วันนี้มีศรัทธาญาติโยมที่ไม่เคยฟังเทศน์ฟังธรรมกัน มากันเป็นครั้งแรก เป็นจำนวนมาก ก็อยากจะบอกวิธีการฟังเทศน์ฟังธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดว่าควรจะฟังอย่างไร การฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรฟังด้วย กาย วาจา ใจ ที่สงบนั่นเอง กาย วาจา สงบเรียกว่า "ศีล" ใจสงบเรียกว่า "สมาธิ" ศีล สมาธิ เป็นเหมือนภาชนะที่จะรองรับปัญญา คือความรู้จากพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ก็เหมือนกับไม่มีภาชนะไว้รองรับนั่นเอง ความรู้หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ เป็นเหมือนอาหาร การที่เราจะรับอาหารจากพระพุทธเจ้า เราก็ต้องมีภาชนะ คือมีจาน
เวลาเราจะรับประทานอาหาร เราต้องมีจานไว้รองรับอาหาร ถ้ามีแต่มือเปล่าๆ ก็จะรับได้ไม่มาก แต่ถ้าเรามีภาชนะ มีจาน มีชาม เราก็สามารถตักอาหารใส่จาน ใส่ชามได้อย่างเต็มที่ แล้วเราก็จะได้เอาอาหารไปรับประทาน ให้ร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรง ใจของเราก็ต้องการอาหาร อาหารของใจก็คือธรรมะ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะทำให้ใจของเรามีความอิ่มหนำสำราญใจ มีความสุข มีความสบายใจ เวลาที่เราต้องการธรรมะ เราจึงต้องเตรียมภาชนะ ไว้ไปรับอาหาร ไปรับธรรมะจากพระพุทธเจ้า ภาชนะที่รองรับก็คือ ศีล สมาธินี่เอง กายสงบ วาจาสงบ เรียกว่า "ศีล"
ทำอย่างไรถึงเรียกว่า "กายสงบ วาจาสงบ" "กายสงบ" ก็คือเวลาฟังธรรม เราไม่ควรทำอะไร เราควรนั่งเฉยๆ ร่างกายไม่ควรที่จะทำโน่นทำนี่ ให้นั่งเฉยๆ ส่วนวาจาก็ไม่ให้พูดคุยกัน ต่างคนต่างนั่งเฉยๆ ไม่พูดไม่คุยกัน เพราะว่าถ้าเราทำอะไรทางร่างกาย หรือพูดคุยกัน ใจของเราก็จะไม่ได้มาฟังธรรมนั่นเอง ถึงแม้จะได้ยินเสียงแต่จะไม่เข้าใจ ธรรมจะไม่เข้าไปถึงในใจ เนื่องจากกายกับวาจาของเราไม่รองรับพระธรรมคำสอนนั่นเอง นอกจากกายวาจาที่สงบแล้ว ใจก็ต้องสงบด้วย คือ ใจต้องไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้คิดอยู่กับเรื่องที่เรากำลังฟังอยู่ คิดถึงเรื่องธรรม ติดตามตั้งใจฟังเสียงธรรมที่เข้ามาสัมผัสกับหู แล้วก็พิจารณาตาม
ถ้าเราพิจารณาตามได้ เราก็จะเข้าใจความหมายว่า ธรรมที่แสดงไว้นั้นแสดงเรื่องอะไรบ้าง แล้วเราก็จะได้เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความรู้ขึ้นมา หรือถ้าเราฟังธรรมแล้ว เราไม่สามารถพิจารณาตามได้ เนื่องจากเราอาจจะไม่เข้าใจความหมายของธรรมที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ ถ้าเรายังตั้งใจฟังอยู่กับเสียงธรรม เราก็จะได้ใช้เสียงธรรมนั้นเป็นอารมณ์กล่อมใจให้เข้าสู่ความสงบได้ ทำให้ใจเรานิ่งสงบ เกิดความสุขขึ้นมา การฟังธรรมจึงสามารถฟังได้ ๒ แบบ ฟังให้เกิดความสงบ ถ้าใจเราไม่สงบ เราอาศัยการฟังเสียงธรรมไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเราไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เกาะอยู่กับเสียงธรรมไป เสียงธรรมก็จะนำใจให้เข้าสู่ความสงบ ถ้าเราพิจารณาตามเหตุตามผลของธรรมที่แสดงไว้ได้ เราก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจ เกิดปัญญา เกิดความรู้ขึ้นมา
นี่คือวิธีการฟังธรรม และไม่จำเป็นที่จะต้องมีกระดาษ ดินสอ ไว้จดบันทึก การฟังธรรมนี้เราต้องการฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจแล้ว มันจะไม่ลืม มันจะอยู่ในใจ ถ้าเรามัวแต่จดธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง เราจะไม่มีเวลาที่จะมาพิจารณาธรรม เราจะคอยจดคอยจำแต่ธรรมที่เราได้ยิน แต่เราจะไม่เข้าใจความหมายของธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง จดไปแล้ว บางทีวันหลังกลับมาอ่านดูก็ไม่เข้าใจว่าจดอะไรไปบ้าง ดังนั้น การฟังธรรมนี้ โดยหลักเราไม่ต้องการจดจำ เราต้องการความเข้าใจ เหมือนเวลาที่เราจะเดินทางไปไหน เราไม่รู้จักทาง เราก็ถามคนที่บอกทาง ว่าจะไปที่นั่นไปอย่างไร เราก็ตั้งใจฟัง ให้เขาอธิบายให้เราฟัง ไปตรงนั้น ถึงตรงนั้นแล้วให้ไปทำอย่างนั้น ให้ขึ้นรถสายนั้นสายนี้
ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็ถามใหม่ว่า "ช่วยอธิบายอีกที ว่าทำอย่างไร เดินทางไปอย่างไร" ถามไปจนกว่าจะเข้าใจ พอเข้าใจแล้ว เราก็ไม่ต้องจด เพราะจดไว้เดี๋ยวหาย ถ้าเกิดหายไปก็ยุ่ง แต่ให้มันจดไว้ในใจดีกว่า ให้มันจด ให้มันเข้าไปในใจ ด้วยการเข้าใจ การที่เราจะเข้าใจ เราก็ต้องตั้งใจฟัง ฟังทุกคำพูดที่เขาพูดมา ที่เขาบอกมา พอเขาพูดเขาบอกแล้ว เราก็จะเข้าใจ แล้วเราก็จะจำได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกระดาษบันทึกเอาไว้ เพราะว่ากระดาษที่เราเขียนไว้บางทีมันก็หายได้ หรือบางทีเราจดแล้ว เราไม่เข้าใจ เรากลับมาอ่าน เราก็ไม่เข้าใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร นี่คือวิธีการฟังธรรม ถ้าฟังด้วยศีล ด้วยสมาธิ ใจจะสามารถรับปัญญาได้ "ปัญญา" ก็คือความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ แล้วนำเอามาสอนพวกเรานั่นเอง
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑ (เพจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต) - 003