“สกู๊ปแนวหน้า” เคยนำเสนอชุดงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแล้ว 4 ตอน ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.ค.,เสาร์ที่ 17 ก.ค., อาทิตย์ที่ 18 ก.ค. และพฤหัสบดีที่ 22 ก.ค. 2564 ในกลุ่มอาชีพหาบเร่แผงลอย, ผู้ผลิตงานที่บ้าน,ขนส่งสาธารณะกลุ่มแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และร้านนวด-ร้านอาหาร ตามลำดับ
ส่วนฉบับนี้เป็นคิวของ “สามล้อถีบ” อาชีพที่ปัจจุบันอาจไม่ค่อยได้พบเห็นมากนักเนื่องจากการมาถึงของรถตุ๊กตุ๊กสามล้อเครื่องบ้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง แต่ก็ยังมีให้บริการอยู่ในบางเมือง โดย ผศ.ธัชกร ภัทรพันปี อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เล่าถึงงานวิจัยที่ทำในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ว่า จำนวนสามล้อถีบที่นี่เฉลี่ยมีอยู่ปีละ 50-400 คัน เป็นจำนวนแกว่งไป-มาไม่แน่นอนซึ่งผู้ถีบสามล้อส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีประปรายที่มาจากภาคเหนือ
“เขาบอกว่าพออยู่ได้ปุ๊บ เห็นวินมอเตอร์ไซค์ เขาไปขับมอเตอร์ไซค์ดีกว่า มันมีการวิวัฒนาการของความสะดวกสบายของคนมากขึ้น สามล้อถีบก็เริ่มหดไป ผมบอกได้เลยถ้าเข้ามาที่สมุทรปราการ แถวอิมพีเรียลสำโรง วัดด่านสำโรง แล้วก็พระประแดง จะมีอยู่ 2-3 จุด ก็จะมีกลุ่มทำประจำ มาจากไหนก็มาจากอีสาน ผมก็ถามว่าแล้วไม่คิดจะทำยาวเลยหรือ เดี๋ยวกลับๆ คือไปทำนา เขาทำรายได้หลัก-รายได้รอง
อันนี้ก็มีผล พอรัฐบาลประกาศประกันราคาหรือจำนำข้าวก็แล้วแต่ พอราคาขึ้นเท่านั้นยอดสามล้อถีบที่สมุทรปราการลดลง นั่นหมายถึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจที่บ้านเขาด้วย ผมก็สงสัยต่อไปว่าสามล้อถีบเขามาจากไหน ที่เราจะไปพัฒนาเขา ไปดัดแปลงสามล้อถีบให้สวยงาม ผมก็ไปเช็คดู เขามาจากอู่ จะมีอู่สามล้อถีบที่สมุทรปราการ เมื่อก่อนเคยเฟื่องฟูถึงขนาดมี4-5 อู่ด้วยกัน แต่เนื่องจากคนมันแกว่ง เศรษฐกิจแกว่ง วิวัฒนาการเศรษฐกิจมันกว้างขึ้น มันก็เลยทำให้สามล้อถีบลดลงเมื่อสามล้อถีบลดลง อาชีพต้นน้ำลูกโซ่ก็หายไปด้วย” ผศ.ธัชกรกล่าว
ผศ.ธัชกร กล่าวต่อไปว่า สามล้อถีบเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะ โดยเฉพาะการบังคับและเบรกรถที่จะแตกต่างจากจักรยานทั่วไป ถึงกระนั้นก็ยอมรับว่า “การเพิ่มรายได้คงเป็นไปได้ยากเพราะโลกที่เปลี่ยนไป แต่จะสร้างคุณค่าให้อาชีพนี้อย่างไรให้เกิดรายได้เข้ามา” รายได้สามล้อถีบเฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาทต่อเที่ยว แต่ในความเป็นจริงลูกค้ามักให้ 20 บาท ทำให้ในช่วงหนึ่งเคยเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ลูกค้าหลักคือคนในตลาด ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ ทั้งจำนวนลูกค้าที่ลดลงเพราะการเดินทางน้อยลง และบางรายก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง ที่ต้องดูกันต่อไปว่าหลังจากผ่านฤดูฝนปีนี้ซึ่งเป็นช่วงทำนาไปแล้ว จำนวนสามล้อถีบจะเหลือเท่าใด
อิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขานุการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.พระนครศรีอยุธยา และผู้จัดการทั่วไป วังช้างอยุธยา แล เพนียด เล่าว่า ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกซึ่งมีเงื่อนไขหนึ่งคือให้นำพาหนะโบราณมาใช้กับเมืองโบราณ ปางช้างอยุธยาจึงเกิดขึ้นจากจุดนี้ โดยนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจช้างมาก ช้างที่อยุธยาจาก 8 เชือกจึงเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยเชือก
จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน มีทั้งรถไฟ เรือยนต์ รถทัวร์ รถตู้รวมถึงสามล้อถีบที่อยู่คู่กับตลาดเจ้าพรหม-ตลาดหัวแหลม จำนวนหลักร้อยคัน นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตุ๊กหัวกบ แต่ผู้ใช้บริการจะแตกต่างกัน ผู้ที่อยู่บริเวณตลาดจะใช้สามล้อถีบ ส่วนตุ๊กตุ๊กหัวกบมักมีลูกค้าเป็นนักเรียน-นักศึกษา ทั้งนี้เมื่อ 15 ปีก่อน มีการสนับสนุนให้ติดแบตเตอรี่-ประดับไฟสามล้อถีบให้สวยงาม รองรับนักท่องเที่ยวจีน-ไต้หวัน
อิทธิพันธ์ เล่าต่อไปว่า อาชีพสามล้อถีบค่อยๆ ล้มหายตายจากไปนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่ง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คนขี่สามล้อถีบหลายคนก็เสียชีวิตไปเพราะอายุมากแล้ว อย่างไรก็ตาม สามล้อถีบยังพอมีลูกค้าบ้าง เช่น วัยรุ่นต้องการนั่งสามล้อแล้วถ่ายภาพเซลฟี่ คิดเที่ยวละ 40 บาทต่อคน กระทั่งสถานการณ์โควิด-19ก็ทำให้ลูกค้าหายไป ไม่ต่างจากปางช้างที่ต้องปิดเช่นกัน
ทั้งนี้ สามล้อถีบส่วนหนึ่งถูกซื้อไปเป็นของประดับตามสถานที่ต่างๆ ส่วนที่ จ.นนทบุรี ที่เคยได้สอบถามอยู่บ้าง ทราบว่าอยู่ได้ด้วยลูกค้าประจำที่ยังใช้ขนข้าวของในตลาด หรือใครจะจัดงานก็มาจ้างสามล้อไปถ่ายรูป อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีแนวทางสร้างคุณค่าให้กับอาชีพสามล้อถีบ เช่น เป็นต้นแบบสอนขี่สามล้อสำหรับผู้สนใจ หรือตั้งวินไว้ในย่านสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับให้บริการถ่ายรูป
รศ.มธุรส สว่างบำรุง อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งทำงานวิจัยสามล้อถีบในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เล่าว่า จำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ส่วนใหญ่รายได้ไม่ค่อยพอใช้จ่าย แต่ก็ไม่มีหนี้สิน อาศัยอยู่กับครอบครัว อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รู้สึกท้อแท้อะไร หลายคนยังสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ด้วย โดยก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ชาวสามล้อถีบมีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่นิยมนั่งสามล้อถีบมากเท่าชาวยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
ซึ่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เมืองเชียงใหม่เงียบสงบแม้ในย่านการค้า ผู้คนเลือกที่จะอยู่กับบ้านมากขึ้น ร้านค้าลดลง ลูกค้าสามล้อถีบจึงหายไปด้วย รวมถึงการไม่มีนักท่องเที่ยวก็ทำให้รายได้ลดลง นอกจากนี้ลูกค้าประจำยังมีที่เสียชีวิตไปอีกในขณะที่ไม่มีลูกค้าใหม่มาทดแทน อนึ่งผู้ประกอบอาชีพสามล้อถีบบางรายเคยแสดงเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนที่จะมีลำดับการได้รับอนุญาตปรากฏอยู่ ทำให้ได้ทราบว่าในยุครุ่งเรืองเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น จ.เชียงใหม่ เคยมีสามล้อถีบมากกว่า 4,000 คัน แต่ทุกวันนี้คาดว่าเหลือไม่เกิน 20 คัน
รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ยุคแห่งความผันผวนไม่ว่าปัจจัยด้านโรคระบาด เศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อคนทุกอาชีพหรือคนเล็กคนน้อย รวมถึงผู้บริโภคมียานพาหนะอื่นๆ ที่ไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่า เช่น ที่ จ.อุบลราชธานี มีรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นในขณะที่สามล้อเหลือน้อยมาก อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็มีทางเลือกประกอบอาชีพมากมายจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับสามล้ออีก
“เราต้องให้ความสำคัญกับส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จะต้องเป็นตัวพระเอกร่วมกับจังหวัด ร่วมกับสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดถ้าระดับประเทศอาจจะยากเพราะคนกลุ่มนี้มีแต่จะสูญหายไป แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ สถาบันวิชาการในพื้นที่จะต้องมาร่วมมือกันช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เพื่อให้ชีวิตของเขาที่เหลือ ช่วยคนที่เหลือให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นจากที่มันย่ำแย่อยู่แล้วได้อย่างไร ทั้งเรื่องสุขภาพ รายได้ ประกันตอนที่เขาต้องเกษียณอายุโดยที่ไม่มีทางเลือกอื่นๆ เลย เราจะทำอย่างไร” รศ.ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี