วันพุธ ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : โควิดและผลกระทบ  ความมั่นคงของมนุษย์

สกู๊ปแนวหน้า : โควิดและผลกระทบ ความมั่นคงของมนุษย์

วันอาทิตย์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 07.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“สกู๊ปแนวหน้า” ยังคงอยู่กับงานเสวนาเรื่อง “ความท้าทายของสังคมหลังโควิด-19 กับความมั่นคงของมนุษย์” จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากในตอนที่แล้ว (โควิดแค่ทุบซ้ำให้ร่วง เศรษฐกิจไทยเจ็บมาก่อน : ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 ก.ค. 2563) ว่ากันด้วยประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในฉบับนี้จะกล่าวถึงผลกระทบทางสังคมบ้าง

ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีกลุ่มคนที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก 1.แรงงานใกล้ชิด (Intimate Labour) ซึ่งมีความหมายกว้างมาก ตั้งแต่โทนสีขาวอย่างพยาบาลหรือคนดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงโทนสีเทาอย่างผู้ขายบริการทางเพศ ขณะเดียวกัน สังคมยังมีทัศนคติบางอย่างต่องานบางประเภท เช่น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดอาบอบนวดเปิดได้แต่โรงเรียนยังเปิดไม่ได้


2.ชนชั้นกลาง (Middle Class) จากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป งานในระบบถูกทำให้มีความมั่นคงน้อยลง เช่น เมื่อมหาวิทยาลัยหลังออกนอกระบบอาจารย์ก็จะมีสัญญาจ้างแบบชั่วคราว ขณะที่นักศึกษาจำนวนไม่น้อยเรียนไปทำงานไป เมื่อไม่สามารถทำงานได้หลายคนก็ตัดสินใจลาออก นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ระบาดรุนแรง บริษัทมีการสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) และแม้วิกฤติจะทุเลาเบาบางลงบริษัทก็ให้ทำงานที่บ้านต่อไป แล้วจะจัดสมดุลชีวิตอย่างไร

ขณะเดียวกัน “วัฒนธรรมอาจมีผลต่อผลกระทบด้านการควบคุมโรคระบาด” เช่น ด้านหนึ่งคนไทยสวมหน้ากากปิดปาก-จมูกกันเป็นเรื่องปกติในขณะที่บางประเทศเป็นเรื่องยากเย็น หรือเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตสูง ผู้คนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามมาตรการลดความเสี่ยงจากโรค แต่อีกด้านหนึ่ง คนไทยอาจให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตผู้สูงอายุจนยอมแม้กระทั่งปิดโรงเรียนเป็นเวลานานซึ่งก็ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบด้านการขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ประเด็นนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป

“เราคิดว่ามันจะเวิร์ก เราแก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนการสอนผ่านทีวี หลายๆ บ้านลูกนั่งดูไปประมาณ 5 นาที ลูกก็เปลี่ยนช่องหรือไม่ก็ปิดทีวี โรงเรียนก็บอกว่าเรียนไม่ได้หรอกเดี๋ยวเปิดเทอมค่อยมาเรียน ประเด็นทางวัฒนธรรมมันมีอยู่ว่าเราแคร์กลุ่มไหน เรามองไม่เห็นกลุ่มไหน เราจะแก้ปัญหาโดยมีกลุ่มที่มองเห็นกับมองไม่เห็น เราจะลองจัดประเภทกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบใหม่ แล้วก็นึกถึงมาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงคนบางกลุ่มใหม่ได้หรือไม่

เราจะทำอย่างไรกับ Intimate Labour ที่ Distancing (การเว้นระยะห่าง) หมายถึงอาชีพหยุด เราจะทำอย่างไรกับ Intimate Labour ที่ในยุคนี้มันเป็น GlobalScale (สัดส่วนระดับโลก) เพราะ 1.มันโยงกับการท่องเที่ยว 2.คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ จำนวนมากก็เข้าไปอยู่ใน Section (ภาคส่วน) ที่เราเรียกว่า Intimate Labour แล้วภาวะนี้เราจะจัดการอย่างไรเพื่อที่จะช่วยเหลือให้ตรงจุด ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอาจต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย” อาจารย์จันทนี กล่าว

ขณะที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เล่าว่า ในสมัยที่กาฬโรคระบาดในทวีปยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชาวเกาะอังกฤษรู้ข่าวการระบาดบนแผ่นดินใหญ่ของยุโรปล่วงหน้าถึง 1 ปี และหากย้อนไปก่อนหน้านั้น กว่าเชื้อกาฬโรคจะเดินทางจากดินแดนไซบีเรีย (รัสเซียในปัจจุบัน) และแมนจูเรีย (จีนในปัจจุบัน) ไปถึงท่าเรือของยุโรป พบว่าใช้เวลาถึง 10 ปี ในขณะที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน สถานการณ์เริ่มขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และใช้เวลาไม่นานโรคก็เดินทางเข้ามายังประเทศไทย

นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเผยให้เห็นปัญหา ไล่ตั้งแต่ 1.อคติและความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในสังคมอยู่แล้ว เช่น ในช่วงแรกๆ ที่มีการเรียกโรคระบาดใหม่ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” กลายเป็นคนจีนเมืองอื่นๆ หวาดระแวงคนจากอู่ฮั่น และคนชาติอื่นๆ ก็หวาดระแวงคนจีนอีกทอดหนึ่งว่าเป็นพาหะนำโรค ในบางประเทศคนจีนถึงขั้นถูกคนท้องถิ่นทำร้ายร่างกาย 2.ความไว้วางใจทางสังคมถูกทำลาย ทั้งจากประชาชนที่ไปไหนก็ไม่มั่นใจว่าพื้นที่นั้นจะเสี่ยงโรคหรือเปล่า และจากรัฐที่แนะนำให้ติดกล้องวงจรปิดควบคุมไม่ให้หยิบของจากตู้บริจาคมากเกินไป

3.การใช้อำนาจคุกคามสิทธิ์ เนื่องด้วยการรับมือสถานการณ์พิเศษ เช่น โรคระบาด ต้องการอำนาจแบบรวมศูนย์และเบ็ดเสร็จ แต่ผลข้างเคียงคือการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมและตรวจสอบไม่ได้ 4.แบบแผนทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การกินเลี้ยงสังสรรค์ การชมกีฬาในสนาม
การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สิ่งเหล่านี้เคยเป็นความเคยชินปกติแต่ต่อมาได้กลายเป็นพฤติกรรมเสี่ยงโรคระบาด

5.โอกาสของผลกระทบทางสังคมและความกล้ารับผิด การตัดสินใจใดๆ ไปแล้วย่อมมีผลตามมา คำถามคือถ้ามันเกิดปัญหาผู้มีอำนาจจะกล้ายอมรับหรือไม่ 6.การเข้าถึง (Access) เช่น ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลผิดๆ เนื่องจากใครๆ ก็เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้แม้ว่าจะไม่รู้เรื่องเลยหรือรู้บ้างไม่รู้บ้างก็ตาม การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่แม้จะเป็นประเทศที่การแพทย์ก้าวหน้าแต่ประชาชนอาจเข้าถึงยากก็ได้ รวมถึงการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อาทิแม้รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ แต่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเพราะต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน

และ 7.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแลกกับผลกระทบในระยะยาว เช่น ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เนื่องจากผู้คนอยู่บ้านและนิยมสั่งอาหารหรือสินค้าทางออนไลน์ หรือการเห็นว่าช่วงที่คนอยู่บ้านกันมากๆ ไม่มีการไปทำงานจนทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อีกด้านหนึ่งคนที่ต้องแบกรับภาระคือบรรดาคนยากจน ตลอดจนกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ

“ให้นึกคล้ายๆ กับว่าพ่อแม่ลูกหลานเราไปทำงานต่างถิ่นต่างแดน ไปทำงานที่ไต้หวัน เกาหลีหรือตะวันออกกลาง แล้วไปเผชิญสถานะยากลำบาก เราก็จะเป็นห่วงลูกหลานเราเหมือนกัน คนเหล่านี้อาจจะมาจากพม่า เขมร ลาว หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็มีครอบครัว เขามีลูกหลานอยู่ที่บ้าน มาอยู่ที่บ้านเราถ้าเกิดเข้าไม่ถึงการดูแลเลย ก็เป็นความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เขาเสียชีวิต ต้องเจ็บป่วยจนสิ้นเนื้อประดาตัวเลยก็ได้” นพ.โกมาตร ยกตัวอย่าง

ปิดท้ายด้วย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากข้อคิดไว้ว่า อีก 6 เดือนข้างหน้า หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 โจทย์สำคัญคือ “เรายังอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายอย่างต่อเนื่อง” นอกจากนี้ การรวมศูนย์ของอำนาจซึ่งเน้นแต่เรื่องการควบคุมโรคและควบคุมความสงบเรียบร้อย ก็ส่งผลกระทบต่อคนที่จำเป็นต้องเดินทางหรือทำมาหากิน

หยุดโรคสำเร็จแต่ใช้ชีวิตปกติไม่ได้..แบบนี้กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์แน่นอน!!!


SCOOP@NAEWNA.COM
 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

'บี-วีณา-อามชุ'จูงมือชาว LGBTQIA+ เติมสีสันความเท่าเทียมใน 'พัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรด์ เฟสติวัล 2025'

ชาวบ้านผวา! ชายคลุ้มคลั่งอาละวาดทำร้ายผู้หญิงบาดเจ็บ

'ภูมิธรรม'นั่งมท.1 ปัดหวังล้างแค้น'ภท.'คดีเขากระโดง ลั่นหากไม่ผิด ก็ไม่มีใครทำอะไรได้

​ฟันดาบสอง! ‘หมอตุลย์’ยื่น‘ปธ.วุฒิฯ’ ล่าชื่อยื่นถอดถอน‘อิ๊งค์’พ้นรมว.วัฒนธรรม

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved