“หลวงตาศิริ อินฺทสิริ” เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาแดงผานิมิต บ้านดงเย็น ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เมตตาเทศนาธรรม หัวข้อ “การเจริญอานาปานสติ” ที่ศาลาทรงธรรม วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นครูผู้สอนมนุษย์ และ เทวดา ทั้งหลายด้วยเศียรและเกล้า ขอกราบนมัสการครูบาอาจารย์ฯ พระเถรานุเถระ ด้วยความเคารพอย่างสูง
ขอเจริญพรมายังญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ผู้สนใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า วันนี้ก็มีโอกาสได้มาพูดธรรมะ แสดงธรรมะ จะพูดเรื่อง “อานาปานสติ” เที่ยวก่อนก็พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้หลายเรื่อง วันนี้จะพูดเรื่องอานาปานสติ
อานาปานสติเป็นคำสอนของ “พระพุทธเจ้า” ท่านสอนลงที่อานาปานสตินี่เอง คงได้ยินเข้าใจหมด อานา ก็แปลว่า “ลมเข้า” , “ปานะ” ก็แปลว่า “ลมหายใจออก ซึ่งเป็นภาษาบาลี เขาเรียกว่า อัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้า ปัสสาสะ คือ ลมหายใจออก ทำไมจึงเอา “อานาปา” มา ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยอานาปานสติ ไม่ได้ตรัสรู้ที่อื่น หรือบางทีก็เรียกว่า ตรัสรู้ด้วย “อริยสัจสี่” “อานาปานสติ” นี่แหละ กับ “อริยสัจสี่" คือ อันเดียวกัน จึงพูดได้สองแง่ สองมุม บางทีก็ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติ บางทีก็ตรัสรู้ด้วยอริยสัจสี่ ซึ่งนำมาสอนเราท่านทุกวันนี้
“อานาปานสติ” เป็นศูนย์รวมของธรรมทั้งหลาย พระสูตรก็อยู่นี่ พระวินัยก็อยู่นี่ พระปรมัตถธรรมก็อยู่นี่ ไม่ได้อยู่ที่อื่น พระสูตรก็คือ สูดลมเข้านี่เอง ง่ายไหมล่ะพระสูตร เห็นลมหายใจเข้าก็เรียกว่า เราล่ะได้พระสูตรอยู่ เรียนพระสูตรอยู่ เห็นลมหายใจออก เราก็ได้ว่า เราศึกษาพระวินัยอยู่ พระสูตร (พระสูด) ก็คือ ลมเข้า พระวินัยก็คือ หายใจออก ส่วนองค์พระปรมัตถธรรม คือ กิจแท้แต่เดิมของเราก็อยู่ในลมหายใจนี้่เอง คือ พุทโธ เคยได้ยินไหมล่ะ “พุทโธ” จิต คือ ผู้รู้ อาศัยอยู่ในลมหายใจ ผู้รู้นี่แหล่ะ เรียกว่า พุทโธ เพราะฉะนั้น “อานาปานสติ” นี่แหล่ะ จึงเป็นศูนย์รวมของธรรม พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ อยู่ใน “ลมหายใจ” ทั้งนั้นเลย
พวกเราท่านทั้งหลาย ยังไม่เข้าใจเรื่อง “ลมหายใจ” ท่านจึงบัญญัติว่า “อานาปานสติ” เมื่อบุคคลใดเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมได้ “เจโตวิมุติ” , “ปัญญาวิมุติ” จิตหลุดพ้นจากขันธ์ 5 สิ้นอาสวะกิเลสในทิฐะธรรมนี้ หรือ หากมี “อุปธิ” เหลืออยู่ ก็ได้เป็นพระโสดาบัน ก็ได้เป็นพระอนาคามี ง่ายๆลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าใครทำให้มาก เจริญให้มาก ก็ได้ “เจโตวิมุตติ” , “ปัญญาวิมุตติ” จิตหลุดพ้นจากขันธ์ 5 สิ้นอาสวะกิเลสได้ หรือ “อานาปานสติ” บุคคลใด เจริญ ทำให้มากแล้ว หรือ อานาปานสติบริบูรณ์แล้วนั่นล่ะ ทำให้มากก็เรียกว่า “บริบูรณ์” บริบูรณ์แล้วย่อมได้สติปัฎฐาน 4 เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต ธรรมในธรรม สติปัฎฐาน 4 ก็บริบูรณ์ขึ้นมา
เมื่อสติปัฎฐาน 4 บริบูรณ์แล้ว ย่อมได้ “โพชฌงค์ 7” บริบูรณ์ เมื่อโพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ ย่อมได้ปัญญา ย่อมได้วิชชาบริบูรณ์ขึ้น เมื่อวิชชาบริบูรณ์ ย่อมได้วิมุตติ หลุดพ้นจากขันธ์ 5 จึงวันนี้ก็ได้ลองฟัง แล้วน้อมนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ ฟังเฉยๆ หันหน้ามาฟังผู้เทศน์ ไม่ให้เข้าสมาธิฟัง เข้าสมาธิฟัง เดี๋ยวก็ง่วงนอน เดี๋ยวก็หาวนอน คอพับ หลับไป มันไม่มีประโยชน์ ให้มีสมาธิในการฟัง เข้ากับการฟัง กับเข้าสมาธิในการฟัง คนละอย่างน่ะ
เข้าไปเข้ามาก็เหมือนกับ “ไก่ตายห่า” คอตกลงไหมล่ะ ไมได้เรื่องเลย แทนที่จะจำเอาอันนี้ อันนั้นนิดหน่อย พอไปปฏิบัติ ได้มาฟังแล้ว อานาปานสติ บุคคลใดเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมได้ “เจโตวิมุตติ” ทำยังไงจึงจะได้เจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติ คือ อะไรล่ะ แปลว่า อะไร
เจโต ก็แปลว่า จิต วิมุตติ หลุดพ้น จิตหลุดพ้นจากขันธ์ 5 ง่ายๆ นี่น่ะ ไม่ใช่เป็นของยากอะไร ทีนี้เราไม่รู้จัก “ขันธ์ 5” มันหลุดพ้นได้ยังไง นี่ขันธ์ 5 ใช่ไหมล่ะ ขันธ์อันนี้ เป็นขันธ์หยาบ ขันธ์ขั้นกามโลก ขันธ์หยาบ ขันธ์แก่ ขันธ์เน่า ขันธ์เฒ่า ขันธ์เหม็น เนี่ย ใช่ไหม ไม่มี ไม่อะไร ไม่มีไม่เหม็นออกมา นี่ คำว่าขันธ์ 5 ในที่นี้ พระพุทธองค์หมายเอา “ลมหายใจ” คือ รูปธรรม ลมหายใจ คือ กายใน ฟังออกไหมล่ะ กายใน หรือ รูปธรรม จิตอาศัยอยู่ในลม อาศัยอยู่ในใจ เรียกว่า “นามธรรม” นี่ลมหายใจ จะมีจิตอยู่ในนี้ คือ ผู้รู้ เข้าใจไหมล่ะ มีผู้รู้อยู่ไหมล่ะในลม ถ้าไม่มีผู้รู้ ออกไปก็ตาย นี่ จิต คือ ผู้รู้ อาศัยอยู่ใน “ลมหายใจ”
ลมหายใจ เรียกว่า “กายละเอียด” กายใน จิตอยู่ในลม เรียกว่า ใจ กายกับใจ เรียกว่า “ขันธ์ 5” ได้ไหม รูปธรรม นามธรรม เรียกว่า “ขันธ์5” นี่ไม่ได้อยู่ที่อื่นน่ะ พระองค์จึงสอนลงที่นี่ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำลงที่ลมหายใจ มันก็ไม่ยากอะไร ลมหายใจ คือ รูปธรรม นามธรรม คือ ขันธ์ 5 ก็เอาสติมาระลึกรู้ หรือ จับเอาลมหายใจ มีสติ มีจิต มีลม 3 อัน มาตั้งไว้ที่ปลายจมูก หรือ อก หรือ หน้าผาก แล้วแต่ใครจะเรียก ตั้งที่ไหน ตั้งไว้ ให้เห็นลมเข้า ลมออก มีสติรู้ลม เห็นเราอยู่ เข้าออกอยู่อย่างนั้น ทั้งกลางวัน กลางคืน ยืนเดิน นั่ง นอน เรียกว่า “ภาวนา” เท่านั้น ไม่ได้ยากอะไร นี่ละภาวนา มันจะหลุดพ้นได้ยังไง ทีนี้ ขันธ์ 5 เวลาลมเข้าไป ลมหายใจเข้าไป มันก็เห็นขันธ์ 5 ใช่ไหม เรียกชื่อใหม่น่ะทีนี้ เรียก “ลมหายใจ” ว่า ได้ยินไหมทางนั้นน่ะ หรือ นอนหลับอีกแล้ว เรียกว่า “ขันธ์5” เกิด ออกมาก็เรียกว่า ขันธ์ 5 ดับ เกิดแล้วก็ดับ นี่ ขันธ์ 5
ตลอดวัน ไม่มีอะไรเกิด มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ตลอดวัน นี่ มันเกิด มันดับ นี่เรียกว่า “ทุกข์”
เข้าใจไหม ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป เกิดดับ เกิดดับ อยู่อย่างนี้ ขันธ์ 5 เกิดกับดับพร้อมกัน ปั๊บ เข้าใจบ้างไหม รู้จักขันธ์ 5 หรือยัง “ลมหายใจ” พระองค์เรียกว่า กาย กายใน ฉะนั้น ผู้ใดนำเอาลมหายใจนี้มา เอา “สติ” คุมจิตมารู้กับ “ลมหายใจ” เข้าออก เข้าออก เกิดตายๆ อยู่อย่างนี้ มันยากไหมล่ะ ทีนี้ ง่ายไหม ง่ายไหม มีทุกคน “ลมหายใจ" ทำไมไม่ง่าย ใครเอาสติมาระลึกรู้ลม ทุกคนก็ต้องเห็น ทุกคนก็ต้องเห็นทุกคน เพราะมีสติอยู่ทุกคน เกิดดับๆ ท่านให้ทิ้งอดีต อดีต คือ อะไร คือ ความคิด ความจำได้หมายรู้ในอดีต ไม่ให้ส่งจิตไปนึกถึงอดีต ทีนี้อนาคต เรื่องในอนาคตไม่ให้เอาเข้ามา ง่ายๆเท่านี้ ให้รู้อยู่กับ “ปัจจุบัน” ปัจจุบัน ณ ธรรม หมายถึง ขันธ์ 5 เกิดดับนี่เอง รู้จัก “ขันธ์ 5” หรือยัง ขันธ์ละเอียด ขันธ์มันซ้อนกันอยู่ 4 ขันธ์น่ะ ให้เข้าใจน่ะ ชาวพุทธเราไม่รู้จักขันธ์ 5 ก็แย่ หนึ่ง ขันธ์ขั้นกามโลก นั่งอยู่นี่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ก็เกิดกามขึ้นมา ยินดี ยินร้ายขึ้นมา
ขันธ์ขั้นละเอียด คือ “ลมหายใจ” เกิด ตาย เกิด ตาย อยู่อย่างนั้น ขันธ์ขั้นสุขุม คือ เราเข้าสมาธิได้รูปฌาณ รูปฌาณ รูปจิต ไม่มีกายหยาบ มีแต่รูปกับจิต เรียกว่า รูป พรหม รูปฌาณ ขั้นละเอียด อรูปฌาณ ขันธ์มันจะซ้อนอยู่ในนี้ ทั้ง 5 ขันธ์ บางทีจิตเราก็ไปเกิดอยู่กามโลก นั่งอยู่เนี่ย บางทีก็ไปเกิดอยู่พรหมโลก รูปพรหม ว่างนิดหน่อยเท่านั้น นิดเดียว เท่านั้น ไปถึงแล้ว รูปพรหม อรูปพรหม ช่วงคู้แขน เหยียดแขนเท่านั้นเอง วันหนึ่งๆ จิตมันจะท่องเที่ยวอยู่ สามแดนโลกธาตุนี่เอง กามโลก รูปโลก อรูปโลก ตลอดวัน บางที “จิต” นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้เข้าสมาธิ ว่าจะพาเจ้าของเข้าสมาธิ มันว่างไปเอง แว๊บไปถึงพรหมโลก แว๊บไปถึงอรูปพรหม
นี่ทีนี้ เรามาพูดเรื่อง “ลมหายใจ” คือ กายใน คือ ขันธ์ 5 จำได้แท้ๆแล้วเน๊าะ ขันธ์ 5 เกิด ดับ เกิด ดับ เกิด ตาย มันตายยังไง พอมันเข้าไปแล้ว มันออกมา ลมกับจิตวิ่งเข้าไป เขาเรียกว่า “ขันธ์ 5” เกิด ออกมาตาย ตัวลมออกมา กับจิตออกมา จิตจะมาอยู่ตรงนี้ พ้นปลายจมูกนิดหน่อย จิตไม่อยู่ในกายน่ะ แป๊บเดียว เข้าเรียกว่า เรานี่ล่ะ เกิด ตาย เกิด ตาย นี่คำว่า ตาย พระองค์ (องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมณโคดมบรมครู) เรียกว่า ขณิกะมรณัง ตายชั่วขณะเดียว เราจึงไม่ตกใจ เคยเห็นเจ้าของตายไหมล่ะ เคยเห็นไหม ถ้าไม่เคยเห็นก็ หายใจออกมา วิญญาณจะมาทิ้งซากศพเอาไว้นี่ ชั่วคราว เขาเรียกว่า ตายแบบปกปิด “ปฏิจฉันนะ”
ถ้าออกไปเลย กับลมไปเลย ไม่เข้ามา ก็เรียกว่า ตายแบบเปิดเผย “อัปปฏิจฉันนะ” ตายแบบไม่ปกปิด วิ่นๆลมเท่านั้น ตายแบบปกปิด ตายแบบไม่เปิดเผย นี่เรียกว่า ตายแบบปกปิด ถ้าใครทำไปทำมา อดีตไม่เอามา พระองค์ว่า “อดีต คือ ความฝัน” “ปัจจุบัน คือ ความจริง” “อนาคตยังไม่มาถึง แน่นอนไหม” ว่าจะไปนั่นไปนี่ พรุ่งนี้ บางทีได้ไปจริงไหมล่ะ ไม่แน่นอน ไม่เอามา ท่านให้อยู่ปัจจุบัน ให้เห็นปัจจุบัน ณ ธรรม หมายถึง ขันธ์ 5 เกิด ดับ เกิด ดับ หรือ เรียกว่า อัสสาสะ ปัสสาสะ นี่ ง่ายๆนี่ ดูไปดูมา
“ลมหายใจ” คือ ขันธ์ 5 ลมหายใจจะเบาลงๆ ไม่ให้ผงะออกหนี จากกันน่ะ ผงะออกไปก็จับมาใส่ อดีตคุมจิตมันรู้อยู่นี่ จิตมันหนีไปไหนไม่ได้ มันก็หมอบเฝ้าอยู่กับลม ลมหายใจก็จะเบาลงๆ เรียกว่า “กายลหุ”
เมื่อที่สุดเบาลงๆ ก็เรียกว่า “กายระงับ” จิตระงับ ความนึกคิดปรุงแต่งดับลง กายละเอียด ดับลง เมื่อกายละเอียดดับลง กายหยาบอยู่ไม่ได้ ดับลงพร้อมกัน จึงว่า กายระงับ จิตระงับ เราก็ได้เห็นแต่ “ลมหายใจ” ระงับดับลง ก็เหลือแต่ความรู้ รู้ รู้ รู้ เท่านี้ เด่นขึ้น เด่นขึ้น ก็เรียกว่า ได้เจโตวิมุตติ นี่ที่เรียกว่า บุคคลเจริญแล้ว ให้มากแล้ว ได้ “เจโตวิมุตต”" มันได้อย่างนี้ ลองไปทำดูเน้อ จำได้ไหมล่ะ
“วิมุตติ” แปลว่า หลุดพ้น หลุดพ้นจากขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ในที่นี้ หมายถึง ขันธ์ละเอียด คือ ลมหายใจ ขันธ์หยาบๆ เราจะดับไม่ได้ เหมือนพระองค์ตรัสไว้ หักด้ามพร้า อะไรคือ ด้ามพร้า รู้จักด้ามพร้าไหม เหมือนหักด้ามพร้าใส่หัวเข่า มันจะหักไหมล่ะ ไม่หัก ดับขันธ์ 5 ด้วยตรงๆเลยไม่ได้ เหมือนดับด้ามพร้าใส่หัวเข่า ย่อมดับไม่ได้ หักไม่ได้ ท่านจึงให้อุบาย ให้ดับลมหายใจแทน เข้าใจไหมล่ะ - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี