วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : มองอุบัติเหตุในมุมกฎหมาย เกิดแล้วทำอย่างไรไม่ดราม่า

สกู๊ปแนวหน้า : มองอุบัติเหตุในมุมกฎหมาย เกิดแล้วทำอย่างไรไม่ดราม่า

วันเสาร์ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังที่มีผู้กล่าวว่ารถยนต์เหมือนปัจจัยที่ 5ต่อจากปัจจัย 4 อย่างอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค โดยจำนวนยอดจดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ สิ้นปี 2564 มียอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) 10,854,640 คันรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) 6,984,420 คันและจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) ส่วนบุคคล อีก 21,685,858 คัน ด้วยเหตุที่ผู้คนมองว่า การมียานพาหนะส่วนบุคคลไว้ใช้นั้นสะดวกกว่าการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

แต่อีกด้านหนึ่ง ไทยก็เป็นประเทศที่มีความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงมากเสมอมา อาทิ รายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี 2558 และปี 2561 ไทยมีผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 และอันดับ 9 ของโลก ตามลำดับ อนึ่ง นอกจากอุบัติเหตุที่มีความสูญเสียรุนแรง อย่างการเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสหรือพิการทุพพลภาพแล้ว ยังมีอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บเล็กน้อยอีกมากมาย ซึ่งมักไม่เป็นคดีความเนื่องจากคู่กรณีตกลงกันได้แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นอาจกลายเป็นข่าวใหญ่โต โดยเฉพาะหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม


ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 เกิดผล แก้วเกิดทนายความชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว อ้างอิงกรณีดารานักแสดงหนุ่มรายหนึ่งขับรถไปชนหญิงสาวที่ขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วเกิดดราม่าเรื่องดาราหนุ่มต่อรองราคาค่ารักษาพยาบาลในเวลานั้น โดยเฉพาะประเด็นความเข้าใจว่า“ในเมื่อผู้บาดเจ็บมีประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว ผู้ก่อเหตุก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้อะไรอีก” ซึ่งจริงๆ แล้ว “เป็นความเข้าใจผิดๆ” โดย ทนายเกิดผล ยกคำพิพากษาของศาลในกรณีแบบเดียวกันมาเป็นตัวอย่าง อาทิ

“คำพิพากษาศาลฎีกา 2040/2539” สิทธิของโจทก์ที่ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยเป็นสิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ส่วนสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย เป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เมื่อเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ละฉบับ โดยโจทก์ต้องเสียเบี้ยประกันภัยและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสมทบแล้วแต่กรณีตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดไว้

ซึ่งต้องชำระทั้ง 2 ทาง และ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิมิให้ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่นมารับเงินทดแทนอีก จำเลยจึงยกเอาเหตุที่โจทก์ได้รับเงินทดแทน ค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยมา แล้วมาอ้างเพื่อไม่จ่ายเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการเเพทย์จากจำเลย

“คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2559” แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล อันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ไม่เกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 1ผู้ทำละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้

ในเวลาต่อมา ช่วงต้นเดือนพ.ค. 2565 ทนายเกิดผลอธิบายประเด็นนี้กับทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” อีกครั้ง ว่าแม้ผู้ได้รับความเสียหายจะมีประกันอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการของรัฐ (เช่น สวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม, บัตรทอง 30 บาท) หรือประกันชีวิตส่วนบุคคลที่ทำกรรมธรรม์ไว้ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่กฎหมายก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายไปฟ้องละเมิดกับผู้ก่อเหตุ

“ชีวิตคนเรามันประเมินราคาไม่ได้อยู่แล้ว ไม่เหมือนกับราคาบ้าน ราคาทรัพย์สิน ซึ่งมันเรียกซ้ำไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราไปเสียค่ารักษาพยาบาลแล้วเราจ่ายเอง สำรองเงินไปก่อน เราก็เรียกได้ หรือมีคนอื่นสำรองเงินไปก่อนให้เรา โดยที่เราไม่เสียเงินสักบาท เราก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกเอากับคนที่ทำละเมิดเราได้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายบอกว่าเขาต้องรับผิดชอบ เพราะเขาเป็นต้นเหตุ เว้นเสียแต่ว่ามันมีการฟ้องซ้ำกัน เช่น ประกันภัยรถยนต์จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผมเสร็จแล้ว ประกันภัยรถยนต์ก็ไปฟ้องซ้ำเอามูลเดียวกัน แบบนี้ยากหรือไม่ได้

ยกตัวอย่างผมไม่ใช้สิทธิ์ ผมให้ประกันไปฟ้องเองก็ได้ แต่อย่างบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม เขาไม่ฟ้องอยู่แล้วเพราะเป็นสวัสดิการที่เรามีสิทธิ์ได้รับ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกเอาค่ารักษาพยาบาลจากคนที่ทำละเมิดเราได้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายรับรองให้ จะมาปฏิเสธบอกคุณไม่มีสิทธิ์เรียกนะ ประกันสังคมจ่ายแล้วไม่ได้” ทนายเกิดผล อธิบาย

ทนายเกิดผล ยังยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ผู้ก่อเหตุถามผู้เสียหายว่าเหตุใดไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ เพื่อที่ค่ารักษาพยาบาลจะได้ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน กรณีนี้ศาลชี้ว่าเป็นสิทธิ์ที่ผู้เสียหายจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง เพราะก่อนที่ผู้เสียหายจะได้รับบาดเจ็บนั้นก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ ดังนั้นเมื่อมีผู้ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับสวัสดิการอย่างที่ดีที่สุด ผู้กระทำละเมิดไม่มีสิทธิ์ไปห้ามหรือกบอกให้ใช้บริการสถานพยาบาลที่คุณภาพต่ำลงหรือมีราคาถูกลง

ประการต่อมา คดีอุบัติเหตุแบ่งตามความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้น โดย ประมวลกฎหมายอาญา มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากหนักสุดไปเบาสุด ดังนี้ “มาตรา 291”ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท, “มาตรา 300” ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, “มาตรา 390” ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทนายเกิดผล อธิบายเพิ่มเติมในส่วนนี้ ว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนถือเป็นคดีจราจร และคดีจราจรนั้นรัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้น ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือมีการแจ้งความหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ หากเป็นอุบัติเหตุที่ความเสียหายไม่รุนแรง ซึ่งจะอยู่ในหมวดความผิดลหุโทษ(เช่น มาตรา 390) กฎหมายเปิดช่องให้สามารถลงโทษเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจได้ หากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมตกลงร่วมกัน แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็จะต้องส่งต่อไปให้ศาลพิจารณา

แต่หากเป็นอุบัติเหตุที่มีความเสียหายรุนแรง ตั้งแต่บาดเจ็บสาหัสไปจนถึงเสียชีวิต (มาตรา 300, มาตรา 291)ซึ่งไม่ใช่หมวดความผิดลหุโทษ กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินคดีไปถึงชั้นศาล แม้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้เป็นที่เรียบร้อยก็ไม่สามารถยอมความได้ โดยการตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นเรื่องทางแพ่ง ส่วนทางอาญา ผู้เสียหายอาจแถลงต่อศาลว่าไม่ติดใจและขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาได้

“อุบัติเหตุก็คืออุบัติเหตุ มันไม่ได้เกิดจากเจตนา เมื่อเราไม่มีเจตนาก็ลงมาคุยกันว่ามันเกิดอุบัติเหตุ มันเกิดขึ้นได้ พูดกันได้ อย่าใช้อารมณ์ ใครผิดใครถูกก็ว่าไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ถ้ายังมีข้อสงสัยอยู่ ไม่ต้องใช้อารมณ์หรอก ก็ต้องให้ตำรวจเขาดำเนินการชี้ขาดไปตามพยานหลักฐาน ถ้าเราไม่เชื่อว่าตำรวจเป็นกลาง ตำรวจชี้ผิดแต่เราบอกว่าเราถูก เราก็สามารถปฏิเสธแล้วไปต่อสู้ในศาลได้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มประเด็นให้มันเกิดความยุ่งยาก ถ้ามีประกันเรียกประกัน ถ้าไม่มีก็ใจเย็นๆ คุยกัน ต้องใจเย็นๆ ตั้งสติ” ทนายเกิดผล กล่าว

ทนายเกิดผล ยังฝากทิ้งท้ายด้วยว่า 1.ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องรู้กฎจราจร การรู้กฎจราจรทำให้รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก เช่น ทางเอก ทางโททางแยก ทางร่วม ความเร็ว ระยะห่าง ฯลฯ แล้วการพูดคุยตกลงกันจะง่ายขึ้น ซึ่งผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องมีความรู้พื้นฐานอยู่แล้วเพราะสอบใบขับขี่มาได้ 2.ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องมีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนร่วมกับคนอื่นๆ ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้ใช้ถนนเพียงคนเดียว แต่มีคนอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ใช่มุ่งแต่จะไปตามใจตนเองอย่างเดียวสุดท้ายก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น และ 3.ควบคุมสติอย่าใช้อารมณ์ หากเกิดปัญหาก็มาคุยกัน เพราะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ

หรือหากมีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตก็ว่าไปตามกระบวนการ!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  • สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน  อุตสาหกรรมการบินของไทย สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมการบินของไทย
  •  

Breaking News

อดทนต่อคำปรามาส! 'นิพิฏฐ์'ขอบคุณทุกฝ่าย ยืนหยัดต่อสู้'คดีชั้น 14'

มาแล้ว! กรมอุตุฯคาดหมายอากาศ 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่ 9-15 พ.ค.68

(คลิป) แนวหน้าTAlk : 'กูพูดไม่ได้' ย้อนอดีตเพื่อนรัก สุรนันทน์ ถึง บุญทรง

เพลิงไหม้วอด! กระบะยางแตก พุ่งลงข้างทางมอเตอร์เวย์ M6

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved