ยังคงอยู่กับงานสัมมนา “เมื่อเมืองพลิกผันพื้นที่ เวลา และชีวิตในเมืองในห้วงโควิด-19” จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หลังจากก่อนหน้านี้(ฉบับวันเสาร์ที่ 4 ก.พ. 2566) กล่าวถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไปแล้ว ในฉบับนี้ยังมีกรณีศึกษาของ “เชียงใหม่” เมืองศูนย์กลางของภาคเหนือ
ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้บรรยายในหัวข้อ “มนุษย์ล่องหนในระบาดวิทยา : ความเปลือยเปล่าของคนชายขอบในเมืองเชียงใหม่” เล่าถึงการเฝ้ามองวิถีชีวิตของ “แรงงานข้ามชาติ” ใน จ.เชียงใหม่ (ในที่นี้เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานชาวไทใหญ่)ว่าอยู่กันอย่างไรในห้วงเวลาที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งแม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคไม่แตกต่างกับแรงงานไทย แต่ความที่ไม่มีสถานะทางสัญชาติทำให้ผลกระทบนั้นรุนแรงกว่า
แรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมือง รวมถึงอำเภอที่ติดกับ อ.เมือง จำนวนมากอาศัยอยู่ในที่พักแบบปลูกสร้างชั่วคราวเนื่องจากทำงานก่อสร้าง ดังนั้น จึงได้รับผลกระทบในช่วงที่รัฐออกมาตรการปิดแคมป์คนงาน แต่ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างก็ต้องดิ้นรนหาทางทำงานแม้จะหมิ่นเหม่กับการฝ่าฝืนมาตรการของรัฐ ถึงกระนั้น แรงงานแต่ละกลุ่มก็ยังแตกต่างกันทั้งผลกระทบและการดิ้นรน
อาจารย์ชัยพงษ์ แบ่งแรงงานข้ามชาติที่ทำการศึกษาเป็น 4 กลุ่ม 1.แรงงานที่จ้างอย่างไม่เป็นทางการ เช่น คนงานทำความสะอาดบ้าน ก่อนยุคโควิด-19 ระบาด คนกลุ่มนี้เคยรับงานวันหนึ่งหลายบ้านมีรายได้มากพอสมควร แต่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด แรงงานกลุ่มนี้ตกงานเป็นกลุ่มแรกๆ เพราะหลายครัวเรือนไม่กล้าจ้างอีกเนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อ
2.แรงงานภาคเกษตรที่อยู่นอกเมือง มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายส่งผลกระทบต่อการลำเลียงผลผลิตไปขาย ส่งผลให้แรงงานตกงานไปด้วย ส่วนหนึ่งเดินทางจากพื้นที่เกษตรในชนบทเข้าเมืองเพื่อหางานทำ 3.แรงงานในระบบที่มีสัญญาจ้างเป็นทางการ กลุ่มนี้แม้ได้รับผลกระทบ แต่ยังพอมีสวัสดิการจากประกันสังคม และ
4.ผู้ประกอบการรายย่อย แรงงานข้ามชาติบางส่วนยกระดับมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขายกล้วยทอด ขายอาหารพื้นเมือง ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดตลาด แต่กลุ่มนี้มีทุนสำรองมากที่สุดจึงมีบทบาทช่วยเหลือแรงงานกลุ่มอื่นๆ ด้วย
“ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในภาวการณ์โควิด ปัญหาใหญ่คือผลกระทบจากโควิดนอกจากไม่มีงานทำแล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดก็คือการเข้าถึงสวัสดิการ เช่น วัคซีน การเยียวยาต่างๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลย เราจะเห็นว่าวัคซีนขณะที่เข้ามาครั้งแรกจำกัดว่าเป็นคนไทยเท่านั้นต้องฉีด แรงงานแทบเข้าไม่ถึง แต่สิ่งหนึ่งที่แรงงานเหล่านี้ทำคือเอาเงินทุ่มที่จะรักษาตัวเองโดยเฉพาะฉีดลูกเขา จะต้องซื้อซิโนฟาร์ม อะไรต่างๆ นานา จำนวนมาก และยินดีที่จะลงทุน
และที่สำคัญที่สุด แรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มที่บางส่วนผมสัมภาษณ์ เป็นแรงงานที่ผมใช้คำว่าเป็นแรงงานอารมณ์ ทำงานอยู่ในร้านอาหารอะไรต่างๆ นานา พวกนี้ก็ต้องป้องกันในการได้รับผลกระทบ ก็ต้องใช้เงินตัวเอง แล้วที่สำคัญ การที่เขาเข้าประกันสังคมด้วย เข้าอะไรต่างๆ ด้วย พวกนี้ก็ใช้สิทธิ์ยากมาก การเยียวยาต่างๆ นานา สิ่งที่เขาพอจะทำได้ เปลือยเปล่าทางเศรษฐกิจก็คือการรับบริจาค การจะต้องไปรอของอะไรต่างๆ นานา ท้ายที่สุดความเป็นเมืองมันช่วยให้เขารอด” อาจารย์ชัยพงษ์ ระบุ
ข้อค้นพบประการต่อมา “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” เช่น เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อให้แรงงานข้ามชาติสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันเองโดยประสานขอรับการสนับสนุนกับบุคคลหรือหน่วยงานภาคนอก อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) บริษัทห้างร้าน วัด มหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยเครือข่ายจะนำสิ่งของจำเป็นที่ได้รับการบริจาคไปแจกจ่ายในชุมชน เพราะคนในชุมชนหรือในกลุ่มแรงงานด้วยกันจะรู้กันว่าครัวเรือนใดเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดหรืออย่างเร่งด่วน เป็นการอุดช่องว่างการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ทั้งนี้ อาจารย์ชัยพงษ์ ให้ข้อสรุปจากการศึกษา ว่า ความเปราะบางทำให้แรงงานข้ามชาติเปลือยเปล่า ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐมองแรงงานกลุ่มนี้ในแง่เศรษฐกิจเพียงมุมเดียวไม่ได้มองในแง่ความเป็นมนุษย์ด้วย แรงงานจึงเข้าไม่ถึงมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐ แต่แรงงานข้ามชาติได้ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันให้อยู่รอด และยังคงดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง โดยคนที่เคยทำหน้าที่ประสานงานระดมทรัพยากรในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็หันมาประสานงานด้านอื่นๆ หลังสถานการณ์โรคระบาดเบาบางลง
“ที่สำคัญที่สุด มันทำให้สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือก่อนหน้านี้แรงงานข้ามชาติไทใหญ่ ถามว่าตระหนักในความเป็นพลเมือง หรือสิทธิที่ตนเองต้องเสียประกันสังคมทุกเดือนไหม? ก็เห็นแต่ไม่ได้คิดถึงว่ามันต้องมีผลดีกับเราขนาดไหน แต่หลังจากโควิดหลังจากที่เขาต้องเสียเงินทุกเดือนๆ จ่ายไปแต่ไมได้รับการเยียวยา สิ่งเหนึ่งที่เขาเห็นคือเริ่มมีกลุ่มที่ทำงานเข้มแข็งเรื่องการเรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิพลเมือง ต้องการมีบัตร ยกระดับวิธีคิดนอกจากแค่มาเป็นแรงงานอย่างเดียวแล้ว อันนี้คือสิ่งที่หลังจากโควิดมันทำให้เราเห็น” อาจารย์ชัยพงษ์ กล่าว
สำหรับประเด็นการเข้าไม่ถึงสวัสดิการหรือมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐของแรงงานข้ามชาติ นอกจากท่าทีของรัฐเองแล้ว “มายาคติของสังคม” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยสังคมไทยไม่ได้มองแรงงานข้ามชาติแบบเท่าเทียมกับคนไทยด้วยกัน เช่น ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงกระแสชาตินิยมก็ถูกปลุกเร้าขึ้นมาด้วย ขณะที่
ประเด็นเครือข่ายช่วยเหลือกันที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดสิ่งที่น่าคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้เครือข่ายเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไป
ยังมีประเด็นท้าทายอย่าง “ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย” จะวางตำแหน่งสถานะของคนกลุ่มนี้อย่างไร เห็นได้จากในช่วงโควิด-19 ระบาด แม้เงินจะไม่ค่อยมีแต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังพยายามเจียดมาใช้จ่ายเพื่อให้บุตรหลานเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เพราะเห็นว่าการเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไม่ว่า ม.6 หรือแม้แต่ปริญญาตรี จะช่วยยกระดับสถานะขึ้นไปได้
“อาจจะพูดเกินเลยไปก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในภาวะโควิดระบาด ระบบอะไรมันล่มสลายหมด สาธารณสุขล่มสลายหมด แต่โรงเรียนและครู หรือระบบการศึกษายังทำงานอย่างเข้มข้น ยังพยายามที่จะสอนเท่าที่จะทำได้ มาตรการต่างๆ ครูไปสอนที่บ้าน ไปเปิดแคมป์คนงานสอน ครูเป็นคนเดินทางไปหานักเรียน อันนี้คือสิ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ระบบการศึกษาอาจจะเป็นองคาพยพของรัฐที่อาจจะพอทำงานเข้มแข็งในวิกฤตแบบนี้” อาจารย์ชัยพงษ์ กล่าวในตอนท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM