วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ปรับค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น  ฝันแรงงานเป็นไปได้แค่ไหน

สกู๊ปแนวหน้า : ปรับค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ฝันแรงงานเป็นไปได้แค่ไหน

วันอาทิตย์ ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

เวียนมาอีกปีกับ “วันแรงงาน” วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่ง “ค่าจ้างที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ” เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2565 มีการจัดเวทีเสวนา “ก้าวต่อไปในการแก้ปัญหาค่าครองชีพและยกระดับค่าจ้างสูง” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องนี้ก็ถูกนำมาพูดคุยกันอีกครั้ง

สุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คนทำงานในโรงงานหากจะมีรายได้เพียงพอก็ต้องทำงานล่วงเวลา (โอที-OT) เห็นได้ผู้สมัครงานมักถามกับบริษัทคือมีโอทีให้ทำหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ขอไปทำงานที่บริษัทอื่นดีกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าลำพังรายได้จากค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงพยายามผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานสอดคล้องกับค่าครองชีพ


ซึ่งปัจจุบันหลักเกณฑ์การตั้งค่าจ้างขั้นต่ำในไทย อยู่บนหลักคิดว่า“ค่าจ้าง 1 คน เพื่อเลี้ยงคน 1 คน” หรือหมายถึงแรงงานทำงานเพื่อเลี้ยงตนเองเพียงคนเดียว อีกทั้งยังมีการไปกำหนดเพดานไว้ว่าห้ามปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินร้อยละ 3 ซึ่งมีที่มาจากกรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 300 บาท/วันในยุคสมัยหนึ่ง ทำให้ค่าจ้างไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องหามาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME) ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานด้วย

“เรื่องค่าจ้างผมบอกว่ามีความจำเป็นจะต้องปรับ ถามว่าแล้วถ้าเกิดให้ได้ตามหลักสากล ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ปีนี้ตามที่มีการนำเสนอ ที่เลี้ยงชีพได้ 1 คน มีการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อช่วยเหลือสถานประกอบการเพื่อให้เดินได้ในเรื่องของการจ่ายค่าจ้าง พอในปีที่ 2 ปีที่ 3 มันก็ต้องเป็น Timing (จังหวะ) เวลาที่ขยับไปในเรื่องของการที่จะต้องมีมาตรฐานการได้รับค่าจ้างที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้มากกว่า 1 เป็น 2 เป็น 3 นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ตอนนี้คนทำงานทำไมถึงไม่มีลูก หรือมีลูกน้อยลง เพราะมีลูก1 คนจนไป 7 ปี” สุเทพ กล่าว

เสียงสะท้อนภาคแรงงาน ชาลี ลอยสูง รองประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งในปีนี้เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานควรได้รับไว้ที่ 492 บาท/วัน กล่าวว่า ในยุคที่รัฐบาลมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ประกอบการเสมอว่าจะทำให้กิจการอยู่ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ภายหลังจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแนวทางดังกล่าว ฝ่ายผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์จากมาตรการลดภาษี

จากเดิมที่ร้อยละ 30 ของผลกำไรต้องส่งเข้ารัฐ ก็เหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น และยังคงอยู่ในอัตราดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง ในปี 2560 มีการสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันพบว่า ค่าอาหาร 3 มื้อ จะอยู่ที่เฉลี่ย 219 บาท/คน/วัน ยังไม่รวมค่าเดินทางและอื่นๆ นำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาท/วัน และเป็นการเรียกร้องหลังจากอดทนรอในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเข้าใจผลกระทบฝั่งผู้ประกอบการ

“เราก็ได้ดูในส่วนของกระแสจากสังคมด้วย ก็ปรากฏว่ากระแสสังคมก็ได้มีการตอบรับขึ้นมา เพราะมันเดือดร้อนด้วยกันจริงๆ เงินตัวนี้ถึงได้มามันก็ยังไม่พอเพียง รัฐบาลได้มีการเข้าไปใช้ในเรื่องของมาตรการช่วยปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยได้เฉพาะหน้าในเรื่องของจะไปทำเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดจะทำให้มันช่วยเหลือให้เศรษฐกิจมันเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและระยะยาว มันจะต้องมีการไปปรับค่าจ้างให้คนงาน เพราะคนงานเป็นเฟืองหนึ่งตัวซึ่งมันจะต้องหมุนเศรษฐกิจ เพราะแรงงานได้เงินมาก็มีการไปจับจ่ายใช้สอยทุกวัน” ชาลี กล่าว

มุมมองภาควิชาการ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ด้านหนึ่งดีต่อแรงงาน เป็นการเพิ่มรายได้ของแรงงานทักษะต่างๆ โดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งภาระต้นทุนก็จะไปตกอยู่กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้งยังยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย

ถึงกระนั้น การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยหวังให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อผู้คนมีงานทำก็จะมีรายได้ไปจับจ่ายใช้สอย ในความเป็นจริงก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าผลประโยชน์จะไปถึงแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมามักจะอยู่กับผู้ประกอบการเสียมากกว่า เช่น มีการลงทุนเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นการลงทุนซื้อเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นที่รัฐอาจช่วยได้ในระยะสั้น เช่น อุดหนุนส่วนต่างค่าจ้างขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการจ่าย อาทิ หากต้องการให้แรงงานได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท/วัน ปัจจุบันผู้ประกอบการจ่ายอยู่แล้ว 300 บาท/วัน ส่วนที่เหลือรัฐก็เติมเข้าไป เป็นต้น ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสของกลุ่มแรงงานทักษะต่ำในการมีงานทำ หรือการอุดหนุนค่าครองชีพ ซึ่งรัฐก็ทำอยู่แล้ว อาทิ โครงการคนละครึ่ง แต่ก็จะเป็นมาตรการเพียงชั่วคราว

“การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ประเทศไทยต้องมุ่งสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แล้วก็มีนวัตกรรมที่เป็นของตัวเอง ถ้าเรามี Margin (ส่วนเกิน) ตรงนั้นเยอะเราก็ตัดแบ่งให้แรงงานได้เยอะ แต่ถ้าเรายังรับจ้างผลิตอะไรถูกๆ อยู่ เราก็กดดันผ่านตัวแรงงานนี่ละ ก็เป็นแรงงานต้นทุนต่ำๆ เราก็ไม่สามารถยกขบวนของประเทศไทยขึ้นไปในระดับสูงได้ ทุกคนก็จะถูกกดให้ต่ำอยู่อย่างนี้” อาจารย์กิริยา กล่าว

ขณะที่ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวิชาเศรษฐศาสตร์ มองแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตประเภทหนึ่งดังนั้นหากต้องการผลกำไรก็ต้องกดต้นทุน หรือก็คือหากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวก็ต้องควบคุมค่าจ้างแรงงานซึ่งเป็นต้นทุน “ประเทศที่ดีในสายตานักลงทุนคือประเทศที่ค่าแรงถูก” เช่น ปัจจุบันที่มีข่าวนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม เพราะค่าจ้างแรงงานที่นั่นยังค่อนข้างต่ำ

แต่ในทางตรงข้าม แรงงานนั้นมองตนเองว่าเป็นคนไม่ใช่วัตถุ “การที่แรงงานเรียกร้องค่าจ้างก็เพื่อให้สามารถค้ำจุนความเป็นคนไว้ได้” ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอให้เปลี่ยนจากค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นค่าจ้างที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (Living Wage) หรือค่าจ้างขั้นต่ำที่อยู่ได้อย่างเป็นมนุษย์ (Minimum Living Wage) โดยมนุษย์เป็นสัตว์สังคม รายได้จึงไม่ได้หมายถึงเพียงค่าอาหาร 3 มื้อเพื่อต่อลมหายใจ แต่หมายถึงความสามารถในการดูแลครอบครัวตลอดจนคนรอบข้าง เห็นได้จากการสมทบทุนสนับสนุนญาติสนิทมิตรสหายในโอกาสต่างๆ

“ผมว่ามาถึงวันนี้ เราต้องกลับไปทบทวนว่ากระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำก็ดี เกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำก็ดี แม้แต่นิยามการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่บอกว่าคือค่าจ้างที่นายจ้างมีปัญญาจ่าย มันควรเปลี่ยนไปเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ลูกจ้างอยู่ได้อย่างคนหรือเปล่า?” อาจารย์แล ฝากทิ้งท้าย

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

'อดีต ส.ว.สมชาย'สรุปฟังไต่สวนพยานคดีชั้น 14 บอกพยานเท็จอาการหนักมาก!!!

น้ำใจทหารไทย! เปิดด่านฉุกเฉินส่ง'อดีตรองเสธ.กัมพูชา' ป่วยมะเร็ง กลับบ้านอย่างอบอุ่น

ครั้งแรกในรอบ102ปี! 'ฝรั่งเศส'เปิดให้พลเมืองเล่นน้ำในแม่น้ำแซน การันตีคุณภาพน้ำดีเยี่ยม

ไม่ใช่มีแค่ถนนพระราม 2 สะพานพระราม 4 เกิดเหตุป้ายเหล็กขนาดใหญ่ตกใส่รถพังเสียหาย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved