“218 ต่อ 109” เป็นคะแนนเสียงที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ลงมติผ่านกฎหมาย “กองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.)” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ซึ่งสาระสำคัญคือ “เลิกคิดดอกเบี้ยและค่าปรับ” ท่ามกลางความกังวลว่า “จะส่งผลกระทบกับกองทุนหรือไม่?” ดังที่ ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ว่า ในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6 พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนประมาณ 2 พันล้านบาทต่อ ปีเมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีการจัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “แบกหนี้ กยศ. มารับค่าแรงขั้นต่ำ เราจะแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร” โดย Equity Lab แล็บฯเสมอภาค ร่วมกับ WAY Magazine ซึ่ง ปวรินทร์ พันธุ์ติเวชนักวิชาการติดตามประเมินผล ฝ่ายโครงการวิจัยระบบ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ปัญหาของตัวกองทุน กยศ. ได้แก่ 1.การให้ผ่อนชำระแบบรายปี แต่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย ความสามารถในการออมและใช้หนี้มีจำกัด และ 2.อัตราดอกเบี้ย หากผิดนัดชำระหนี้สินอัตราดอกเบี้ยจะสูงประมาณร้อยละ 18 ต่อปี
“ปัจจุบันลดเหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี และช่วงโควิดที่ผ่านมาอัตราชั่วคราวลดเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี และยังลดดอกเบี้ยอัตราปกติเหลือร้อยละ 0.1 ต่อปี ถึงแม้จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแต่เวลาชำระหนี้ กยศ. ไม่ได้ตัดเงินต้นก่อน แต่หักค่าธรรมเนียมก่อนแล้วค่อยหักหักเงินต้น จึงทำให้เงินต้นยังไม่ลดลงแต่ดอกเบี้ยยังยังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทำให้ปัญหาหนี้สินทางการศึกษายังวนอยู่ที่เดิม” ปวรินทร์ ระบุ
กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงปัญหา “ค่าครองชีพ”โดยสิ่งที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้มีเรื่องอาหาร ที่พักอาศัยการรักษาพยาบาล การศึกษา เสื้อผ้า การเดินทาง และการออม แต่ปัญหาคือ “ในเรื่องการบริโภค เพียงการจ่ายค่าเช่าที่พักในปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้เงินออมไม่มีเช่นกัน” อีกทั้ง “คนคนหนึ่งไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อหาเงินเลี้ยงตนเอง แต่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วย” ซึ่งจากการสำรวจพบว่าแทบทุกครัวเรือนจะมีสมาชิกที่พึ่งพิง เช่น คู่สมรส บุพการี เป็นต้น
“การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่หนี้สินที่แบกรับในวัยเรียน ซึ่งการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐาน ไม่มีเพียงแค่ภาครัฐส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับ ที่จัดให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาเสมอภาค แต่รัฐต้องให้ความสำคัญต่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ซึ่งการรณรงค์ให้ยกเลิกหนี้ กยศ. เหมือนการเป็นการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างทางสังคมกันใหม่ เนื่องจาก กยศ. ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา แต่เป็นการสร้างหนี้สินตั้งแต่วัยเรียนและย้อนแย้งกับภาครัฐที่ส่งเสริมพฤติกรรมการออม” อาจารย์กฤษฎา ให้ความเห็น
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า จากงานวิจัยที่ทำเกี่ยวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งของไทยและ
ต่างประเทศ พบว่า รายได้ของบัณฑิตที่จบปริญญาตรีไม่ประสบความสำเร็จในตลาดแรงงาน ซึ่งหมายความว่า แม้คนกลุ่มนี้มีงานทำจริงแต่รายได้ใกล้เคียงค่าแรงขั้นต่ำหรือสูงกว่าเล็กน้อย จะเห็นได้ว่าช่วงแรกของชีวิตอายุระหว่าง 23-30 ปีช่วงระหว่าง 7-8 ปีแรกในการทำงาน จ่ายหนี้ กยศ. ไปประมาณ 4-5 ปี ทำให้เหลือค่าแรงไม่ต่างกับค่าแรงขั้นต่ำ โดย กยศ. ถูกออกแบบให้กับคนที่รายได้เฉลี่ยที่สูงกว่านี้
และเมื่อมองด้านมิติความเหลื่อมล้ำ“กลุ่มที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องกู้ กยศ. ฐานความรู้เดิมไม่เท่ากับกลุ่มคนที่อยู่ในเมืองและมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ฉะนั้นโอกาสที่เรียนจบแล้วประสบความสำเร็จเท่ากับคนที่มีฐานะดีต่ำมาก” อีกทั้งยังพบว่า คนจบ ม.6 ไม่ได้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากนัก แต่หลังจากมี กยศ. คนที่จบมหาวิทยาลัยมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่าคนจบ ม.6 ซึ่งหมายความว่าคนจบ ม.6 หันไปเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ กยศ. มีเจตนาที่ดีหากแต่มีข้อที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นกองทุนเงินอุดหนุนแฝง (Implicit Subsidy)
“นาย A ยืมเงินนาย B 100 บาท โดยนาย B ให้นาย A ใช้คืน 100 บาท ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่ง 100 บาท ในอีก 15 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้ 100 บาท ที่นาย A จะต้องจ่ายในอนาคต แท้จริงแล้วมีมูลค่าเพียง 28-30 บาทของปัจจุบัน ส่วนอีก 70 กว่าบาทคือเงินอุดหนุนแฝง ซึ่งตามหลักของโครงสร้างตลาดแรงงานไทย รัฐควรให้เงินอุดหนุนแฝงไม่เกินร้อยละ 65 แต่ในความเป็นจริงรัฐกลับปล่อยให้มีเงินอุดหนุนแฝงถึงร้อยละ 72” อาจารย์เกียรติอนันต์ กล่าว
อาจารย์เกียรติอนันต์ อธิบายต่อไปว่า ในทางเศรษฐศาสตร์มุมมองที่มีต่อบัณฑิตจบใหม่ คือ “การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์” หากจบการศึกษาและได้ทำงานก็จะเพิ่มรายได้ของครอบครัวและตนเองเรียกว่า “ประโยชน์ส่วนบุคคล” แต่เมื่อมองในมุมของสังคมการจบการศึกษาก็จะช่วยลดอาชญากรรม การเป็นพลเมืองที่ดีก็จะช่วยขับเคลื่อนสังคมในทางใดทางหนึ่ง สิ่งนี้เรียกว่าประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้น หากเรียนจบแล้วมีรายได้ในระดับสูงผลตอบแทนก็อาจมากพอที่จะชำระหนี้กู้ยืมทางการศึกษา
แต่หากมีรายได้ต่ำผลตอบแทนทั้งหมดก็แทบจะเป็นศูนย์ ตามแนวคิด Consumption Premium บัณฑิตจะต้องออมให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 8 ของรายได้ เพื่อให้มีความสามารถชำระหนี้สิน ซึ่งหลักการของการออกแบบกองทุนคือ “คนเป็นหนี้ได้แต่การชำระหนี้ต้องอ่อนโยนกับคนเป็นหนี้” ทั้งนี้“ในเบื้องต้นควรให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แต่อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาแบบที่คุ้นเคยก็ได้” ซึ่งไม่ว่าจะทำด้วยวิธีไหนก็ตาม อยากจะให้มองว่าเด็กแต่ละคนขาดอะไร แล้วพยายามเติมเต็มโอกาสตรงนั้นให้เขาได้เข้าถึงศักยภาพนั้นด้วยตนเอง
“สำหรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนอกเหนือประเด็นการศึกษาคือค่าแรงไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อเงินออมและส่งผลต่อศักยภาพการชำระหนี้ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหามีอยู่ 2 กลไก ได้แก่ 1.ยอมรับว่าการออกแบบระบบพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้นรัฐต้องรับผิดชอบ เพราะปล่อยให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรมากมาย และ 2.สังคมต้องยอมรับว่าโลกหลังจากนี้ไม่เหมือนเดิม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัย บางคนเหมาะสมก็เรียนต่อไป แต่คนที่ไม่ได้เรียน ชีวิตก็ยังก้าวหน้าได้ เพราะหลังจากนี้ปริญญาอาจไร้ความหมาย
อาชีพอาจต้องเปลี่ยนทุก 5 ปี นอกจากนี้เรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานต้องปรับตามยุค เมื่อก่อนสิทธิขั้นพื้นฐานคือเรียนจบ ม.3 ม.6 แต่ถามว่าแค่นั้นมันพอให้ชีวิตเขาดีไหมในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันสิทธิขั้นพื้นฐานต้องไปไกลกว่านั้น คืออาจต้องมีสิทธิUpskill และ Reskill ด้วยการ Take Courses สั้นๆให้ตัวเองไปตลาดแรงงานด้วยหรือเปล่า มันอาจต้องมองไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่สะท้อนโลกปัจจุบันด้วย” อาจารย์เกียรติอนันต์ ฝากทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM