"...ที่ให้หยิบยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณานี้เป็นการหัดสมถะและวิปัสสนาไปในตัว ถ้าผู้ที่มีนิสัยวาสนาแล้วเป็นไปได้รวดเร็ว ถ้านิสัยพอประมาณได้ปานกลาง บางทีก็จะหนักไปทางสมถะ จิตเข้าหาความสงบ มีอาการสองหย่างดังแสดงมาแล้ว ถึงอย่างไรการพิจารณาอย่างนี้ย่อมมีอานิสงส์มาก เพราะพิจารณาให้เห็นสภาวะเป็นจริง ถึงไม่ได้ปัญญาขั้นละเอียด แต่ก็ยังรู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วค่อยๆ ถอนวางจากอุปทานลงได้โดยลำดับ
การยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณานี้ เป็นอุบายของการภาวนาโดยแท้ อย่าได้สงสัยว่าเราไม่ได้ภาวนา อุบายภาวนา คือการที่หยิบยกเอากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณาเมื่อจิตแน่วแน่ลงสู่อารมณ์อันเดียวจนเข้าเป็นภวังค์ เรียกว่าจิตเข้าถึงภาวนาแล้ว ฉะนั้นการที่เรายกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณาจิตของเราจะจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้นอย่างเดียว เรียกว่าเรากำลังเจริญภาวนาอยู่แล้ว ขอให้ยินดีพอใจในจิตของตนที่เป็นอยู่นั้นเถิด จิตก็จะได้แน่วแน่และเกิดปีติปราโมทย์จนละเอียดลงไปโดยลำดับ ผู้ไม่เข้าใจภาวนามักจะสงสัยไปต่างๆนาๆ แล้วก็ปรุงแต่งไปว่า ภาวนาจะต้องเป็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ แล้วจัดระดับชั้นภูมิของตนๆ ไว้ก่อนภาวนาเมื่อจิตไม่เป็นไปตามสังขาร ก็เลยฟุ้งซ่านเกิดความรำคาญ สังขารเป็นผู้ลวง จะไปแต่งภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะแล้วสังขารเป็นอุปสรรคแก่การภาวนาอย่างยิ่ง
ฉะนั้น เมื่อยังละสังขารไม่ได้ตราบใดแล้ว ไม่มีหวังจะได้ประสบรสชาติของการภาวนาเลย ที่สุดการฟังเทศน์หรือยกอุบายใจขึ้นมาพิจารณาก็ไม่เป็นผล มีแต่ความลังเลใจ ธรรมทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ก็จะไม่มีคุณค่าแก่เขา แม้เท่าที่เขาได้ส่ายตาไปมองดูรูปที่สวยๆ ขณะแวบเดียว ผู้ที่ท่านช่างคิดค้นหาข้อเท็จจริงทั้งหลาย ท่านไม่ใช้สัญญาออกหน้า แต่ท่านใช้เหตุผลและปรากฏการณ์เฉพาะเพาะหน้าเข้าค้นคว้าพิจารณา จึงได้ผลสมประสงค์ ธรรมหรือวิธีเจริญกัมมัฏฐานมิใช่ของมีโครงการอะไร ขอแต่ให้หยิบยกเอาเหตุผลหรือสิ่งปรากฏการณ์นั้นๆ มาพิจารณาให้เข้าถึงหลักของจริงก็เป็นอันใช้ได้ ที่มีพิธีรีตองและโครงการมากๆ นั้น ล้วนแล้วแต่ว่าตามความจริงจากท่านที่ท่านได้ทำสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น
ฉะนั้น ยิ่งนานและมีผู้ค้นพบของจริงมากเข้าเท่าไร วิธีและโครงการหรือตำราก็ยิ่งมากขึ้น จนผู้ศึกษาภายหลังทำตามไม่ถูก ก็เลยชักให้สงสัย บางคนพาลหาว่าตำราไม่ได้เรื่องอย่างนี้ก็มี ถ้าหากทำตามดังแสดงมาแล้ว คือยกเอาของจริง เช่น เกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง จนเกิดเป็นภาวนาสมาธิขึ้นมาแล้ว โครงการหรือวิธีทั้งหลายแหล่จะมากสักเท่าไรก็เป็นแต่เพียงกระจกเงาเท่านั้น หาใช่ตัวจริงไม่ ด้วยเหตุนี้สาวกของพระพุทธองค์จึงได้สำเร็จมรรคด้วยอุบายแปลกๆ ไม่เหมือนกัน
ขนาดแสงไฟในดวงเทียนจะมีธรรมอะไร ใครๆ เขาก็ใช้กันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ไม่เห็นจะวิเศษวิโสได้สำเร็จมรรคผลอะไร แต่ภิกษุณีชื่อ ปฏาจารา จุดเทียนบูชาในวิหาร แล้วเพ่งดูแสงเทียน ยึดเอาอาการแสงเทียนพลุ่งขึ้นด้วยกำลังแรงไฟ แล้วย่อยยับๆ ลงมาด้วยความอ่อนกำลังของมันเอง อยู่อย่างนั้นเป็นอารมณ์ น้อมเข้ามาเทียบกับอายุขัยและวัยในอัตภาพของตน จนเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งหลาย ที่สุดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะไฟนั้นนี้เป็นตัวอย่าง ท่านยกเอาแสงเทียนขึ้นมาพิจารณา เห็นเป็นของไม่เที่ยงตามลักษณะที่มันพลุ่งขึ้นแล้งย่อยยับหดตัวลงตามเป็นจริง แล้วหมดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง ธรรมอื่นๆ ไม่ต้องไปตามพิจารณา แต่มันมาปรากฏชัดในที่แห่งเดียวแล้ว
บัณฑิตสามเณรลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร เห็นเขาไขน้ำให้มันไหลไปตามนา ท่านนำมาพิจารณาว่า น้ำเป็นของไม่มีจิตใจ แต่ก็ไหลไปตามนาได้ตามประสงค์ จิตของเราเมื่อทรมาณให้อยู่ในอำนาจก็จะทำได้ เห็นเขาถากไม้ดัดลูกศร เขาหลิ่วตาข้างเดียวดูที่คดที่ตรง ท่านก็นำมาพิจารณาว่า ผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่าง ก็จะสงบไม่ได้และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นของควรละ ผลที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะอุบายอันนั้น นี่แหละความละเอียดและเป็นธรรมมิใช่อยูที่อุบาย แต่อยูที่จิต อบรมถูกจนจิตเป็นภาวนาสัมมาสมาธิแล้ว อุบายทั้งหลายที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้น ไม่ว่าหยาบและละเอียดก็จะได้ปัญญามีคุณค่าให้สำเร็จมรรคผลเป็นที่สุดเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นทุกๆ คนเมื่อเราหยิบยกเอาอุบายอันใดขึ้นมาพิจารณา เห็นชัดจนแจ่มแจ้งแล้ว แม้แต่ครั้งเดียวก็ตามขออย่าได้ทอดทิ้งให้นำเอาอุบายนั้นแหละมาพิจารณาอีก จิตจะเป็นอย่างที่เคยเป็นมาแล้วหรือไม่ก็ตาม ขอให้ทำเรื่อยไปจนชำนาญ
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิควรกระทำจนเกิดความชำนิชำนาญ แคล่วคล่องว่องไวจะยกอุบายอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ยกมาได้ทันทีจะเข้าออกสมาธิก็ง่าย ทำให้สมาธิตั้งอยู่นานก็ได้ และเชี่ยวชาญในการกำหนดรู้อารมณ์ของสมาธิเป็นอย่างดี..."
โอวาทธรรม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (ขอบคุณลานธรรมจักร) - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี