คำว่าอธิษฐานนี้ตามความหมายของพระนี่ ไม่ได้แปลว่าขอ ขอนี่เป็นความหมายของโยมที่มาใช้กัน แต่ความหมายของคำว่าอธิษฐานที่แท้จริงคือความตั้งใจ ตั้งเป้า ตั้งเป้าหมาย เช่น เวลาเราทำบุญ ถ้าเราอยากจะทำบุญอยู่เรื่อยๆ เราก็ตั้งเป้าหมายว่า ขอให้ได้ทำบุญอย่างนี้ไปทุกวัน อย่างนี้ พอพรุ่งนี้เราก็จะได้ทำต่อ แต่ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะทำบุญทุกวัน เดี๋ยวพอพรุ่งนี้อาจจะไม่ทำก็ได้
ดังนั้น ถ้าเราอยากจะได้บุญจากการทำบุญ เราก็ต้องอธิษฐานตอนที่เราทำบุญว่า ขอให้ได้ทำบุญอย่างนี้ทุกวันหรือวันละหลายๆครั้งก็ได้ ขอให้ได้ทำบุญบ่อยๆ ทุกเวลาที่มีโอกาสได้ทำขอให้ได้ทำบุญ อย่างนี้เราก็จะได้ทำบุญ แล้วประโยชน์หรือผลที่จะได้รับจากการทำบุญก็จะเกิด แต่ถ้าเราไปขอว่าทำบุญแล้วขอให้ได้ไปนิพพานอย่างนี้มันก็ขอก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะการทำบุญไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้เราไปนิพพาน
การใส่บาตรนี้ไม่ใช่จะทำให้เราไปนิพพานได้ มันเป็นเพียงขั้นบันไดขั้นหนึ่งของการไปนิพพาน แต่ยังมีอีกหลายขั้นที่เรายังต้องก้าวขึ้นไป คือ นอกจากการทำบุญใส่บาตรแล้ว เรายังต้องรักษาศีล รักษาศีลแล้วยังต้องภาวนา นี่ถ้าเราอยากจะไปนิพพาน เราต้องตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ได้ทำบุญทุกวัน รักษาศีลทุกวัน ได้ภาวนาทุกวัน ถ้าอย่างนี้เดี๋ยวก็จะได้นิพพาน แต่จะไปขอ ขอให้ไปสวรรค์ ไปนิพพาน ขอให้ไม่ไปเกิดในอบายด้วยการใส่บาตรนี้มัน มันห้ามไม่ได้ มันเป็นผลไม่ได้
ถ้าไม่อยากจะไปอบายก็ต้องขอต่อไปนี้ จะไม่ทำบาปอีกต่อไป ขอตั้งสัจจะ ขออธิษฐานว่าจะไม่ทำบาปอีกต่อไป อย่างนี้ถึงต้องอธิษฐานแบบนี้ ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ตลอดชีวิต ตายไปก็ไม่ต้องไปอบาย เพราะบาปไม่มีจะดึงเราไป มีแต่บุญ บุญก็จะดึงเราไปสวรรค์ ไปนิพพาน ถ้าเราปฏิบัติถึงขั้นของนิพพานได้ ดังนั้นการอธิษฐานตามหลักของศาสนาพุทธคือให้ตั้งเป้า ตั้งอยู่ที่การกระทำของเรา อย่าไปตั้งที่ผล เพราะตั้งที่ผลแล้วไม่กระทำมันไม่เกิดผลขึ้นมา แต่ตั้งที่เหตุแล้ว พอเรามีเหตุเราทำเหตุได้ ผลก็จะตามมาเอง
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ (เพจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต) - 003