาย

ฟังเพลง “รักทรหด” ได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=8VNcxtzQPug

ในยุคเดียวกับเพลงจักรยานคนจนซึ่งเป็นแนวลูกทุ่ง “วงการดนตรีเพื่อชีวิต” อันหมายถึงแนวเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคมและการเมืองก็กำลังเฟื่องฟูเช่นกัน โดยเฉพาะ “คาราบาว” วงดนตรีที่ใช้หัวควายเป็นสัญลักษณ์ ในปี 2531 ได้ส่งอัลบั้ม “ทับหลัง” ซึ่งมีเพลง “รักทรหด” ผลงานจากปลายปากกาของ “น้าแอ๊ด” ยืนยง โอภากุล นักร้องนำและหัวหน้าวง และกลายเป็น 1 ในเพลงฮิตเมื่อนึกถึงวงคาราบาวมาจนถึงปัจจุบัน

เพลงรักทรหดนั้นกล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่งที่ตอนแรกยังต้องโดยสารรถประจำทางไปทำงานแล้วต้องทนกับแฟนสาวที่บ่นกว่าไม่สะดวกสบาย “โหนรถเมล์เรื่อยไป แฟนก็บ่นว่าลำบาก อยากจะขี่เก๋ง ให้มันดูโก้ โธ่จะกินยังไม่มี” และต่อมาก็ตัดสินใจถอยรถยนต์มือสองมาใช้ แม้จะต้องกัดฟันผ่อนก็ตาม “ลำบากยากเย็นช่างเข็ญใจ อุตส่าห์พาไปซื้อรถเซ็คเกิ้นแฮนด์ (Second Hand) , เพราะว่ารักจริง รักและเข้าใจ อดยังไงก็จะดาวน์” ซึ่งเชื่อว่าแม้จะผ่านมา 3 ทศวรรษ แต่หนุ่มไทยหลายคนน่าจะยังอยู่ในสภาพแบบนี้ เพราะถ้าไม่ทำก็กลัวว่าจะหาสาวมาเป็นภรรยาไม่ได้

ภาพจากมิวสิควีดีโอ “มอเตอร์ไซค์ฮ่าง” (ฟังเพลงได้ที่นี่) : https://www.youtube.com/watch?v=CJtSKMBclOU

ในช่วงทศวรรษ 2530s ที่ 2 เพลงข้างต้นเป็นเพลงฮิตนั้นเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นถึงขั้นมีคนกล้าฝันว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ยุคนั้นคนไทยหาเงินง่ายใช้จ่ายคล่อง กระทั่งทุกอย่างพังทลายลงในปี 2540 จากวิกฤติต้มยำกุ้ง บริษัทห้างร้านปิดกิจการและบรรดามนุษย์เงินเดือนจำนวนมากก็ตกงาน แต่ดูเหมือนความนิยมในพาหนะติดเครื่องยนต์ส่วนบุคคลของคนไทยก็ยังไม่ลดลง เพราะในปี 2544 ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว บทเพลง “มอเตอร์ไซค์ฮ่าง” ของวง “ร็อคแสลง” เพลงลูกทุ่งภาษาถิ่นอีสาน กลายเป็นเพลงยอดฮิตของปีนั้น

มอเตอร์ไซค์ฮ่างมีเนื้อหาว่าด้วยครูหนุ่มขี่มอเตอร์ไซค์สภาพเก่าที่หลงรักสาวสวยนางหนึ่ง แต่ก็มีคู่แข่งเป็นหนุ่มตำรวจที่ขับรถกระบะ “เขามีรถรับส่ง โฉมยงลืมซ้อนท้ายเรา เขามียศมาอวด เป็นตำรวจร้อยตรีมีดาว จบนายร้อยหมาดๆ มาดไม่เบา ส่วนตัวเราราชภัฎพอกะเทิน” สุดท้ายแล้วคุณครูก็ตัดพ้อว่า “น้ำตาผู้น่อย น้ำตาผู้น่อย ย้อยย๊ดหยด อยากจะมีรถปิกอัพขับเหลือเกิน มอเตอร์ไซค์ฮ่าง มอเตอร์ไซค์ฮ่าง เขาหมางเมิน อยากจะกู้เงินสหกรณ์ ผ่อนรถยนต์” ชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ข้าราชการด้วยกัน วุฒิการศึกษาปริญญาตรีเท่ากันก็ยังแบ่งชนชั้นตามพาหนะที่ใช้

ฟังเพลง “Oh No” ได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=0nJCKRYgrd0

จากเพลงลูกทุ่งและเพื่อชีวิต ดนตรีแนว “แร็พ , ฮิปฮ็อป” (Rap , HipHop) ก็เคยมีเพลงเนื้อหาเสียดสีการต้องมีรถยนต์ของคนไทยเช่นกัน ย้อนไปในปี 2547 ศิลปินแร็พ “บี - คิง” (B - King) ที่มีเพลงฮิตในปีนั้นอย่าง “แช่ง” แต่ในอัลบั้มเดียวกันก็ยังมีเพลง “Oh No” เนื้อหาประชดประชันว่าด้วยชายหนุ่มอยากจะจีบสาวแต่ก็ต้องทำใจเพราะสาวเจ้าเลือกมองแต่ผู้ชายที่มีรถยนต์ขับเท่านั้น เพราะการมีรถยนต์ส่วนบุคคลหมายถึงการเป็นคนรวยฐานะมีอันจะกิน

ดังท่อนฮุค “Oh no..Oh no Listen up yo Here we go , Oh oh no ไม่มีรถฉันคงไม่สนใจ , บอก Goodbye ไม่มีเงินไม่ต้องมาหา , Oh oh no ไม่มีรถก็ไม่ต้องมา , บอก Goodbye ไม่มีเงินเอาไว้วันหน้า” และท่อนแร็พ “ก็คิดไว้แล้ว ว่าเธอคงเป็นพวกนิยมติดเบาะ ถ้ามีรถมีเงินพวกเธอคงรีบวิ่งเข้ามาออเซาะ ป๋าคะ พี่ขา ทำหน้าตาเจ้าเล่ห์ ฉอเลาะ เกาะติดรีบเกาะ ดูดเงินเข้ากระเป๋าคุณเธอ” เท่านั้นยังไม่พอ มีบางท่อนที่เปรียบว่าแม้แต่รถยนต์ด้วยกันก็ยังแบ่งชนชั้นระหว่างรถยุโรปกับรถญี่ปุ่นอีกต่างหาก

“รถยนต์ขายได้เสมอในเมืองไทย” ภาพจากงาน MOTOR EXPO 2018 ซึ่งแม้จะมีเสียงสะท้อนผ่านผลโพลต่างๆ ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดี แต่ผลสรุปยอดขายรถในงานดังกล่าว พบเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 10.9

ที่มา : https://www.naewna.com/business/382196 (ปิดฉาก'MOTOR EXPO 2018' รถหรูเก๋งเอสยูวีขายดี! : 11 ธ.ค. 2561)

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ณ สิ้นปี 2561 มีรถยนต์จดทะเบียนสะสมนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติมา (2532 - 2561) ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) ทั่วประเทศ 9,362,259 คัน ในกรุงเทพฯ 4,501,405 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ทั่วประเทศ 6,614,402 คัน ในกรุงเทพฯ 1,373,053 คัน รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (มอเตอร์ไซค์) ทั่วประเทศ 20,887,785 คัน ในกรุงเทพฯ 3,669,600 คัน

และในปี 2561 เพียงปีเดียว มีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) ทั่วประเทศ 698,743 คัน ในกรุงเทพฯ 348,728 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ทั่วประเทศ 273,264 คัน ในกรุงเทพฯ 95,834 คัน รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (มอเตอร์ไซค์) ทั่วประเทศ 1,942,494 คัน ในกรุงเทพฯ 472,808 คัน สะท้อนให้เห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะดีหรือไม่ แต่รถยนต์ก็ได้กลายเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของคนไทยไปแล้ว ที่ไม่เพียงด้านความจำเป็นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงหน้าตาภาพลักษณ์เมื่อต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

ทั้งหมดนี้คงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมแนวคิด “ลดการใช้รถส่วนตัว” ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ ถึง “ขายไม่ออก” ในสังคมไทย เรียกว่าใครเสนอขึ้นมาก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หรือบางทีเราอาจต้องเปลี่ยนค่านิยมให้เห็นว่า “ใช้ขนส่งมวลชนก็โก้เก๋เท่ได้” แต่จะทำอย่างไรนั่นคือคำถามที่ต้องว่ากันต่อไป!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • อย่าสับสน! ปลาหมอคางดำไม่ใช่มลพิษ อย่าสับสน! ปลาหมอคางดำไม่ใช่มลพิษ
  • ฝุ่นจากการเผาป่าเกิดจากไหน? แก้ยังไง? \'รศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ\' ม.มหิดลวิทยาเขตกาญจน์มีคำตอบ? ฝุ่นจากการเผาป่าเกิดจากไหน? แก้ยังไง? 'รศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ' ม.มหิดลวิทยาเขตกาญจน์มีคำตอบ?
  • ‘ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’  มองตัวอย่างวิกฤต‘ฝุ่นพิษ PM2.5’  ทุกปัญหาแก้ได้หากมุ่งมั่นเอาจริง ‘ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ มองตัวอย่างวิกฤต‘ฝุ่นพิษ PM2.5’ ทุกปัญหาแก้ได้หากมุ่งมั่นเอาจริง
  • ‘สจล.’พัฒนาสเปรย์อิมัลชัน  นํ้ามันหอมฯจากพืชลดฝุ่นPM2.5 ‘สจล.’พัฒนาสเปรย์อิมัลชัน นํ้ามันหอมฯจากพืชลดฝุ่นPM2.5
  • W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลกเปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลกเปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส
  • อาจารย์ ม.มหิดล แนะแนวทางจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษกรณีศึกษาปัญหาลำห้วยคลิตี้ อาจารย์ ม.มหิดล แนะแนวทางจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษกรณีศึกษาปัญหาลำห้วยคลิตี้
  •  

Breaking News

'ลิณธิภรณ์'น้อมรับดราม่าสะกดคำผิด บอกมีปัญหาสุขภาพ ทำพูดสั่งการโทรศัพท์เพี้ยน

เจดีย์อัฐิ ‘พระราชมนู’ ทหารเอกสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่วัดช้าง จ.อ่างทอง

'อั๋น เจษฎา'ยื้อรักสุดใจผ่าน 'ห้ามไม่ไหว'เพลงของคนที่รู้ว่าเธอต้องไป แต่อยากขอโอกาสใหม่อีกครั้ง

'อีอึนแซม – เยริ'คัมแบ็คสู่สงครามแห่งชนชั้น ในซีรีส์มัธยมสุดแซ่บ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved