เป็นข่าวใหญ่ของเดือน ส.ค. 2564 ที่ทั่วโลกจับตามองกับ “การเข้ายึดอำนาจการปกครองในอัฟกานิสถานของกลุ่มตาลิบันภายหลังสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไป” โดยเฉพาะภาพอันน่าสลดคือ “คลื่นมนุษย์อพยพหนีตาย” รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับ “อนาคตของสิทธิสตรี” เนื่องจากหากย้อนไปในช่วงปี 2539-2544 หรือระยะเวลาเพียง 5 ปี ที่กลุ่มตาลิบันปกครองอัฟกานิสถานในครั้งแรก ก่อนที่สหรัฐฯ จะยกทัพเข้าไปจากเหตุการณ์ 9/11 ถือเป็นฝันร้ายอย่างแท้จริง เพราะผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เรียนหนังสือและทำงาน โดยผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้จะมีโทษถึงตาย
เมื่อเร็วๆ นี้ เพจ Gender Talk จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “สงครามและสันติภาพ กับชะตากรรมและบทบาทของผู้หญิง” ซึ่งในช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงชะตากรรมของสตรีในอัฟกานิสถาน โดย อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้หญิงที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการหวนคืนสู่อำนาจของกลุ่มตาลิบันอีกครั้ง
ว่า “ผู้หญิงจะยังคงมีบทบาทในทุกโครงสร้างของประเทศหรือไม่?” รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้หญิงและเด็ก เช่น การเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย การมีอคติต่อเพศของลูก การเลือกปฏิบัติต่อบรรทัดฐานทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความปลอดภัยของผู้หญิงจากความรุนแรง” ทั้งในครอบครัว ชุมชนและองค์กร
“Women’s Peace and Security Index (ดัชนีความมั่นคงและความสงบสุขของผู้หญิง) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในอเมริกาเป็นผู้จัดทำ เป็นข้อมูลของปี 2019-2020 (2562-2563) เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าเมื่อเทียบประเทศไทยกับอัฟกานิสถาน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ อยู่ที่ตัวเลข 63.3 นี่คืออัฟกานิสถาน แล้วก็ประเทศไทยอยู่ที่ 0.09 นั่นหมายความว่ามีความรุนแรงต่อผู้หญิงค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ในเรื่องของกฎหมาย ในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นที่น่าแปลกใจ ผู้หญิงในอัฟกานิสถานมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าผู้หญิงในประเทศไทย ทั้งๆ ที่โอกาสของผู้หญิงในอัฟกานิสถานมีน้อยกว่า แต่ก็มีปัญหาในเรื่องบรรทัดฐานของสังคม หรือความเป็นหญิง-ชายในประเทศ แล้วการจ้างงานก็จะมีปัญหาด้วยเหมือนกัน” อัญชนา ระบุ
หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ กล่าวต่อไปว่า ในด้านการศึกษานั้น มีชาวอัฟกานิสถานที่อายุเกิน 15 ปี เพียงร้อยละ 38.2 เท่านั้นที่รู้หนังสือ หากดูตามสัดส่วน จะพบเพศชายมีผู้รู้หนังสือมากกว่า โดยอยู่ที่ร้อยละ 52 ส่วนเพศหญิงมีเพียงร้อยละ 24 ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาที่อัฟกานิสถานยังปกครองด้วยรัฐบาลก่อนหน้ากลุ่มตาลิบันท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรกับกลุ่มตาลิบัน
อีกทั้งดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index) พบว่า ในปี 2562 เท่ากับ 0.655 อยู่ในอันดับ 157 จากทั้งหมด 162 ประเทศที่ร่วมจัดอันดับ มีผู้หญิงได้ที่นั่งในรัฐสภาร้อยละ 27.2 และผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ร้อยละ 13.2 ได้ที่นั่งแล้ว ส่วนตลาดแรงงานนั้น การมีส่วนร่วมของผู้หญิงมีเพียงร้อยละ 21.6 ในขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 74.7 นอกจากนี้ ยังมีสถิติที่รวบรวมโดยสำนักข่าวอัล-จาซีราของกาตาร์ พบว่า ระหว่างปี 2553-2563 มีผู้หญิงเสียชีวิตรวม 3,219 ราย และเด็กเสียชีวิต 7,792 ราย จากเหตุความไม่สงบในประเทศ
“ความรุนแรงมันไม่ได้เกิดจากตาลิบันอย่างเดียว ความรุนแรงมันเกิดจากรัฐบาลอัฟกานิสถานเองด้วย แล้วก็กองกำลังนานาชาติอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาเองด้วย ซึ่งเมื่อเรามาดูเรื่องสิทธิมนุษยชนกับผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ความน่ากังวลในมันก็สะท้อนออกมาในรายงานที่ทางรัฐบาลอัฟกานิสถานนำเสนอ กับรายงานของคณะกรรมการ CEDAW (อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ) ก็คือมีนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน ถูกปฏิเสธในการเข้าร่วมโต๊ะเจรจา ซึ่งการเจรจาล่าสุดที่เมืองโดฮา (กาตาร์) จะมีผู้หญิง 4 คนที่ได้เข้าร่วม 1 ในนั้นก็ถูกยิงแต่เธอรอดชีวิต ผู้ที่ยิงก็มีความเกี่ยวข้องกับตาลิบัน แต่ไม่สามารถจับกุมได้” อัญชนา กล่าว
จากการเมืองสู่ครอบครัว ผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานยังต้องเผชิญความรุนแรง อัญชนา กล่าวถึงรายงานของ CEDAW ที่ระบุว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานได้ออกกฎหมายป้องกันความรุนแรงต่อสตรีโดยบุคคลในครอบครัว และกำหนดการศึกษาภาคบังคับไว้ 9 ปี แต่ในทางปฏิบัติพบกลุ่มตาลิบันใช้พื้นที่โรงเรียนเป็นฐานที่มั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดการสู้รบกันระหว่างฝ่ายตาลิบันกับฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ กลุ่มตาลิบันยังห้ามครูชายสอนนักเรียนหญิง-ครูหญิงสอนนักเรียนชาย
ขณะที่รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) พบว่า ใน ปี 2556 ผู้หญิงอัฟกานิสถานครึ่งหนึ่งที่ต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ เป็นข้อหาที่เกี่ยวกับการละเมิดศีลธรรมตามหลักศาสนา เช่น ไม่แต่งกายให้ถูกต้องตามหลักศาสนา การหนีออกจากบ้าน ทั้งที่บางกรณี การหนีนั้นมีสาเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกบังคับให้แต่งงาน อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายห้ามกระทำความรุนแรงในครอบครัว ก็ทำให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษได้เช่นกัน
อัญชนา ยังกล่าวถึง “ปฏิญญาร่วมระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลิบัน และสหรัฐอเมริกา” ที่มีข้อตกลงสันติภาพในวันที่ 29 ก.พ. 2563 ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.การค้ำประกันเพื่อป้องกันการใช้ดินแดนอัฟกานิสถานโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศหรือบุคคลใดๆ ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตร 2.เส้นเวลาสำหรับการถอนกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน 3.การตั้งถิ่นฐานทางการเมืองที่เกิดจากการเจรจา และการเจรจาภายในอัฟกานิสถานระหว่างกลุ่มตาลิบันและทีมเจรจาที่ครอบคลุมของรัฐบาลอัฟกานิสถาน
และ 4.การหยุดยิงอย่างถาวรและครอบคลุม ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ทั้งหมดเป็นเรื่องของกองทัพหรือกองกำลัง ไม่มีข้อใดเลยที่เกี่ยวข้องกับประชาชนพลเรือน อีกทั้งไม่ได้พูดถึงเด็กและสตรี” แต่การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ที่เข้าร่วมก็ยังถูกลอบสังหาร ยังมีรายงานจาก หน่วยงานภารกิจพิเศษขององค์การสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน (UNAMA) ที่พบว่า ในปี 2563 ผู้หญิงร้อยละ 13 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในจำนวนนี้ร้อยละ 34เกิดจากฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังระหว่างประเทศ ส่วนอีกร้อยละ 43เกิดจากกลุ่มตาลิบัน
“จะพูดว่าคนที่หลบหนีทั้งหมดเป็นคนที่ทำงานให้สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ เพราะว่ามันจะมีกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่นที่เขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเหมือนกัน ที่ไม่อาจจะเห็นได้ว่าตาลิบันปกครองจะทำให้เขาได้รับสิ่งนั้น” อัญชนา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี