มาถึงตอนสุดท้ายแล้วสำหรับเรื่องเล่าจากงานวิจัยชุดอุตสาหกรรม S Curve โดยอาจารย์หลายท่านจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเผยแพร่ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 (EconTU Symposium)ครั้งที่ 44 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เมื่อเร็วๆนี้ โดยไล่ตั้งแต่ ยานยนต์ไฟฟ้า (หน้า 5 ฉบับวันที่ 22 ก.ย. 2565), ยาและเครื่องมือแพทย์ (หน้า 17 ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 2565), อาหารแปรรูป (หน้า 3 ฉบับวันที่ 15 ต.ค. 2565)
จนมาถึงฉบับนี้จะว่าด้วยเรื่องของ “เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์” โดยมี ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล เป็นผู้บรรยาย ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เผชิญความท้าทาย 3 ประการ 1.ความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ “สหรัฐอเมริกา-จีน” ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ปัญหาการขาดแคลนชิพในฐานการผลิตต่างๆ ทั่วโลก” อีกทั้งเป็นการขาดแคลนอย่างยาวนานแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โดยสัญญาณการขาดแคลนเริ่มมาตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ในปี 2562 จากนั้นเมื่อเข้าสู่ปี 2563 ทั่วโลกยังต้องเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งจีนเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมโรค ยังไม่นับเหตุการณ์อื่นๆ เช่น ไฟไหม้โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ระดับโลก
3 แห่ง และภัยธรรมชาติต่างๆ อาทิ ภัยแล้งในไต้หวัน รวมถึงการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังใช้นโยบายการผลิตแบบชาตินิยม กล่าวคือ หากไม่ผลิตบนแผ่นดินสหรัฐฯ ก็ต้องผลิตในชาติที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การย้ายการลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ยังทำให้บางแห่งยกระดับขึ้นมาเป็นแหล่งผลิตชิพชั้นนำของโลก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งมีเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นของตนเอง หรือกรณีของ แอปเปิล แบรนด์สินค้าไอทีเจ้าดัง ก็ยังพึ่งพาซัพพลายเออร์จากจีนอย่างมากเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับการพึ่งพาซัพพลายเออร์ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
อีกด้านหนึ่ง ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยังมีการแข่งขันที่สูงมากและเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์มีวงจรชีวิตสั้นมาก เฉลี่ยอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะบริษัทต่างๆ พากันเร่งแข่งขันผลิตสินค้า ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แต่ละประเภทก็มีผู้เล่นหลักที่เป็นผู้ชนะเพียงรายเดียว รวมถึงมีความต้องการใช้อย่างก้าวกระโดดในสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
อนึ่ง มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ยังเป็นข้อจำกัดในการที่ผู้ประกอบการจะย้ายโรงงานออกจากจีน เช่น มีแผนย้ายไปเวียดนามแต่ไม่สามารถส่งผู้เชี่ยวชาญไปอบรมแรงงานในเวียดนามได้ โดยสรุปแล้ว “ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลกคงไม่เปลี่ยนแปลงในระยะสั้น แต่นโยบายของสหรัฐฯ จะกลายเป็นการเล่นเกมยาวเหมือนกับการวิ่งมาราธอน” ดังนั้น ในระยะสั้นไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบแต่ไทยก็ควรสงวนท่าทีไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และพยายามใช้โอกาสนี้ดึงดูดนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน
2.ความยืดหยุ่นของไทยในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก แหล่งนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภูมิถาคเอเชียตะวันออก (จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) และชาติร่วมอาเซียนด้วยกัน (สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) โดย 2 ส่วนนี้รวมกันได้ราวร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม หากดูทั้งหมดจะพบว่าไทยนำเข้าจากแหล่งที่หลากหลายมาก โดยเฉลี่ย 22 ประเทศต่อรายการสินค้า อีกทั้งไทยยังนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพความแนบแน่นอย่างสูงระหว่างไทยกับเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ
ถึงกระนั้น ดัชนีการกระจุกตัวก็เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว คาดว่ามาจากบริษัทข้ามชาติที่มีบทบาทสูง จึงเปลี่ยนแปลงแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว “โดยสรุปแล้ว ไทยมีความยืดหยุ่นค่อนข้างดีในการเข้าถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากห่วงโซ่อุปทาน” ซึ่งก็มาจากหลายสาเหตุ อาทิ แหล่งนำเข้าที่มีการกระจายค่อนข้างสูง มีความแนบแน่นกับเครือข่ายการผลิต บวกกับความได้เปรียบทั้งทำเลที่ตั้งของประเทศซึ่งอยู่ใกล้ฐานการผลิตสำคัญ (เช่น เอเชียตะวันออก) และภูมิรัฐศาสตร์ที่มหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่น ต้องการให้ไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย
และ 3.การปรับตัวของผู้ประกอบการในประเทศ ห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกือบครบวงจร แต่สิ่งที่ขาดคือความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างเซมิคอนดักเตอร์ และปลายน้ำอย่างสินค้าสำเร็จรูป การไม่เชื่อมโยงนี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยบางรายเข้าถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญได้ยาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับนวัตกรรมสินค้าในประเทศ
ที่ผ่านมาแม้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยพยายามเชื่อมโยงตนเองเข้ากับบริษัทข้ามชาติทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ (เช่น ยานยนต์) แต่ทำไม่สำเร็จ สะท้อนความยากที่ผู้ประกอบการไทยจะไปเชื่อมต่อโดยตรง เนื่องจากผู้ประกอบการข้ามชาติอาจไม่มั่นใจในการใช้ชิพที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ส่วนโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ บริษัทข้ามชาติยังคงใช้ฐานการผลิตเดิม โดยผลักดันให้สาขาในไทยยกระดับไปผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยากมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง
ยังมีข้อค้นพบอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ผู้ประกอบการในประเทศกระจายการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมกลุ่ม S Curve ที่หลากหลาย แต่เป็นการกระจายที่ไม่เกื้อหนุนกัน จึงไม่กล้าลงทุนเต็มที่ งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) จึงเกิดขึ้นไม่มาก อีกทั้งยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องการเงินและห้องทดสอบ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยแม้จะเป็นกลุ่มรับจ้างผลิต(OEM) แต่ก็พบการปรับตัวหันไปใช้เทคโนโลยีจักรกลอัตโนมัติ (Automation)มากขึ้น เพราะมนุษย์ไม่สามารถประกอบชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กได้
สำหรับ “อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ 3 อันดับแรกที่ผู้ประกอบการให้ความเห็น” อันดับ 1 ขาดข้อมูลและองค์ความรู้ของงานวิจัย อันดับ 2 ขาดผู้เชี่ยวชาญ และอันดับ 3 ความยากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์(Commercial Product) จึงนำมาซึ่งข้อเสนอแนะ 1.ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการให้ลงทุนวิจัยและพัฒนา
2.ส่งเสริมกลไกเชื่อมต่อองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเงินทุน แก่ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั้งหมดทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ 3.มีมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงชิ้นส่วนได้มากขึ้น และ 4.ศึกษาจากตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จ เพื่อถอดต้นแบบและประสบการณ์สู่ภาครัฐและผู้ประกอบการ!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี