“1.3 ล้านเสียง” เป็นคะแนนที่ชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) เลือกให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มาดำรงตำแหน่ง “พ่อเมือง” หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี เสียงสะท้อนของประชาชนเริ่มหันมาตั้งคำถามกับผู้ว่าฯ ชัชชาติมากขึ้น ดังผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 พบว่า 1 ปีผ่านไป คะแนนนิยมเริ่มลดลง
“ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดา พร้อมน้อมรับและนำมาปรับปรุงดีแล้วที่มีคนติ ถ้ามีคนชมอย่างเดียวเราไม่รู้จะปรับปรุงตรงไหน เราก็ตั้งหน้าทำงานเต็มที่ คำติเหมือนเป็นแรงผลักดันของเรา ยิ่งกว่าคำชมอีก เรายิ่งต้องเปลี่ยนมาเป็นพลังบวกให้ได้ ก็ขอบคุณ 1 ปี เราทำเต็มที่แล้ว เชื่อว่าเราได้รับความร่วมมือหลายๆ ด้าน” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 ถึงผลสำรวจของนิด้าโพล
ก่อนหน้านั้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนา เรื่อง “ตรวจการบ้าน 1 ปีแรก :กรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. (ท่าพระจันทร์) โดย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยี “ฟองดูว์ (Fondue)” ซึ่งเป็นมากกว่าการเปิดพื้นที่ร้องเรียนปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ กทม.
เช่น ไฟส่องสว่าง ใน กทม. มีหลอดไฟ 320,000 ดวงอยู่ในความดูแล แต่ในที่นี้ไม่ใช่ทุกดวงจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพราะส่วนหนึ่งอยู่กับสำนักการโยธา กทม. ซึ่งระบบราชการแบบเดิมๆ หน่วยงานจะรู้ว่าไฟดับก็มักเป็นตอนที่ออกตรวจพื้นที่แล้วเจอ หากพบแล้วก็ต้องมีขั้นตอนประกวดราคาหาเอกชนมาติดตั้งบ้าง หรือประสานการไฟฟ้ามาเปลี่ยนให้บ้าง แต่เวลานั้นปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับระบบฟองดูว์ที่เราใช้? ประชาชนเป็นฝ่ายร้องว่าไฟดับ ภายใน 24 ชั่วโมง หลังประชาชนบ่นเข้ามา รองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ ได้ข้อมูลเดียวกันกับผู้อำนวยการเขตและผู้อำนวยการสำนักการโยธา ภายใน 24 ชั่วโมง ต้องมีการเสนอเรื่องในการติดตามผล (Response)
โดยไม่ต้องอาศัยการเกษียนหนังสือหรือคำสั่งจากใครทั้งสิ้น เป็นการวางระบบภายใน 24 ชั่วโมง 48 ชั่วโมงต้องเริ่มดำเนินการ ปัญหาที่แก้ง่ายที่สุดจะแก้ได้ภายใน 72 ชั่วโมง ช้าสุดที่เราเคยมีคือ 1 เดือนครึ่ง” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อไปว่า แม้แต่การแก้ปัญหาหลอดไฟฟ้าชำรุดก็ยังยืดหยุ่นตามศักยภาพของแต่ละหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานเขตบางแห่งสามารถประสานการไฟฟ้ามาเปลี่ยนได้ก็ให้ประสานไป หรือสำนักงานเขตบางแห่งที่มีเครื่องมือพร้อมสามารถเปลี่ยนเองได้ก็ซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนได้เลย นอกจากนั้น “ฟองดูว์ยังเป็นเครื่องมือส่งเสริมประชาธิปไตยและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ประชาชนไม่ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้บริหารหน่วยงานใน กทม. เพื่อประสานให้ช่วยแก้ปัญหา เพราะทั้งประชาชนและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องล้วนเห็นข้อมูลเดียวกันบนหน้าจอ
ในเผนที่ Fondue ของ กทม. จะแบ่งเรื่องร้องเรียนไว้ 4 ส่วน “สีแดง” รอรับเรื่อง “สีเหลือง” กำลังดำเนินการ“สีเขียว” ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และ “สีน้ำเงิน” ส่งต่อหน่วยงานอื่นนอกเหนือจาก กทม. ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ซึ่งตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องต้องส่งต่อประมาณ 6 หมื่นเรื่อง ระบบ Fondue จึงทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาใดบ้างที่ กทม. แก้เองได้-ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กทม. ทำก็ไม่ใช่การผลักภาระ แต่เป็นการทำตนเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ประสานหน่วยงานอื่นๆ ให้ เช่น การไฟฟ้า การประปา ตำรวจ ฯลฯ
“บางเรื่องมันทำง่ายแต่มันก็มีความยาก เพราะอย่างการไฟฟ้า การประปา หรือใดๆ ก็ตาม เราไม่สามารถสั่งเขาได้ มันจะอยู่ในเงื่อนไขของความร่วมมือมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือการเปิดแผนเข้าชนกัน อันนี้เป็นครั้งแรกก็คือไปการประปานครหลวง ไปขอให้เปิดเผนเรื่องท่อประปาและงบประมาณ แล้ว กทม. ก็เปิด ถามว่าทำไม? ตรงนี้อยากได้ประปาหัวแดงเอาไว้ดับเพลิงเพิ่ม 258 หัว ในชุมชนความเสี่ยงที่เราทำขึ้นมา
ถามไปที่การประปา หัวแดงอันหนึ่งประมาณ 150,000 บาท ราคามาตรฐานเช็คแล้ว โห 47 ล้านบาท ตกใจมากจะเอาเงินที่ไหน? เสร็จแล้วพอไปคุยกับการประปา พบว่าพอเราเปิดแผนหากัน เอาแผนที่เขา-แผนที่เราขึ้น แผนการใช้เงินขึ้นแล้วประสานกัน ปรากฏว่า 81 หัว จาก 258 หัว ที่เราอยากได้อยู่ในแผนการประปา สามารถที่จะทำได้เลย อีก 177 หัว MOU (บันทึกความตกลงร่วมกัน)จะทำให้ได้ภายในเดือนหน้า
ใน MOU นี้การประปากรุณามาก ไปศึกษาโมเดลของหัวแดงสำหรับจ่ายน้ำดับเพลิงโดยเฉพาะ ทำให้หัวล็อกลดลง 2 หัวล็อก งบประมาณลดลง 1 ใน 3 แล้วการประปาก็ตัดสินใจเข้าโครงการคนละครึ่ง ประปาจ่ายครึ่ง กทม. จ่ายครึ่งมันเป็นเรื่องของความร่วมมือ เป็นเรื่อง วิน-วิน มันเป็นเรื่องของการรู้ว่าภารกิจเขาคืออะไร เราต้องรู้งานของเขาด้วย ต้องอำนวยความสะดวกให้กับงานของเขาด้วย การเปิดแผนมันถึงจะได้ร่วมกัน” รศ.ดร.ทวิดา ระบุ
อนึ่ง ในการเสวนาครั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ยังเปิดเผยผลการทำงานเบื้องต้นในรอบ 1 ปีของ กทม. แบ่งเป็น 9 ด้าน คือ 1.สิ่งแวดล้อมดี 2.สุขภาพดี 3.เดินทางดี 4.ปลอดภัยดี 5.โครงสร้างดี 6.เศรษฐกิจดี 7.สร้างสรรค์ดี 8.เรียนดี และ 9.บริหารจัดการดี ซึ่งมีทั้งนโยบายที่ทำได้แล้วและนโยบายที่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่ง่ายที่แต่ละหน่วยงานจะเปิดกฎหมาย แผนและงบประมาณมาเจอกัน
ด้าน รศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ หัวหน้าสาขาวิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มุมหนึ่งต้องชื่นชม กทม. ในการก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมายและโครงสร้างซึ่งต้องใช้เวลา ด้วยการนำเทคโนโลยีและกระบวนการบริหารจัดการมาใช้ ซึ่งผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยควรใช้แนวทางนี้มากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐของไทยไม่เก่ง แต่ระบบราชการของไทยไม่เอื้อให้เกิดนักบริหารประเภทนี้
โดยที่ผ่านมา “เจ้าหน้าที่รัฐของไทยมักเคยชินกับการทำงานตามสายการบังคับบัญชา (Hierarchy) หรือการออกคำสั่งตามกรอบการทำงาน” ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐระดับต่างๆ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี คำชี้แจงที่ประชาชนคุ้นชินเสมอคือ “ติดขัดระเบียบราชการ” กลายเป็นคำถามที่คาใจประชาชน เพราะแม้แต่นายกฯ ก็ยังบอกว่าติดขัดเรื่องระเบียบคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้
“มันกลายเป็นว่าตอนนี้เรากำลังสู้กับระบบเดิมอยู่ ให้มันเคลื่อนไปตามทิศทางใหม่ที่ควรจะเป็น แต่อยากชวนพวกเราทั้งหมดในฐานะเป็นฝ่ายวิชาการก็ดี หรือคนที่ทำงานท้องถิ่นก็ดี หลายประเด็นที่อาจารย์ทวิดาพูดแล้วมันเคลื่อนต่อไม่ได้เพราะติดขัดระเบียบ มันไม่ใช่อำนาจ ไม่ใช่อะไร ก็เริ่มที่มันต้องยกขึ้นมาให้อยู่บน Dialogue (การสนทนา) ให้เห็นเสียทีว่าเรากำลังพูดถึงการจัดการเชิงพื้นที่ กำลังพูดถึงการจัดการเมือง การจัดการมหานคร
Solution (แนวทาง) มี อาจารย์บอกว่าบางโครงการยกร่างไว้เสร็จแล้วว่าจะทำอะไรอย่างไร แต่ผมคิดว่ามันต้องขึ้นมาอยู่บนดินให้สาธารณชนทราบว่า กทม. พร้อมทำไหม? โครงการออกแบบเสร็จแต่ที่ยังทำไม่ได้ ถ้ามันติดล็อกระบียบและข้อกฎหมายผมคิดว่ามันต้องบอกสังคมเสียทีว่าระเบียบกฎหมายที่มันติดต้องแก้ได้แล้ว คือทำอย่างไรจะให้รูปแบบนี้มันขึ้นมาสู่การเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องต้องปรับแก้” รศ.ดร.วสันต์ กล่าว
ขณะที่ ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำนโยบายสาธารณะในยุคใหม่ การจะบอกว่านโยบายหนึ่งทำสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่เพียงการคำนวณความคุ้มทุน หรือผลที่สามารถจับต้องได้เท่านั้น แต่ยังมีมิติเชิงกระบวนการหรือเชิงการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ สื่อและประชาชน
เช่น หากมองเรื่องการนับรวมความเป็นธรรมและความยั่งยืน จะมีตั้งแต่ “ต้นทาง” คือโครงสร้าง “กลางทาง”คือกระบวนการ และ “ปลายทาง” คือชุดโครงการต่างๆ ที่ออกมา แน่นอนหากดูเฉพาะปลายทาง 1 ปีของผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบัน อาจมีนโยบายทั้งที่ทำสำเร็จบ้าง กำลังพยายามทำอยู่บ้าง ทำไม่สำเร็จบ้าง แต่หากไปดูต้นทางและกลางทาง จะพบการใช้นวัตกรรม (Innovation) มาปรับเปลี่ยนโครงสร้าง วิธีคิดและกระบวนการทำงานอยู่มาก
“อย่างยิ่งเลยคือพวกการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการให้คนเข้าไปมีส่วนในรูปแบบต่างๆ ตรวจข้อมูลได้ รับข้อมูลได้ มีส่วนในการส่งข้อมูล ช่วยร่วมคิดร่วมทำได้ด้วยช่วงวัยและ Background (ภูมิหลัง) ของคนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะทำเป็น Traffy Fondue แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากมาย เรื่อง Open Government (รัฐบาลเปิด) เราจะเห็นชัดเจนมากช่วง 1-2 เดือนแรก ที่ทีมบริหารใหม่เข้ามาเราจะเจอเรื่องนี้” อาจารย์ธีรพัฒน์ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถดูแผนที่เหตุร้องเรียนใน กทม. ผ่าน Fondue ได้ที่ https://share.traffy.in.th/teamchadchart ขณะที่ในวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์จะเป็นผู้แถลงผลงานของ กทม. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อย่างเป็นทางการ