วันอาทิตย์ ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2566
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : กฎหมาย‘ทรมาน-อุ้มหาย’  นับถอยหลัง‘บังคับใช้vsเลื่อน’

สกู๊ปแนวหน้า : กฎหมาย‘ทรมาน-อุ้มหาย’ นับถอยหลัง‘บังคับใช้vsเลื่อน’

วันพฤหัสบดี ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า กฎหมาย ทรมาน อุ้มหาย
  •  

“25 ตุลาคม 2565 วันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของสังคมไทย” เมื่อกฎหมาย “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้มีกฎหมายนี้มานาน และรัฐไทยเองก็ไปรับรองกฎกติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับคือ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ในปี 2555 และ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ในปี 2550

กระทั่งเกิดคดีสะเทือนขวัญ กรณี “ถุงดำคลุมหัว” ภาพจากคลิปวีดีโอเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย“ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนผู้ต้องหาเสียชีวิต เมื่อเดือน ส.ค. 2564 เป็นข่าวฉาวที่ถูกนำเสนอไม่เฉพาะในไทยแต่รวมถึงสื่อต่างชาติ โดยนอกจากจะนำไปสู่การเอาผิด ผกก.โจ้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมกระทำการดังกล่าวแล้ว ยังทำให้กระแสสังคมเร่งรัดให้มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเร็ว


เห็นได้จากร่างกฎหมายถูกนำเข้า สู่สภาและผ่านการพิจารณาทั้งในชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างรวดเร็ว จนกฎหมายสามารถผ่านออกมาจากทั้ง 2 สภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรียกร้องขอให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกไปก่อน โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือก็คือวันที่ 22 ก.พ. 2566

ที่วงเสวนา “พ.ร.บ. ซ้อมทรมานและอุ้มหายเดินหน้าหรือชะลอ ใครได้ ใครเสีย?” เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สส. จังหวัดยะลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในคณะ กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายฉบับนี้ เช่น สตช. กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย

ซึ่งแม้จะมีข้อกังวลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง การอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่
แต่ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อออกแนวปฏิบัติกลางสำหรับใช้ร่วมกัน และทุกหน่วยงานยืนยันว่าไม่เป็นอุปสรรคหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ทั้งนี้ ข้อกังวลของ สตช. ยืนยันว่ายังไม่ถึงขั้นต้องเลื่อนการบังคับใช้ อาทิ กล้องบันทึกปฏิบัติการจับกุมที่ สตช. กังวลว่าปัจจุบันยังจัดหาได้ไม่ครบสำหรับเจ้าหน้าที่ 2 แสนกว่านาย ซึ่งนั่นคือการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ แต่จริงๆ แล้วขอให้จัดไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มาเข้าเวรก่อน

นอกจากการควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจแล้ว กฎหมายใหม่นี้ยังมีเรื่องของการ “เยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบด้วย โดย นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยหลักเกณฑ์ที่วางนั้นจะครอบคลุมมิติอื่นๆ มากกว่าเรื่องเงิน ดังนั้น ก็จะต้องหารือร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ หรือหน่วยที่มีหน้าที่เยียวยา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

สมชาย หอมลออ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยกตัวอย่างหนึ่งในคดีอุ้มหายที่เป็นข่าวดัง “บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ” ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกอุ้มหายเพราะออกมาเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งพบปัญหาภรรยาไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมเพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรส กลายเป็นการ “ถอดบทเรียน” ในการร่างกฎหมาย

นำมาสู่การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เปิดโอกาสให้
ผู้ที่อยู่กินฉันสามี-ภรรยา แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสสามารถเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องคดีได้หากอีกฝ่ายตกเป็นเหยื่อถูกซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย แต่ก็ต้องหาหลักฐานมาสนับสนุนพอสมควรว่าตนเองเป็นผู้ที่อยู่กินกันฉันสามี-ภรรยา เช่น พยานบุคคลที่เชื่อถือได้ หรือพยานเอกสาร อาทิ ทะเบียนบ้าน หากอยู่บ้านเดียวกัน ใบรับรองการเป็นบิดา-มารดา กรณีทั้งคู่มีลูกด้วยกัน

น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในส่วนของอัยการมีความพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อยู่ที่ร้อยละ 80 และหากรอให้พร้อมทั้ง 100% คงไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งมีตัวอย่างกรณีเปลี่ยนกระบวนการสอบสวนเด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้เกี่ยวข้องในคดีความต่างๆ ซึ่งแม้ช่วงแรกๆ จะมีเสียงบ่นว่ายุ่งยากวุ่นวายเพราะต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมสอบสวนด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ตกผลึกเป็นแนวปฏิบัติออกมาได้

ทั้งนี้ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีอยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ถึงขั้นกำหนดว่าหากไปจับคนร้ายแล้วไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ หากผู้ต้องหามีบาดแผลตามร่างกายและร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานเจ้าหน้าที่ก็อาจมีความผิดถึงขั้นถูกจำคุก ส่วนกฎหมายไทยมีในส่วนของการชี้แจง อาทิ ขณะไล่จับคนร้ายต้องลงน้ำ หรือเกิดต่อสู้ชุลมุนกันจนกล้องเสียหาย อัยการและฝ่ายปกครองก็จะเป็นผู้ตรวจกล้องนอกเหนือจากการอ่านบันทึกการจับกุมอย่างเดียว

การขอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยมีกรณี “กฎหมาย PDPA” พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่เลื่อนมากว่า 2 ปี กระทั่งมีผลบังคับใช้ต้องรอถึงวันที่ 1 มิ.ย. 2565 แต่สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นั้นแตกต่างออกไปโดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายว่า กฎหมาย PDPA นั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้ขอเลื่อน และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงรัฐสภาและประชาชนก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร

แต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นั้นมีเพียง สตช. หน่วยงานเดียวที่ขอเลื่อน อีกทั้งข้อกังวลของ สตช. จริงๆ แล้วยังสามารถปฏิบัติได้ อาทิ เรื่องกล้องบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ ในระยะแรกไม่จำเป็นต้องมีสำหรับเจ้าหน้าที่ทุกนายแต่ขอให้มีในจุดที่ควรมี เช่น สถานที่สอบสวน หรือสำหรับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม และกฎหมายยังเปิดช่องให้ชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถใช้กล้องบันทึกเหตุการณ์ไว้ด้วย ส่วนเรื่องการอบรมเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ สตช. ก็ออกระเบียบมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่เพียงคุ้มครองประชาชน แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วยหากถูกร้องเรียน!!!


SCOOP@NAEWNA.COM
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘บำนาญแห่งชาติ’ดูแลสูงวัย  (จบ)เก็บภาษีแบบไหนรับได้? สกู๊ปแนวหน้า : ‘บำนาญแห่งชาติ’ดูแลสูงวัย (จบ)เก็บภาษีแบบไหนรับได้?
  • สกู๊ปแนวหน้า :  ‘บำนาญแห่งชาติ’ดูแลสูงวัย  (1)เหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องมี สกู๊ปแนวหน้า : ‘บำนาญแห่งชาติ’ดูแลสูงวัย (1)เหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องมี
  • สกู๊ปแนวหน้า : คุณภาพชีวิตแรงงานไทย  มองให้ไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ สกู๊ปแนวหน้า : คุณภาพชีวิตแรงงานไทย มองให้ไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘อีไอเอ’ไม่จริงใจ!..ไปต่อยาก บทเรียนโครงการ‘ผันน้ำยวม’ สกู๊ปแนวหน้า : ‘อีไอเอ’ไม่จริงใจ!..ไปต่อยาก บทเรียนโครงการ‘ผันน้ำยวม’
  • สกู๊ปแนวหน้า : จากกฎหมายถึงจรรยาบรรณ  เรื่องควรรู้‘จ้างคนทำงานบ้าน’ สกู๊ปแนวหน้า : จากกฎหมายถึงจรรยาบรรณ เรื่องควรรู้‘จ้างคนทำงานบ้าน’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘คุยเรื่องเพศ’ลดโอกาสพลาด  ป้องปัจจัยเสี่ยงเริ่มที่ครอบครัว สกู๊ปแนวหน้า : ‘คุยเรื่องเพศ’ลดโอกาสพลาด ป้องปัจจัยเสี่ยงเริ่มที่ครอบครัว
  •  

Breaking News

‘แม่ทัพ พปชร.’ลงเรืออ้อนขอคะแนนเสียงชาวเรือ วางเป้า‘สมุทรสาคร’ยกจังหวัด

‘ตม.สระแก้ว’รวบค่าด่านสาวแก๊งคอลฯ-หนุ่มบัญชีม้า

ลุ้นสนาม2‘ก้อง สมเกียรติ’บิดสู้โมโตทู

งานงอก!‘อนันต์ชัย’ฮึ่มไม่ใช่ทนายมหาโจร ควงชูวิทย์ยื่นฟ้อง‘สันธนะ’เหยียดหยาม

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายประพันธ์ สุขทะใจ ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved